xs
xsm
sm
md
lg

ท่าอากาศยาน‘กว่างโจว’เพิ่มเส้นทางบินมากขึ้น ขณะฮับ‘ฮ่องกง’กำลังแย่เพราะการประท้วง

เผยแพร่:   โดย: แฟรงค์ เฉิน

อาคารผู้โดยสารแห่งที่สอง ของท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจว
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

Guangzhou adds more routes as HK hub struggles
By Frank Chen
28/10/2019

ความปั่นป่วนวุ่นวายที่ยืดเยื้อมาหลายเดือนในฮ่องกง กำลังกลายเป็นการเพิ่มพลังให้แก่แผนการของกว่างโจว ที่จะเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศใหม่ๆ 30 เส้นทางภายในปี 2021

นครกว่างโจวกำลังมองหาลู่ทางยึดฉวยโอกาสทองในการสู้รบชิงความเหนือกว่าทางด้านกิจการการบินของอาณาบริเวณภาคใต้ของจีน ณ จังหวะเวลาที่ฮ่องกงตกอยู่ในสภาพต้องกระเสือกกระสนจากความไม่สงบทางสังคมที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนการสัญจรทางอากาศและทำให้ผู้มาเยือนหนีห่างด้วยความหวั่นกลัว

ผู้ให้บริการท่าอากาศยานของนครซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีนแห่งนี้ พร้อมกับ “ไชน่าเซาเทิร์น” (China Southern) สายการบินที่เป็น “เรือธง” ของท่าอากาศยาน แถมเป็นสายการบินใหญ่ที่สุดในเอเชียเมื่อวัดจากขนาดของฝูงเครื่องบิน ได้รีบเร่งเปิดเส้นทางบินไปต่างประเทศใหม่ๆ ขึ้นมาราว 12 เส้นทางจากท่าอากาศยานนานาชาติไป่หวิน (Baiyun International Airport) ของกว่างโจวในปีนี้ ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น

ไม่เพียงเท่านั้น ความมุ่งหมายที่กำหนดกันไว้คือ ภายในสิ้นปี 2021 จะเพิ่มจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ขึ้นมาให้ได้ทั้งหมดราว 30 แห่ง เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถใช้ท่าอากาศยานแห่งนี้บินไปยังเมืองต่างๆ 100 แห่งทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ทางนครกว่างโจวมีแผนการที่จะสกัดกั้นและกระทั่งหมุนกลับกระแสผู้โดยสารซึ่งเดินทางต่อไปเริ่มต้นออกสู่ต่างแดนกันที่ฮ่องกง อันเป็นฮับการเดินทางทางอากาศซึ่งสำคัญยิ่งในเอเชีย

ท่าอากาศยานไป่หวินของกว่างโจวในปัจจุบันสามารถคุยอวดได้อยู่แล้วว่ามีรันเวย์สำหรับรับเครื่องบินขึ้นลงจำนวน 3 รันเวย์ ขณะที่ฮ่องกงอยู่ระหว่างการมองหาซัปพลายเออร์ซึ่งจะสามารถจัดส่งทรายทะเลให้ได้เพิ่มมากขึ้น สำหรับโครงการถมทะเลอันสลับซับซ้อนและราคาแพงของตนเพื่อใช้สร้างรันเวย์แห่งที่ 3 ของท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง โดยคาดกันว่าคงจะต้องใช้เวลาไปจนถึงปี 2024 จึงจะเสร็จเรียบร้อยใช้งานได้

กว่างโจวยังเพิ่งเปิดอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่เป็นหลังที่ 2 มูลค่า 17,000 ล้านหยวน (2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีเนื้อที่ลักษณะกว้างขวางรวม 658,700 ตารางเมตร และด้วยการเสริมส่งซึ่งกันและกันของอาคารผู้โดยสารรวม 2 อาคารกับรันเวย์ 3 รันเวย์ จะทำให้ท่าอากาศยานแห่งนี้สามารถรับผู้โดยสารได้จำนวน 100 ล้านคนต่อปีภายในปี 2025
อาคารผู้โดยสารแห่งที่สอง ของท่าอากาศยานนานาชาติกว่างโจว
จากสภาพทางฮาร์ดแวร์และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของกว่างโจว (ท่าอากาศยานไป่หวินตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองที่แผ่กระจายกว้างขวางแห่งนี้ และได้รับผลกระทบกระเทือนน้อยกว่าในเรื่องความแออัดด้านน่านฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณทิศใต้ลงมาซึ่งอยู่ใกล้กับทั้งฮ่องกงและเซินเจิ้น) ทั้งหมดเหล่านี้ย่อมหมายความว่ามีช่องทางสำหรับการให้บริการเพิ่มมากขึ้นอีก จากที่เมื่อปี 2018 กว่างโจวมีเส้นทางบินติดต่อกับเมืองต่างๆ ในเอเชีย 50 เส้นทาง, กับยุโรป 6 เส้นทาง, และกับอเมริกาเหนือ 5 เส้นทาง

จุดหมายปลายทางระยะไกลของเส้นทางบินใหม่ๆ ที่กว่างโจวกำหนดเริ่มเปิดให้บริการกันในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ บอสตัน, ชิคาโก, มาดริด, บริสเบน, โอ๊คแลนด์ รวมทั้งเมืองต่างๆ ในยุโรปตะวันออก, ตะวันออกกลาง, และแอฟริกา เส้นทางเหล่านี้เกือบทั้งหมดจะให้บริการโดยทางสายการบินไชน่าเซาเทิร์น ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของรัฐวิสาหกิจด้านการบินยักษ์ใหญ่รายนี้ที่จะเปิดดำเนินการเส้นทางใหม่ๆ และเพิ่มการออกบินสู่จุดหมายปลายทางต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อปฏิบัติให้สอดคล้องกับข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (“belt and road” initiative) ของรัฐบาลกลางในปักกิ่ง

เส้นทางใหม่ๆ เหล่านี้ อันที่จริงแล้วยังเป็นการตอบสนองความต้องการของภูมิภาคแถบนี้ในการเพิ่มการติดต่อแลกเปลี่ยนกับสถานที่ในต่างแดนเหล่านี้ด้วย โดยที่กว่างโจวก็มีประชากรที่เป็นนักธุรกิจจำนวนมากพอดูทีเดียว ซึ่งมาจากตะวันออกกลางและแอฟริกา

เวลานี้ ไชน่าเซาเทิร์นกำลังเสนอตั๋วเครื่องบินที่ลดราคาลงมามากในเส้นทางบินสู่เมืองในอเมริกาเหนือและยุโรปบางแห่ง และก็มีผู้สนใจจองซื้อกันเข้ามาอย่างคึกคัก ในอีกด้านหนึ่ง สายการบินแห่งนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างทุ่มเทซื้อเครื่องบินไอพ่นแบบลำตัวกว้างกว่าเดิมทั้งจากค่ายโบอิ้งและค่ายแอร์บัส เพื่อช่วยให้ฝูงบินของตนก้าวทันอัตราการขยายตัว โดยที่ ไชน่าเซาเทิร์นคือสายการบินของจีนเพียงแห่งเดียวซึ่งมีซูเปอร์จัมโบ้ แอร์บัส เอ380 ให้บริการอยู่ในตอนนี้

ท่าอากาศยานไป่หวินของกว่างโจวได้รับการจัดอันดับจาก สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association ใช้อักษรย่อว่า IATA) ให้อยู่อันดับ 13 ของท่าอากาศที่คับคั่งที่สุดในทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว โดยที่ท่าอากาศยานของฮ่องกงอยู่ในอันดับ 8 ทั้งนี้การจัดอันดับนี้วัดจากปริมาณผู้โดยสารทั้งหมดที่เดินทางเข้าออกสนามบิน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากกระแสการประท้วงต่อต้านรัฐบาลซึ่งปะทุขึ้นในฮ่องกงตั้งแต่เดือนมิถุนายน และยืดเยื้อต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนทำให้มีการปิดท่าอากาศยานฮ่องกงไปแล้ว 2 ครั้งซึ่งทำให้เที่ยวบินต่างๆ รวมนับพันเที่ยวต้องยกเลิกหรือไม่ก็เปลี่ยนไปใช้สนามบินที่กว่างโจวและเซินเจิ้น ดังนั้นจึงหมายความว่า 2 เมืองหลังนี้มีโอกาสทางการแข่งขันที่จะดึงดูดเพิ่มจำนวนผู้เดินทางมากขึ้น

กระทั่งก่อนหน้าที่ฮ่องกงจะเริ่มเผชิญความปั่นป่วนวุ่นวายด้วยซ้ำไป กว่างโจวก็ได้ให้บริการผู้โดยสารเป็นจำนวน 36 ล้านคนในช่วงครึ่งแรกปี 2019 นี้ สูงขึ้นในอัตราเท่ากับปีละ 4.1% ขณะที่มีผู้เดินทางภาคธุรกิจบินขึ้นลงที่นี่บ่อยครั้งขึ้น รวมทั้งมีผู้เดินทางใหม่ๆ ใช้น่านฟ้าของเมืองนี้กันมากขึ้น เปรียบเทียบกับฮ่องกงซึ่งครึ่งปีแรกนี้ให้บริการผู้โดยสาร 37.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในอัตรา 2.5%

ความอลหม่านวุ่นวายอันยืดเยื้อของฮ่องกง ส่งผลกระทบกระเทือนถึงท่าอากาศยานของนครดังกล่าวอย่างถนัดชัดเจน โดยทำให้จำนวนผู้โดยสารเข้าออกในเดือนสิงหาคมหล่นลงไปมากกว่า 12% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2018 ทั้งนี้ตามตัวเลขที่เผยแพร่โดยการท่าอากาศยานฮ่องกงเอง (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hongkongairport.com/en/media-centre/press-release/2019/pr_1360)
กำลังโหลดความคิดเห็น