เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ประกาศเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยปัญหาระหว่างสองชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ของโลก ณ ที่ประชุมซัมมิตครั้งแรกระหว่างทั้งคู่เมื่อวันจันทร์ (16 ก.ค.) ขณะที่ผู้นำอเมริกาเมินใช้โอกาสนี้ประนามมอสโก ต่อกรณีมีข้อกล่าวหาว่าเครมลินแทรกแซงศึกเลือกตั้งแดนลุงแซม
ผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียเปิดแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมซัมมิตในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ แสดงความปรารถนาร่วมมือกันเผชิญความท้าทายต่างๆ นานาของโลก หลังจากหารือกันในหลากหลายประเด็น ไล่ตั้งแต่ซีเรีย, ยูเครน และจีน ไปจนถึงข้อพิพาทเกี่ยวกับการรีดภาษีและขนาดคลังแสงนิวเคลียร์
ทรัมป์ กล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมโดยมี ปูติน ยืนอยู่ข้างๆ เผยว่าเขาใช้เวลามากมายพูดคุยเกี่ยวกับกรณีแทรกแซงเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ลงรายละเอียดใดๆหรือใช้โอกาสนี้ประณามอย่างชัดแจ้งต่อเหตุแทรกแซงเลือกตั้ง หลังจาก โรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษ ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัสเซีย 12 คน ในข้อหาพยายามล้วงข้อมูลจากอีเมลและระบบคอมพิวเตอร์ของพรรคเดโมแครตและนางฮิลลารี คลินตัน อดีตผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2012
เมื่อถูกถามกดดันเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของเหล่าหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของเขาเอง ทรัมป์ย้ำว่า ปูติน ปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่ารัสเซียไม่ได้แทรกแซงการเลือกตั้งและบอกว่าการสืบสวนของสหรัฐฯ โดย โรเบิร์ต มุลเลอร์ อัยการพิเศษนั้นเป็น “ความโชคร้าย” สำหรับอเมริกา
เป็นอีกครั้งที่ ทรัมป์ ปฏิเสธว่าไม่ได้มีการสมคบคิดใดๆระหว่างทีมหาเสียงของเขากับเครมลิน ส่วน ปูติน ยืนกรานว่า “รัฐรัสเซียไม่เคยแทรกแซงและไม่มีแผนแทรกแซงกิจการภายในของสหรัฐฯ”
ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งมั่นหล่อหลอมความสัมพันธ์ส่วนตัวกับประธานาธิบดีรัสเซียแม้มีคำกล่าวหาเกี่ยวกับการแทรกแซงศึกเลือกตั้ง เข้าสู่การประชุมซัมมิตด้วยการกล่าวโทษพวกประธานาธิบดี “โง่ๆ” คนก่อนๆ ต่อความสัมพันธ์อันดำดิ่งกับมอสโก แต่หลังเสร็จสิ้นการประชุม ทั้งสองแสดงถึงความตั้งใจเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน
“ความสัมพันธ์ระหว่างเราไม่เคยเลวร้ายอย่างที่มันเป็นอยู่ในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม มันได้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อราว 4 ชั่วโมงก่อน ผมเชื่อเช่นนั้น” ทรัมป์ กล่าวพร้อมระบุว่าการประชุมซัมมิตครั้งนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น
ผู้นำทั้งสองใช้เวลาพูดคุยกันแบบตัวต่อตัว หารือกันผ่านล่าม นานกว่า 2 ชั่วโมงระหว่างการประชุมซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์ในเมืองหลวงของฟินแลนด์ จากนั้นถึงจะมีการประชุมเป็นคณะ โดยมีทีมงานด้านความมั่นคงแห่งชาติของแต่ละประเทศเข้าร่วมด้วย
หลายฝ่ายในวอชิงตันแสดงหวั่นใจที่ ทรัมป์ ตัดสินใจพูดคุยกับ ปูติน เพียงลำพัง โดยกังวลว่าผู้นำสหรัฐฯ จะหยิบยกเรื่องใดบ้างมาหารือกับอดีตสายลับเคจีบี หลังจากนั้นเคยหารือกันอย่างอบอุ่นกับผู้นำเผด็จการของจีนและเกาหลีเหนือมาแล้ว
นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ในสหรัฐฯบางส่วนถึงขั้นเรียกร้องให้ยกเลิกการประชุมซัมมิตที่เฮลซิงกิไปเลย หลังจาก มุลเลอร์ ยื่นคำฟ้องร้องกล่าวโทษพวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองรัสเซีย 12 คนว่าก้าวก่ายแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐฯ จากการสืบสวนที่ยาวนานกรณีมีคำกล่าวหาว่ามอสโกล้วงข้อมูลจากอีเมลและระบบคอมพิวเตอร์ของพรรคเดโมแครตและนางฮิลลารี คลินตัน เพื่อให้ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะ
แต่ ทรัมป์ เชื่อว่าเอกลักษณ์ด้านการทูตของเขาจะช่วยรุกเร้าความสัมพันธ์ที่ดีกับ ปูติน เพื่อเดินหน้าและตั้งตาคอยความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสองฝ่าย ในขณะที่ทั้งสองนั่งหารือกันในประเด็นร้อนต่างๆ ของโลก