xs
xsm
sm
md
lg

'โมราเลส' ผู้นำโบลิเวีย บินไปลี้ภัยที่เม็กซิโก แม้ประกาศว่าถูกรัฐประหารยึดอำนาจ และสัญญาจะกลับมาอีก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


<i>ยานิน อาเนซ นักการเมืองฝ่ายค้านที่เป็นรองประธานวุฒิสภาโบลิเวีย แถลงข่าวที่กรุงลาปาซ เมื่อวันอังคาร (12 พ.ย.) เธอเป็นผู้อยู่ในลำดับที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว โดยที่เธอเองประกาศพร้อมทำหน้าที่  ทั้งนี้เธอยังต้องรอให้สมัชชานิติบัญญัติ หรือก็คือรัฐสภาของโบลิเวีย ลงมติรับรอง </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีเอโบ โมราเลส ผู้ถูกขับออกจากตำแหน่งของโบลิเวีย เดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปลี้ภัยทางการเมืองในเม็กซิโกเมื่อคืนวันจันทร์ (11 พ.ย.) ในขั้นตอนล่าสุดแห่งการตกต่ำอย่างรวดเร็วของผู้นำซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รักยิ่งของประชาชน ขณะเดียวกันทหารและตำรวจก็ออกรักษาการณ์ตามท้องถนนสายต่างๆ ในเมืองหลวงลาปาซ เพื่อยุติความรุนแรงและฟื้นฟูความสงบ

โมราเลส ซึ่งเป็นชาวอินเดียนพื้นเมืองคนแรกที่ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของประเทศ นั่งเครื่องบินที่รัฐบาลเม็กซิโกส่งมารับ จากเมืองชิโมเร เมืองเล็กๆ บริเวณภาคกลางของโบลิเวีย ซึ่งเป็นที่มั่นของพวกผู้สนับสนุนตัวเขา และเป็นสถานที่ซึ่งเขาถอยมาตั้งหลักตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังระยะเวลาหลายสัปดาห์แห่งการประท้วงต่อต้านที่มีผลทำให้การกุมอำนาจของเขาหย่อนคลายลง โดยการประท้วงอันยืดเยื้อนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งที่เขาประกาศว่าทำให้เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปเป็นสมัยที่ 4 ทว่าถูกฝ่ายค้านโจมตีว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคดโกง

ตัวโมราเลสเองระบุในข้อความที่เขาทวิต ยืนยันว่าเขากำลังออกจากประเทศมุ่งหน้าสู่เม็กซิโก แต่ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะกลับมาด้วย “ความเข้มแข็งและพลัง” ที่เพิ่มมากขึ้นอีก

ทางด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์เซโล เอบราร์ด ของเม็กซิโก กล่าวทางทวิตเตอร์เช่นกันว่า โมราเลสขึ้นเครื่องบินดังกล่าว “เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะเดินทางมายังประเทศของเราด้วยความปลอดภัย” และบอกด้วยว่าเครื่องบินลำนี้ได้ทะยานขึ้นฟ้าแล้ว

ก่อนหน้ามีรายงานข่าวการเดินทางออกจากประเทศของโมราเลส ทางกองทัพแถลงว่าจะร่วมมือกับฝ่ายตำรวจของโบลิเวียที่กำลังเผชิญกับภารกิจที่หนักเกินกำลัง ในการออกลาดตระเวนตรวจตราตามท้องถนนของกรุงลาปาซ หลังจากที่มีการประท้วงทำลายสถานีตำรวจไปอย่างน้อย 4 แห่ง ท่ามกลางเหตุปล้นชิงข้าวของในบางพื้นที่

<i>เอโบ โมราเลส อดีตประธานาธิบดีโบลิเวีย ถือธงชาติของเม็กซิโก บนเครื่องบินซึ่งรัฐบาลเม็กซิโกส่งไปรับเขาเพื่อเดินทางไปลี้ภัย ภาพนี้รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์เซโล อีบราร์ด ของเม็กซิโก นำออกเผยแพร่ผ่านทางทวิตเตอร์ </i>
โมราเลส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระแสคลื่นผู้นำฝ่ายซ้ายที่เข้าครอบงำการเมืองของละตินอเมริกาในช่วงเริ่มต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ตัดสินใจออกนอกประเทศภายหลังการประท้วงอย่างรุนแรงเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จากข้อกล่าวหาที่ว่ามีการคดโกงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา

ผู้นำที่ปัจจุบันอายุ 60 ปีผู้นี้ ก้าวขึ้นมาจากเกษตรกรผู้ใช้แรงงาน ที่ทั้งเคยเลี้ยงฝูงยามาและปลูกต้นโคคา เขาถูกผู้คนจำนวนมากมองว่าเป็นผู้ปกปักรักษาคนยากจนด้วยการทำให้เศรษฐกิจมีอัตราเติบโตอย่างสม่ำเสมอ แต่คนอื่นๆ เห็นว่าเขาเป็นผู้เผด็จการรวบอำนาจโดยกำลังท้าทายผลการลงประชามติในเรื่องการจำกัดจำนวนสมัยของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

รัฐบาลของเขาพังครืนลงเมื่อวันอาทิตย์ (10) หลังจากองค์การรัฐอเมริกัน (โอเอเอส) ออกรายงานที่ระบุว่าการเลือกตั้งในเดือนตุลาคมมีความผิดปกติต่างๆ อย่างร้ายแรง ส่งผลให้พวกพันธมิตรของพรรครัฐบาลพากันลาออกไป และกองทัพก็เรียกร้องให้โมราเลสก้าวลงจากตำแหน่ง

รายงานฉบับนี้ขององค์การที่เป็นการรวมกลุ่มของประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกา กล่าวว่า ผลการตรวจสอบได้พบวาการนับคะแนนเลือกตั้งมี “การยักย้ายตกแต่งกันอย่างชัดเจน” รวมทั้ง “มีความผิดพลาดบกพร่องด้านความปลอดภัยอย่างร้ายแรง” ซึ่งโอเอเอสกล่าวว่า นี่หมายความว่าผลการเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ และควรต้องจัดการเลือกตั้งใหม่

ในช่วงเช้าของวันจันทร์ (11) พวกผู้สนับสนุนโมราเลสจำนวนนับพันนับหมื่น เริ่มต้นออกเดินขบวนมุ่งหน้าสู่กรุงลาปาซ จากเมืองเอลอัลโต ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน ความเคลื่อนไหวนี้ก่อให้เกิดความแตกตื่นขึ้นในหมู่ตำรวจของเมืองหลวง และพวกเขาขอร้องให้ชาวเมืองหลวงป้องกันไม่ให้พวกผู้ประท้วงบุกเข้ามา ด้วยไม้กระบองและอาวุธอื่นๆ ที่จำเป็น

รอบๆ จัตุรัสมูริญโญ ใจกลางลาปาซตลอดจนส่วนอื่นๆ ของเมืองหลวงแห่งนี้ พวกผู้ประท้วงที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาล ได้พากันจัดตั้งเครื่องกีดขวางถนนซึ่งทำจากเศษโลหะและขยะอื่นๆ

“มันน่าวิตกเหลือเกิน เกิดความกลัวและความตื่นตระหนักกันมากเลยเมื่อคืนนี้ ผมคิดว่าประชาชนก็คงเป็นอย่างเดียวกันถ้าหากไม่หวาดหวั่นมากขึ้นไปอีกในช่วงคืนนี้” นักการทูตชาวตะวันตกผู้หนึ่งซึ่งอยู่ในลาปาซเล่า พร้อมกับเสริมว่าสถานเอกอัครราชทูตส่วนใหญ่พากันปิดทำการโดยให้พวกเจ้าหน้าที่ทำงานจากที่บ้าน

<i>ชาวเมืองลาปาซที่เป็นพวกประท้วงต่อต้านโมราเลส ออกมาตั้งเครื่องกีดขวางบนถนนสายหนึ่งซึ่งอยู่ตรงจัตุรัสใจกลางเมืองหลวงเมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) </i>
บรรดาสมาชิกรัฐสภา ซึ่งอภิปรายกันในรัฐสภาเมื่อวันจันทร์ ถึงรายละเอียดต่างๆ ของรัฐบาลชั่วคราวที่อาจจะจัดตั้งกันขึ้นมา โดยที่มีตำรวจคอยรักษาการณ์อย่างแน่นหนานั้น ได้พากันอพยพในเวลาต่อมา สมาชิกรัฐสภาผู้หนึ่งบอก

อย่างไรก็ตาม พอย่างเข้าตอนดึกคืนวันอังคาร ก็เป็นที่ชัดเจนว่าการเผชิญหน้ากันที่อาจร้ายแรงยิ่งนี้น่าจะไม่เกิดขึ้น ขณะพวกที่เดินขบวนเข้ามามีจำนวนลดน้อยลง เมื่อฝ่ายผู้ประท้วงพากันมุ่งหน้าเข้าไปยังย่านใจกลางเมืองหลวง

พื้นที่จำนวนมากของลาปาซกลับคืนสู่ความสงบอย่างไม่ค่อยน่าไว้วางใจในตอนย่างเข้าสู่วันอังคาร โดยที่ถูกขัดจังหวะด้วยพฤติการณ์การทุบทำลายปล้นชิงข้าวของ และการประจันหน้ากับตำรวจในบางบริเวณ ขณะที่ชาวเมืองออกมารวมตัวรักษาเครื่องกั้นถนนที่ทำขึ้นอย่างลวกๆ จำนวนนับพันจุดตลอดทั่วทั้งเมืองหลวง

“ทำสิ่งที่จำเป็น”

พวกปรปักษ์ต่างพากันชื่นชมยินดีกับการจากไปของโมราเลส แต่พร้อมกันนั้นก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อหาตัวผู้สืบทอดตำแหน่งประมุขของประเทศเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ในประเทศซึ่งไม่มีทางออกทางทะเลและเป็นหนึ่งในชาติยากจนที่สุดของอเมริกาใต้แห่งนี้ ที่ต้องพึ่งพาอาศัยเรื่องการเกษตรและการขายก๊าซธรรมชาติ

จากการที่รองประธานาธิบดีของโมราเลส รวมทั้งพันธมิตรจำนวนมากของเขาในรัฐบาลและในรัฐสภาพากันลาออกไปพร้อมกับเขา ยานิน อาเนซ นักการเมืองฝ่ายค้านซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง จึงขึ้นเครื่องบินเดินทางมายังลาปาซโดยประกาศว่า เธอมีความยินดีที่จะเป็นผู้รักษาการประธานาธิบดี ในเวลาต่อมาฝ่ายทหารได้นำตัวเธอไปยังรัฐสภา

“ถ้าดิฉันได้รับความสนับสนุนจากผู้ซึ่งดำเนินขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยขบวนการนี้แล้ว ดิฉันก็จะเข้าแบกรับความท้าทาย โดยจะทำเพียงแค่สิ่งที่จำเป็นเพื่อจัดการเลือกตั้งที่มีความโปร่งใส” อาเนซ กล่าว ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญแล้ว เธอคือผู้ที่อยู่ในลำดับซึ่งจะขึ้นเป็นประมุขแห่งชาติคนต่อไป

เธอน้ำตาไหลขณะพูดถึงวิกฤตที่เกิดขึ้น และบอกว่าวุฒิสภาจะจัดการประชุมขึ้นในวันอังคาร (12) พร้อมเรียกร้องให้พวกสมาชิกของพรรคขบวนการเพื่อสังคมนิยม (เอ็มเอเอส) ของโมราเลส เข้าร่วมประชุมเพื่อหาทางออกที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีชั่วคราว

<i>ชาวเมืองลาปาซทักทายตำรวจในรถที่ออกตรวจตราลาดตระเวนในกรุงลาปาซวันจันทร์ (11 พ.ย.) </i>
การออกจากตำแหน่งของโมราเลสยังจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติรับรองของรัฐสภา ซึ่งเป็นที่ประชุมร่วมของทั้ง 2 สภา รัฐสภาหรือที่มีชื่อเป็นทางการว่าสมัชชานิติบัญญัติ (Legislative Assembly) แถลงว่ามีแผนจะประชุมกันในเวลา 16.00 น.วันอังคาร (ตรงกับ 03.00 น.วันพุธเวลาเมืองไทย) ถึงแม้การปะทะกันยังคงเกิดขึ้นในเมืองหลวง โดยที่ไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินต่อไปอีกหรือไม่

แก๊งอันธพาล, อัคคีภัย, การปะทะกัน

ตลอดคืนวันอาทิตย์ (10) พวแก๊งอันธพาลได้ออกอาละวาดไปทั่วลาปาซซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูง ธุรกิจต่างๆ ถูกโจมตีเล่นงานและอาคารบ้านเรือนต่างๆ ถูกจุดไฟเผา โรงเรียนและร้านค้าปิดทำการกันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การขนส่งสาธารณะหยุดชะงัก ถนนหนทางถูกปิดกั้น และพวกกลุ่มการเมืองที่เป็นศัตรูกันได้ออกมาปะทะตีกันตามท้องถนน

“ฉันกลัวมากกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างวุ่นวายไปหมดแล้วในเมืองนี้ มีการต่อสู้กันระหว่างย่านเพื่อนบ้านต่างๆ” ปาตริเซีย ปาเรเดส เลขานุการวัย 35 ปีในลาปาซ กล่าวแสดงความรู้สึก

โมราเลสได้กล่าวย้ำในวันจันทร์ (11) ในข้อกล่าวหาที่ว่าเขาตกเป็นเหยื่อของการสมคบคิดวางแผนร้ายโดยพวกศัตรูของเขา ซึ่งรวมไปถึง การ์ลอส เมซา คู่แข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับเขา และ ลูอิส แฟร์นันโด กามาโช ผู้นำของการประท้วง “โลกและผู้รักชาติชาวโบลิเวียของเราต่างปฏิเสธไม่ยอมรับการก่อรัฐประหารคราวนี้” เขาทวิตข้อความเช่นนี้

แต่เมื่อถึงช่วงคืนวันเดียวกัน น้ำเสียงของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเขาเรียกร้องให้ “ประชาชน” ของเขา อยู่ในความสงบ “เราไม่สามารถที่จะปะทะกันในหมู่พี่น้องชาวโบลิเวีย ผมขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้แก้ไขความแตกต่างกันใดๆ ก็ตามด้วยการสนทนากันและการปรึกษาหารือกัน” เขากล่าว

ความเห็นของพวกชาติเพื่อนบ้าน

ทางด้าน อัลแบร์โต แฟร์นันเดซ ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของอาร์เจนตินาแต่ยังไม่ได้เข้าดำรงตำแหน่ง ได้แสดงความเห็นที่เป็นการสะท้อนคำพูดของโมราเลสซึ่งกล่าวประณามการก่อรัฐประหาร ขณะที่เม็กซิโกก็มีทัศนะทำนองเดียวกัน โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศ อีบราร์ด ของเม็กซิโกพูดว่า “มันเป็นการรัฐประหารเพราะกองทัพได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลาออก และนั่นคือการละเมิดระเบียบทางรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น”

ภูมิทัศน์ทางการเมืองในละตินอเมริกาเวลานี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงกันใหม่อีกครั้ง จากการที่ผู้นำล่าสุดของทั้งเม็กซิโกและอาร์เจนตินาต่างก็เป็นพวกฝ่ายซ้าย ถึงแม้ว่าในบราซิลซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่อีกรายในภูมิภาคนี้ยังคงมีรัฐบาลที่เป็นฝ่ายขวาก็ตาม

ประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล ทวิตว่า “วันที่ยิ่งใหญ่” โดยดูเหมือนเป็นการพาดพิงถึงเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นในโบลิเวีย

ส่วนในเวเนซุเอลา ประธานาธิบดีนิโกลาส มาดูโร นั้นเป็นพันธมิตรสนิทของโมราเลสอยู่แล้ว แต่พวกที่เป็นฝ่ายค้านซึ่งพยายามโค่นล้มมาดูโรอยู่ พากันสรรเสริญการตกจากอำนาจของผู้นำโบลิเวียรายนี้ ซึ่งพวกเขาประณามว่าเป็นผู้เผด็จการ และพวกเขาหวังว่ามาดูโรจะเป็นรายต่อไป

<i>พวกผู้สนับสนุนโมราเลส ออกมาปิดกั้นถนนในเมืองเอลอัลโต เมื่อวันจันทร์ (11 พ.ย.) หนึ่งวันหลังการออกจากตำแหน่งของผู้นำฝ่ายซ้ายผู้นี้ </i>
สำหรับประเทศที่อยู่ไกลออกมา รัสเซียนั้นหนุนหลังโมราเลส ขณะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวถึงการออกจากตำแหน่งของโมราเลสว่าเป็น “ช่วงขณะที่ทรงความสำคัญสำหรับประชาธิปไตย” และเป็นการส่งสัญญาณไปถึง “ระบอกปกครองที่ผิดกฎหมาย” ในเวเนซุเอลา และในนิการากัว

สหรัฐฯยังเรียกร้องให้สมัชชานิติบัญญัติของโบลิเวียจัดการประชุมกันโดยเร็ว เพื่อรับรองการออกจากตำแหน่งของโมราเลสอย่างเป็นทางการ และเริ่มการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่นำโดยพลเรือน

ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของโบลิเวียนั้น เมื่อไม่มีประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ปกติประธานวุฒิสภาจะเข้ารับตำแหน่งประมุขแห่งรัฐชั่วคราว ทว่าประธานวุฒิสภาได้ก้าวลงจากตำแหน่งพร้อมกับโมราเลสในวันอาทิตย์ (10) โดยที่ลำดับถัดมาที่จะเป็นประธานาธิบดีชั่วคราวคือประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ปรากฏว่าได้ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนหน้านั้นเสียอีก

โบลิเวียภายใต้การปกครองของโมราเลส ได้ชื่อว่ามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งที่สุดรายหนึ่งของภูมิภาค ขณะที่ระดับความยากจนภายในประเทศก็ลดน้อยลงไปได้ครึ่งหนึ่ง แต่การที่เขามุ่งมั่นจะคงอยู่ในอำนาจต่อไปและลงชิงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 4 ได้สร้างความแปลกแยกให้แก่พวกพันธมิตรของเขาจำนวนมาก แม้กระทั่งภายในฐานเสียงชาวอินเดียนพื้นเมืองของเขาด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น