รอยเตอร์ - จีนอาจตัดสินใจใช้ปฏิบัติการทางทหารกับไต้หวัน เพื่อเบนความสนใจจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและสงครามการค้าซึ่งส่งผลให้ความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังถูกตั้งคำถาม รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไต้หวันเผยวานนี้ (6 พ.ย.)
ก่อนที่ศึกเลือกตั้งผู้นำไต้หวันจะเปิดฉากในเดือน ม.ค. ปีหน้า รัฐบาลจีนได้ยกระดับความพยายามที่จะนำ ‘มณฑลทรยศ’ แห่งนี้กลับมารวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง (reunify) ตลอดจนช่วงชิงพันธมิตรทางการทูต และส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปลาดตระเวนข่มขู่อยู่บ่อยๆ
โจเซฟ อู๋ รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์วานนี้ (6) โดยชี้ถึงนัยสำคัญของภาวะเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัว ขณะที่สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ก็ยังไม่จบสิ้น
“ถ้าคณะผู้นำจีนเห็นว่าเสถียรภาพภายในประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง หรือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวกลายเป็นปัญหาร้ายแรงสำหรับพวกเขา เราเองก็ต้องระวังตัวให้มากยิ่งขึ้น” อู๋ กล่าว
“เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ขั้นเลวร้ายที่สุด ซึ่งก็คือความขัดแย้งทางทหาร (military conflict)”
แม้เศรษฐกิจจีนจะยังเติบโตต่อเนื่อง แต่คาดว่าปีนี้จะโตช้าที่สุดในรอบ 30 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งเป็นรากฐานความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อู๋ ชี้ว่า แม้เศรษฐกิจจีนเวลานี้ยัง “พอไปได้” แต่ก็มีปัญหาที่เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เช่น อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูง และกระแสต่อต้านจากประชาชน
“บางที สี จิ้นผิง เองก็อาจจะถูกตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรม หากเขาไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตต่อไปได้” อู๋ ให้ความเห็น “นี่คือปัจจัยที่อาจทำให้คณะผู้นำจีนตัดสินใจใช้ปฏิบัติการภายนอกประเทศ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายใน”
รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันระบุด้วยว่า การสยายอิทธิพลทางทหารอย่างก้าวร้าวของจีนได้กลายเป็นบ่อเกิด “ความตึงเครียดที่รุนแรง” ในภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อหลายๆ ประเทศ ทว่ารัฐบาลไทเปยังคงมุ่งมั่นที่จะธำรงไว้ซึ่งสันติภาพระหว่างช่องแคบ
“เราหวังว่าไต้หวันและจีนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่ในขณะเดียวกันจีนก็เป็นฝ่ายสร้างปัญหาหลายอย่าง และเราจะรับมือกับมันให้ได้” อู๋ กล่าว
ไต้หวันสูญเสียพันธมิตรทางการทูตให้แก่จีนไปแล้ว 7 ประเทศตั้งแต่ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน เข้ารับตำแหน่งในปี 2016 โดยปักกิ่งนั้นระแวงว่า ไช่ มีแผนที่จะแยกไต้หวันเป็นเอกราช ขณะที่ประธานาธิบดี สี ก็ออกมาขู่ว่าความพยายามแยกตัวของไต้หวันจะนำไปสู่ “หายนะที่ร้ายแรง”
อู๋ ซึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยในฮ่องกง ชี้ว่าการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นบนเกาะศูนย์กลางการเงินของจีนถือเป็น “บทเรียน” สำหรับไทเป
“คนที่นี่เข้าใจดีว่า สูตรการปกครอง ‘หนึ่งประเทศ-สองระบบ’ ในฮ่องกงมีบางอย่างที่ผิดปกติ และเราไม่อยากตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น” อู๋ กล่าว
ปักกิ่งเคยยื่นข้อเสนอหลายครั้งที่จะปกครองไต้หวันภายใต้สูตรเดียวกันกับฮ่องกง ขณะที่ไต้หวันเองไม่มีทีท่าว่าอยากจะถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการจีน
อู๋ ประกาศพร้อมช่วยเหลือชาวฮ่องกงในการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย และหากมีความจำเป็น ไต้หวันก็พร้อมที่จะ “มอบการสนับสนุนให้เป็นกรณีๆ ไป”
เขาไม่ให้รายละเอียดว่า ‘การสนับสนุน’ ที่ว่านั้นหมายถึงอะไรบ้าง แต่ยืนยันว่าไต้หวันจะไม่แทรกแซงการประท้วงในฮ่องกง