รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจยุติการค้นหาเที่ยวบิน MH370 หลังสัญญาว่าจ้างบริษัทสำรวจเอกชนสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 29 พ.ค. โดยยังไม่พบร่องรอยอะไรเพิ่มเติม ปล่อยให้ชะตากรรมของโบอิ้ง 777 ที่หายสาบสูญไปเมื่อ 4 ปีก่อนเป็นปริศนาคาใจผู้คนทั่วโลกต่อไป
เที่ยวบิน MH370 สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยระหว่างพาลูกเรือ 12 คน และผู้โดยสารรวม 227 คน ซึ่ง 152 คนเป็นชาวจีน ออกเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์มุ่งหน้าสู่ปักกิ่งเมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 8 มี.ค. ปี 2014 ซึ่งการสูญหายของโบอิ้ง 777 ลำนี้ได้กลายเป็นปริศนาลี้ลับที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์การบินของโลก
เมื่อเดือน ม.ค. รัฐบาลมาเลเซียภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ได้ตกลงว่าจ้าง โอเชียน อินฟินิตี (Ocean Infinity) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจของสหรัฐฯ ให้ออกค้นหาจุดตกของ MH370 เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเสนอเงินรางวัลสูงสุด 70 ล้านดอลลาร์หากมีการค้นพบซากเครื่องบินหรือกล่องดำ
ก่อนหน้านั้น ออสเตรเลีย จีน และ มาเลเซีย ได้ใช้เวลานานถึง 28 เดือนสำรวจน่านน้ำกว่า 120,000 ตารางกิโลเมตรของมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ และเสียค่าใช้จ่ายไปถึง 200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียโดยไม่พบเบาะแสใดๆ ก่อนจะประกาศยุติการค้นหาในเดือน ม.ค. ปี 2017 แม้ผู้เชี่ยวชาญจะเสนอให้ลองค้นหาเพิ่มเติมในน่านน้ำ 25,000 ตารางกิโลเมตรที่อยู่ห่างจากจุดค้นหาเดิมไปทางทิศเหนือก็ตาม
โอเชียน อินฟินีตี ได้ส่งเรือ ซีเบด คอนสตรักเตอร์ สัญชาตินอร์เวย์ พร้อมลูกเรือ 65 คน ออกไปสำรวจมหาสมุทรอินเดียตอนใต้เป็นพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 112,000 ตารางกิโลเมตร โดยใช้โดรนอัตโนมัติ 8 ตัวที่ติดตั้งทั้งอุปกรณ์โซนาร์และกล้องดำลงไปสำรวจพื้นทะเลที่ความลึกสูงสุด 6,000 เมตร
บริษัทสำรวจแห่งนี้ทำงานครบกำหนดตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ขอขยายเวลาต่อจนถึงวันที่ 29 พ.ค. ซึ่งล่าสุดนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮาหมัด ประกาศว่า รัฐบาลตัดสินใจปิดฉากภารกิจค้นหาไว้เพียงเท่านี้ และจะออกค้นหาใหม่ก็ต่อเมื่อพบหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าเครื่องบินอยู่ที่ไหน
“เรามาถึงจุดที่ไม่สามารถดึงดันค้นหาในสิ่งที่หาไม่เจอได้อีกต่อไป... เราเข้าใจความรู้สึกของญาติๆ แต่รัฐบาลไม่สามารถค้นหาไปตลอดกาลได้” มหาเธร์ กล่าว
ก่อนหน้านั้น มหาเธร์ ซึ่งนำทัพฝ่ายค้านโค่นอำนาจกลุ่มบีเอ็นในศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ได้ออกมาแถลงตัวเลขหนี้สาธารณะของมาเลเซียว่าสูงถึง 65% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อปรับสมดุลการคลัง รวมถึงยกเลิกโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ที่เห็นว่าไม่คุ้มค่า
แอนโทนี ลก รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมมาเลเซีย แถลงเมื่อวันพุธ (30) ว่า ภารกิจค้นหา MH370 ทำให้ภาครัฐสูญเสียงบประมาณไปแล้วไม่ต่ำกว่า 500 ล้านริงกิต (ราว 4,000 ล้านบาท) และรัฐบาลเตรียมจะเผยแพร่รายงานสรุปกรณีการสูญหายของ MH370 ฉบับเต็มภายในเดือน ก.ค. โดยไม่มีการดัดแปลงแก้ไขหรือปกปิดข้อมูลใดๆ
ทางการออสเตรเลียเผยเมื่อปีที่แล้วว่า เมื่อราวๆ 6 สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ กัปตัน ซาฮารี อะหมัด ชาห์ วัย 53 ปี ซึ่งเป็นนักบินผู้ควบคุม MH370 ได้ใช้เครื่องจำลองการบินที่บ้านของเขาทดสอบบินไปในทิศทางที่คล้ายกับเส้นทางที่ MH370 ถูกบังคับให้มุ่งหน้าไป ก่อนจะหายไปจากจอเรดาร์
ด้าน ปีเตอร์ โฟลีย์ ซึ่งเป็นผู้นำการค้นหาจากสำนักงานความปลอดภัยขนส่งของออสเตรเลีย (ATSB) แถลงต่อวุฒิสภาออสเตรเลียว่า เครื่องบินลำนี้ถูกตั้งระบบควบคุมเพื่อบังคับให้ออกนอกเส้นทางไปไกลหลายพันกิโลเมตรเหนือมหาสมุทรอินเดีย แต่ยืนยันไม่ได้ว่าคนที่ทำเป็น 1 ใน 2 นักบินหรือไม่
ย้อนไปเมื่อปี 2015 เจ้าหน้าที่สอบสวนมาเลเซีย ยืนยันว่า จากการตรวจสอบประวัติการเงิน สุขภาพ และชีวิตส่วนตัวของนักบินและลูกเรือทั้งหมด ไม่พบอะไรที่น่าสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจจงใจก่อวินาศกรรมเครื่องบิน
หัว ชุนอิง โฆษกหญิงของกระทรวงต่างประเทศจีน ยืนยันว่า รัฐบาลยังคงติดต่อประสานงานกับทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด หลังผู้สื่อข่าวสอบถามว่าปักกิ่งพร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุนค้นหาต่อไปหรือไม่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ร้องขอทรัพยากรต่างๆ เพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร
Voice 370 ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนญาติผู้โดยสารบนเที่ยวบิน MH370 เรียกร้องให้รัฐบาล มหาเธร์ รื้อฟื้นการสอบสวนในทุกๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสูญหายของเครื่องบินลำนี้ รวมถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการปลอมแปลง หรือลบบันทึกข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับ MH370 และประวัติการซ่อมบำรุง
คาลวิน ชิม ซึ่งเป็นสามีของลูกเรือหญิงบน MH370 แสดงความกังวลว่า รายงานสรุปที่จะออกมาอาจไม่ครอบคลุมข้อมูลสำคัญบางอย่าง เช่น บัญชีสินค้าทั้งหมดที่ถูกขนไปกับเครื่องบินลำนี้ รวมถึงผลการสอบสวนของตำรวจมาเลเซีย
ด้าน รองนายกรัฐมนตรี ไมเคิล แมคคอร์แมค ของออสเตรเลีย ยืนยันว่า การสืบหาร่องรอย MH370 ได้ใช้ทั้งเทคโนโลยีและศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่มีประสบการณ์ในทะเลอย่างเต็มที่แล้ว และหากจะเริ่มต้นค้นหาใหม่ก็ควรมีหลักฐานที่เชื่อถือได้แน่นอนว่าจุดตกของเครื่องบินอยู่ที่ใด
เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังและนักสำรวจใต้ทะเลลึก ให้สัมภาษณ์กับสื่อออสเตรเลียในสัปดาห์นี้ ว่า “ไม่รู้สึกแปลกใจ” ที่ทีมค้นหา MH370 คว้าน้ำเหลวตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และย้ำว่า ภารกิจนี้ไม่ต่างอะไรกับการงมเข็มในมหาสมุทร ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะสำรวจได้ทั่ว
จนถึงขณะนี้มีการพบชิ้นส่วนเพียง 3 ชิ้น ที่ยืนยันได้ว่า หลุดออกมาจากลำตัวเครื่องบิน MH370 รวมถึงปลายปีกเครื่องบิน (flaperon) ความยาว 2 เมตร โดยทั้งหมดถูกกระแสน้ำซัดไปเกยชายหาดฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย