เอเจนซีส์ – ซัมมิต G7 ปิดฉากสุดอลเวงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (9 มิ.ย.) และสงครามการค้าระอุแรงอีกหน หลังทรัมป์เดินทางออกจากที่ประชุมก่อนกำหนดและสั่งให้ตัวแทนสหรัฐฯ ปฏิเสธการรับรองแถลงการณ์ร่วม ซ้ำโจมตีผู้นำแคนาดาประเทศเจ้าภาพแบบไม่ไว้หน้า
ไม่กี่นาทีหลังการเปิดเผยแถลงการณ์ร่วมที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้นำ G7 ซึ่งจัดขึ้นที่ควิเบกของแคนาดา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็โพสต์ทวิตเตอร์จากเครื่องบินประจำตำแหน่ง หลังจากเดินทางออกจากที่ประชุมก่อนกำหนดเพื่อมุ่งหน้าสู่สิงคโปร์และเตรียมพร้อมสำหรับซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์กับคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือในวันอังคาร (12 มิ.ย.)
ในข้อความทางทวิตเตอร์ ทรัมป์ระบุว่า ที่สั่งให้ผู้แทนสหรัฐฯ งดรับรองแถลงการณ์ร่วม รวมทั้งเตรียมเรียกเก็บภาษีรถนำเข้าที่ท่วมตลาดอเมริกันอยู่ขณะนี้ เป็นเพราะการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด แห่งแคนาดา และข้อเท็จจริงที่ว่า แคนาดาเรียกเก็บภาษีศุลกากรเกษตรกร แรงงาน และบริษัทอเมริกันสูงลิบ
“นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด อ่อนน้อมถ่อมตัวในการประชุม G7 แต่พอผมเดินทางออกมา เขากลับแถลงข่าวว่าจะไม่ยอมถูกขู่เข็ญ เขาช่างอ่อนแอและโป้ปดเหลือเกิน” ทรัมป์ ระบุทางทวิตเตอร์
ก่อนหน้านั้น ทรูโดแถลงว่า การตัดสินใจของทรัมป์ในการใช้ความมั่นคงของชาติเป็นข้ออ้างในการเรียกเก็บภาษีศุลกากรเหล็กกล้าและอลูมิเนียมนั้น เท่ากับเป็นการดูหมิ่นทหารผ่านศึกแคนาดาที่ร่วมรบกับอเมริกามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1
“แคนาดาสุภาพและมีเหตุผล แต่เราจะไม่ยอมถูกขู่เข็ญ” ผู้นำแคนาดากล่าว พร้อมระบุได้บอกกับทรัมป์ว่าเสียใจแต่คงต้องประกาศชัดเจนว่า แคนาดาจะออกมาตรการตอบโต้ในวันที่ 1 กรกฎาคมด้วยการเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้าอเมริกันในระดับเดียวกับที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากแคนาดา
หลังการทวิตข้อความของทรัมป์ สำนักนายกรัฐมนตรีแคนาดาออกแถลงการณ์ตอบว่า แคนาดามุ่งเน้นกับทุกสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากซัมมิต G7 และนายกรัฐมนตรีไม่ได้กล่าวอะไรเกินเลยไปกว่าที่เคยกล่าว ไม่ว่าจะเป็นในที่สาธารณะหรือในการหารือส่วนตัวกับทรัมป์
การโจมตีทรูโดอย่างรุนแรงเป็นแค่กรณีล่าสุดที่ทรัมป์แตกหักกับพันธมิตรใกล้ชิดที่สุด และสะท้อนว่า ข้อตกลงใดๆ ในที่ประชุมล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ขณะที่การประกาศเตรียมแซงก์ชันรถยนต์นำเข้าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเยอรมนี แคนาดา และญี่ปุ่น
พฤติกรรมดังกล่าวสร้างความกังวลอย่างยิ่งทั้งในและนอกอเมริกา หลังการทวิตอันร้อนแรงของทรัมป์ได้ไม่นาน จอห์น แม็กเคน วุฒิสมาชิกอาวุโสจากรีพับลิกันก็ทวิตว่า “ชาวอเมริกันที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุนการค้าเสรี โลกาภิวัตน์ และพันธมิตรที่มีค่านิยมร่วมกันมายาวนานถึง 70 ปี และจะยังคงอยู่เคียงข้างพันธมิตร แม้ว่าประธานาธิบดีของเราจะทำในสิ่งตรงข้ามก็ตาม”
ทั้งนี้ ตอนที่ทรัมป์เดินทางออกจากควิเบก เชื่อกันว่า G7 ตกลงกันได้แล้ว แม้ผู้นำจากยุโรปอย่างประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคล ของเยอรมนี คัดค้านการโจมตีระบบการค้าโลกของทรัมป์อย่างรุนแรงในระหว่างการหารือก็ตาม
หลังจากที่มีการแจกจ่ายสำเนาแถลงการณ์ร่วมในห้องนักข่าวและมีการเผยแพร่ทางออนไลน์ ทรัมป์กลับทวิตโจมตีทรูโด ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอเอฟพีที่อยู่บนเครื่องบิน "แอร์ ฟอร์ซ วัน" รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่อาวุโสในคณะบริหารสหรัฐฯ ว่า จริงๆ แล้วทรัมป์อนุมัติร่างแถลงการณ์ของ G7 ไปแล้ว แต่เพิ่งสั่งให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในที่ประชุมกลับลำปฏิเสธเพราะไม่พอใจการแสดงความคิดเห็นของทรูโด
แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวที่มีขึ้นภายหลังการเจรจานาน 2 วันระบุว่า ผู้นำสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่น เห็นพ้องถึงความจำเป็นของการค้าที่เสรี เป็นธรรม และมีผลประโยชน์ร่วมกัน และความสำคัญของการต่อต้านลัทธิกีดกันการค้า
แถลงการณ์ดังกล่าวตรงข้ามอย่างชัดเจนกับจุดยืนของทรัมป์ที่ประกาศกร้าวว่า จะไม่ลังเลเลยในการกำจัดออกจากอเมริกา สำหรับประเทศที่ตอบโต้มาตรการภาษีของตน
ทางด้านผู้นำฝรั่งเศสที่จะเป็นเจ้าภาพซัมมิต G7 ปีหน้า ไม่ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทวิตของทรัมป์ แต่กล่าวก่อนหน้านั้นแล้วว่า จะต้องพยายามกันต่อไปเพื่อหาฉันทามติในเรื่องการค้า
นอกจากเห็นต่างจากพันธมิตรอื่นๆ ในประเด็นการค้าแล้ว ทรัมป์ยังเสนอว่า ควรรับรัสเซียกลับสู่ G7 อีกครั้ง