เอพี/เอเอฟพี - อิตาลีรุดหน้าอย่างรวดเร็วในการมุ่งสู่รัฐบาลประชานิยมในความพยายามครั้งที่ 2 ในวันพฤหัสบดี(31พ.ค.) หลังพวกแกนนำฝ่ายต่อต้านสถาบัน พรรคไฟว์สตาร์มูฟเมนต์และพรรคเลกาหรือลีก พรรคขวาจัด แถลงบรรลุข้อตกลงประนีประนอมข้ามผ่านเสียงคัดค้านของประธานาธิบดี
อิตาลีตกอยู่ท่ามกลางความย่งเหยิงทางการเมืองมาเกือบ 3 เดือนหลังศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ไม่มีผู้ได้รับชียชนะอย่างเด็ดขาด วิกฤตการสั่นคลอนตลาดเงินและแผ่ลามความกังวลไปสู่หมู่มวลพันธมิตรในอียู
ในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี(31พ.ค.) ประธานาธิบดีเซอร์จิโอ มัตเตเรลลา มอบอาณัติเป็นครั้งที่ 2 แก่ จูเซพเพ คอนเต ผู้ที่ถูกพรรคไฟว์สตาร์มูฟเมนต์และพรรคเลกา เสนอชื่อให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดำเนินการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีมัตเตเรลลา ใช้สิทธิ์ยับยั้งการตั้งผู้มีแนวคิดต่อต้านอียูเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลผสม 2 พรรคประชานิยมล่ม จนเกือบต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
ต่อมาหลังจากเข้าพบมัตเตเรลลา นายคอนเต ศาสตราจารย์ทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์ อดีตทนายความที่ไม่มีชื่อเสียงและไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แถลงตัวเลือกว่าที่คณะรัฐมนตรีของเขา ในนั้นรวมถึง มัตโตโอ ซัลวินี ผู้นำพรรคเลกา ที่ถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีกลาโหม ส่วน ลุยจิ ดิ ไมโอ หัวหน้าพรรคไฟว์ สตาร์ มูฟเมนท์ จะได้เป็นรัฐมนตรีพัฒนาเศรษฐกิจ
เดิมทีพันธมิตรประชานิยม ต้องการให้ เปาโล ซาโวนา นักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดต่อต้านอียู ขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเศรษฐกิจ แต่ถูกปฏิเสธโดย มัตเตเรลลา อย่างไรก็ตาม ซาโวนา ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในคณะรัฐมนตรี โดยถูกเสนอชื่อนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกิจการยุโรป
บทบาทของรัฐมนตรีเศรษฐกิจถูกมอบให้แด่ จิโอวานนี ทริอา ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง ซึ่งสนับสนุนการลดภาษี แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้อิตาลีอยู่ในอียูต่อไป
ตามรายงานของสื่อมวลชนอิตาลีระบุว่ารายชื่อผู้ถูกเสนอตัวดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีจะเข้าสู่การพิจารณารับรองจากทั้งสองสภาในวันจันทร์หรือวันอังคารหน้า
สถานการณ์ที่คลี่คลายล่าสุด มีขึ้นหลังจากเมื่อราวๆ 48 ชั่วโมงก่อนหน้านี้ อิตาลี ดูเหมือนกำลังมุ่งสู่เส้นทางของการเลือกตั้งใหม่ หลังจากการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลระหว่างฝ่ายต่อต้านสถาบัน พรรคไฟว์สตาร์มูฟเมนต์และพรรคเลกาหรือลีก พรรคขวาจัด พังไม่เป็นท่าเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
การใช้สิทธิ์วีโต้ตัดค้านการแต่งตั้ง ซาโวนา ขึ้นเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประธานาธิบดีมัตเตเรลลา เป็นเหตุให้สองพรรคประชานิยมละทิ้งแผนจับมือกันก้าวสู่อำนาจ จากนั้น มัตเตเรลลา ก็ร้องขอให้ คาร์โล คอตตาเรลลี นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยทำงานในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว
อย่างไรก็ตามการจัดเลือกตั้งใหม่เป็นผลลัพธ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด หลังจากเป็นที่ชัดเจนว่ารัฐบาลของ คอตตาเรลลี จะไม่ผ่านการลงมติไว้วางใจในรัฐสภา