รอยเตอร์ - เมื่อวานนี้ (7 พ.ย.) เป็นครั้งแรกของบราซิลร่วมกับสหรัฐฯลงมติไม่เห็นชอบต่อมติประจำปีของสหประชาชาติที่ให้ประณาม พร้อมยังเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจคิวบาของสหรัฐฯ ส่วนยูเครนและโคลอมเบียงดออกเสียง
รอยเตอร์รายงานวันนี้ (8 พ.ย.) ว่า การประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติที่มีสมาชิกทั้งหมด 193 ชาติออกเสียงอย่างล้นหลาม ในการรับรองมติสำหรับปีที่ 28 ที่มี 187 ชาติเห็นชอบ ในขณะที่พันธมิตรสหรัฐฯออกเสียงไม่รับรอง ส่วนมอลโดวาไม่ได้ลงมติ
รอยเตอร์ชี้ว่า องค์การสหประชาชาติสามารถสร้างอิทธิพลกดดันทางการเมืองได้ แต่ทว่าสภาคองเกรสของสหรัฐฯเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจในการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบาที่ใช้มานานกว่า 50 ปี
การเปลี่ยนทิศทางนโยบายทางการเมืองของบราซิลแสดงให้เห็นความพยายามล่าสุดของประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ที่ต้องการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวอชิงตัน แต่กลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนในประเทศ
บริษัทเซาซา ครูซ แอลทีดีเอ( Souza Cruz Ltda)ในบราซิลที่มีบริษัทบริติชอเมริกัน โทแบ็คโค (British American Tobacco PLC) เป็นเจ้าของมีกิจการค้าร่วมในกรุงฮาวานา คิวบา ทำการผลิตบุหรี่ส่วนใหญ่ในคิวบา
ซึ่งตามปกติแล้วบราซิลจะมีนโยบายคัดค้านในการที่สหรัฐฯใช้การเมืองภายในประเทศต่อนโยบายต่างประเทศ ลงโทษบริษัทจากประเทศต่างๆที่ค้าขายหรือลงทุนในคิวบา
แต่ประธานาธิบดีการเมืองปีกขวาของบราซิลประกาศว่า ถึงเวลาแล้วที่บราซิลต้องหันมาสนับสนุนมาตรการปิดล้อมทางการค้าต่อคิวบา
"คิวบาเป็นประชาธิปไตยเช่นนั้นหรือ? ไม่ มันเป็นเผด็จการที่สมควรต้องได้รับการปฎิบัติเช่นนั้น" โบลโซนารูกล่าวในการแถลงกับสถานีกระจายเสียงในรายการสดทางออนไลน์
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศบราซิลของเขา เอิร์นเนสโต Ernesto อารัวโฆ (Araujo) แสดงความเห็นว่า คิวบาเป็นคอมมิวนิสต์ และยังไม่หยุดการส่งออกการปฎิวัติ และยังชักใยรัฐบาลเวเนซุเอลา ซึ่งเขาเรียกว่า "เป็นเผด็จการที่เลวร้ายในประวัติศาตร์ของทวีป" ทีเดียว
"ถึงเวลาแล้วต้องหยุดการเยินยอคิวบา อิทธิพลคิวบาได้แผ่ครอบคลุมต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในระบบยูเอ็นนั้นน่าละอายและสมควรที่จะต้องล่มสลาย" อารัวโฆแถลงผ่านทางทวิตเตอร์
ทั้งนี้พบว่ามีประเทศที่งดออกเสียงได้แก่ โคลอมเบีย เกิดขึ้นหลังความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่เริ่มเย็นลง และยูเครนงดออกเสียงเช่นกัน
กระทรวงต่างประเทศโคลอมเบียกล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า โคลอมเบียงดออกเสียงจากการมีทัศนคติเป็นปฎิปักษ์ของคิวบาต่อคำขอการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนของโคลอมเบียในกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่รับสารภาพ และการสนับสนุนของฮาวานาต่อประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นิโคลัส มาดูโร
ทั้งนี้พบว่าสหรัฐฯนั้นโหวตคัดค้านมติสหประชาชาติมาเป็นเวลา 24 ปีแล้ว แต่มีการงดออกเสียงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา จากการที่วอชิงตันและฮาวานามีการก่อตัวความสัมพันธ์ใกล้ชิดเกิดขึ้น
ซึ่งทางเคลลี คราฟต์ (Kelly Craft) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติได้แถลงต่อที่ประชุมใหญ่ก่อนการลงมติว่า
“สหรัฐฯ ไม่มีความรับผิดชอบต่อการทำร้ายประชาชนของตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของรัฐบาลคิวบา” และเสริมอีกว่า “มันเป็นความรับผิดชอบแรกของเราในฐานะผู้นำในการปกป้องคนที่ไม่มีปากมีเสียงในวันนี้โดยเฉพาะประชาชนชาวคิวบา จะถือเป็นสิ่งที่น่าละอายสำหรับเราหากเราปฏิเสธที่จะส่งเสียงในการปกป้องคนเหล่านี้”
ในปีที่แล้วสหรัฐฯ ได้เสนอข้อแก้ไข 8 ประการต่อมติที่ผลักดันให้คิวบาปรับปรุงด้านสิทธิมนุษยชน แต่ล้มเหลว
รัฐมนตรีต่างประเทศคิวบา บรูโน รอดริเกซ (Bruno Rodriguez) ได้ออกมาโต้การประณามของสหประชาชาติต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนในคิวบา โดยชี้ว่าสหรัฐฯ ได้ใช้ประเด็นทางสิทธิมนุษยชนเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง และเราปฎิเสธการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน