xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ประชุมซัมมิต “ทรัมป์ - คิมจองอึน” หนทางอาจไม่ราบรื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิกฤตการณ์นิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีเดินมาถึงจุดพลิกผันที่น่าจับตามองอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศจะยอมพบหน้าผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือเป็นครั้งแรกผ่านการประชุมซัมมิตซึ่งจะจัดขึ้นในราวๆ เดือน พ.ค.

คำตอบของสหรัฐฯ มีขึ้นหลังจากที่ ทรัมป์ ได้พบกับ ชุง อุยยอง (Chung Eui-Yong) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ ซึ่งแจ้งให้สหรัฐฯ ทราบว่าผู้นำคิมแสดงความปรารถนาที่จะพบกับ ทรัมป์ และประธานาธิบดีมุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้เพื่อหารือเงื่อนไขในการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (denuclearization) ซึ่งเป็นสิ่งที่โสมแดงไม่เคยยอมเจรจามาก่อน

เกาหลีเหนือรับปากจะงดเว้นจากการทดลองนิวเคลียร์และขีปนาวุธระหว่างที่มีการพูดคุยกับสหรัฐฯ ทั้งยังสำทับว่าเปียงยางไม่มีเหตุผลที่จะคงคลังแสงนิวเคลียร์เอาไว้ หากมหาอำนาจให้การรับรองว่าจะไม่ล้มล้างระบอบการปกครองของตระกูลคิม

ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่า ทรัมป์ ตัดสินใจพลาดที่ไปยอมตกปากรับคำร่วมประชุมสุดยอดกับ คิม จองอึน โดยไม่ผ่านการเจรจาระดับล่างๆ เสียก่อน แถมเกาหลีเหนือยังไม่ได้ส่งเทียบเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงแต่ฝากข้อเสนอมากับคณะผู้แทนเกาหลีใต้เท่านั้น ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า ทรัมป์ เป็นฝ่ายกระเหี้ยนกระหือรือไปเอง

ทางด้านเปียงยางเมื่อได้รับคำตอบจากผู้นำสหรัฐฯ แล้วก็กลับทำนิ่งเฉย จนเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ต้องออกมาช่วยแก้ต่างว่าโสมแดงคงกำลังคิดทบทวนอย่างระมัดระวังก่อนจะเผยท่าทีออกมา

การประชุมซัมมิตระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน พ.ค. ตามหลังการประชุมระหว่างผู้นำ คิม และประธานาธิบดี มุน ในช่วงปลายเดือน เม.ย. ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะถือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีในตำแหน่งของสหรัฐฯ ได้พบกับผู้นำโสมแดง

ชุง เดินทางต่อไปยังจีนในวันจันทร์ (12) และได้เข้าพบประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เพื่อสรุปความคืบหน้าเรื่องการหารือกับเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ ให้ทราบ ซึ่ง สี ก็ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่าย “มีความอดทนและตั้งใจจริง ใช้ความเฉลียวฉลาดทางการเมืองเผชิญหน้าและขจัดปัญหาหรือการแทรกแซงใดๆ อย่างเหมาะสม เพื่อฟื้นฟูกระบวนการเจรจา”

ทางด้านญี่ปุ่นก็ตกใจไม่น้อยที่ ทรัมป์ ยอมประชุมซัมมิตกับผู้นำเกาหลีเหนือง่ายๆ โดยไม่ปรึกษาหารือกันก่อน และเกรงว่าโสมแดงอาจยอมปลดชนวนขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปที่คุกคามแผ่นดินอเมริกา แต่ไม่ครอบคลุมถึงขีปนาวุธพิสัยใกล้และกลางที่ยังเป็นอันตรายต่อแดนปลาดิบ รวมถึงเรื่องพลเมืองญี่ปุ่นที่ถูกโสมแดงลักพาตัวไปฝึกสายลับในช่วงสงครามเย็นก็อาจไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเจรจา

มีรายงานจากสื่อญี่ปุ่นว่า โตเกียวกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดประชุมซัมมิตระหว่างนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ กับผู้นำ คิม จองอึน เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นต้องกลายเป็นชาติที่ถูกโดดเดี่ยว

แพทริเซีย คิม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงนิวเคลียร์จากสภาความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) ได้เอ่ยถึงปัญหาขั้นพื้นฐาน 3 ประการที่อาจจะทำให้การประชุมซัมมิตระหว่าง ทรัมป์ และ คิม ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ต่อให้รัฐบาลเกาหลีเหนือมีความตั้งใจจริงที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ก็ตามที

- ความน่าเชื่อถือ

หากจะให้เกาหลีเหนือยอมทิ้งอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐฯ ต้องทำให้ผู้นำ คิม เชื่อมั่นเต็มร้อยว่าระบอบปกครองโสมแดงจะไม่ถูกคุกคาม แต่เมื่อดูจากประวัติของอเมริกาซึ่งอยู่เบื้องหลังการโค่นล้มผู้นำเผด็จการมาแล้วในหลายประเทศ ล่าสุดก็คืออิรักและลิเบีย ทำให้เงื่อนไขนี้ดูจะเป็นไปได้ยาก

การสร้างความเชื่อมั่นนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งคำมั่นสัญญาจาก ทรัมป์ เอง, มติรับรองจากสภาคองเกรส รวมไปถึงบทบาทของ “จีน” ซึ่งต้องเป็นผู้ค้ำประกันข้อตกลงสันติภาพใดๆ ก็ตามที่จะมีขึ้น

อย่างไรก็ดี มาตรการซึ่งยากลำบากเหล่านี้ก็อาจจะยังไม่พอสำหรับเกาหลีเหนือ ซึ่งเชื่ออย่างฝังจิตฝังใจว่าสหรัฐฯ พร้อมจะโค่นล้มระบอบคิมทุกเมื่อถ้ามีโอกาส

ฝ่ายเกาหลีเหนือเองก็ต้องทำให้มหาอำนาจเชื่อถือคำพูดด้วยเช่นกัน หลังจากที่ฉีกข้อตกลงมาแล้วหลายฉบับ

ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า โสมแดงจะเล่นตุกติกและแอบพัฒนาต่อยอดโครงการนิวเคลียร์อย่างลับๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่หากผู้นำ คิม มีความจริงใจที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์ เขาอาจต้องยอมให้ทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบทั้งโรงงานนิวเคลียร์ที่มีการเปิดเผย และเขตทหารซึ่งเป็นพื้นที่ปิดลับ ทว่าเงื่อนไขเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ว่าเกาหลีเหนือหรือรัฐบาลไหนๆ ในโลกก็ยากจะยอมรับได้

- ความคาดหวัง

ผลลัพธ์ที่สหรัฐฯ น่าจะคาดหวังจากการประชุมซัมมิตครั้งนี้ก็คือ โสมแดงหวนกลับไปสู่ข้อตกลงที่เคยทำร่วมกับชาติมหาอำนาจทั้ง 6 เมื่อปี 2005 โดยข้อตกลงดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขให้เปียงยางปลดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการค้ำประกันด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ทว่าไม่ได้ห้ามเปียงยางดำเนินกิจกรรมทางทหารตามแบบดั้งเดิม (conventional military activities) หรือการโจมตีทางไซเบอร์

เกาหลีเหนือเคยเดินออกจากเวทีประชุมลดอาวุธ 6 ฝ่ายเมื่อเดือน ก.ย. ปี 2005 หลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ สั่งคว่ำบาตรธนาคารแห่งหนึ่งในมาเก๊าที่ถูกกล่าวหาว่าช่วยโสมแดงฟอกเงิน สำหรับคราวนี้ก็มีสัญญาณเตือนว่าประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย เพราะในวันเดียวกันกับที่เกาหลีเหนือประกาศว่าพร้อมพูดคุยกับอเมริกา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ออกมาสรุปอย่างเป็นทางการว่าเปียงยางอยู่เบื้องหลังการลอบสังหาร “คิม จองนัม” พี่ชายต่างมารดาของผู้นำคิม และออกมาตรการคว่ำบาตรเชิงสัญลักษณ์เพิ่มเติม

เพื่อที่จะก้าวข้ามช่องว่างทางความคาดหวังเหล่านี้ สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือจำเป็นต้องวางกฎกติกาในการพูดคุยล่วงหน้า เพื่อไม่ให้การเจรจาล้มเหลวเหมือนเช่นในอดีต

- เป้าหมายในการเจรจา

การพูดคุยย่อมประสบความสำเร็จไม่ได้ หากสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังมีเป้าหมายที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

ในขณะที่สหรัฐฯ อาจเต็มใจเซ็นข้อตกลงสันติภาพรับรองว่าจะไม่ทำลายระบอบคิม และฟื้นฟูความสัมพันธ์สู่ระดับปกติเพื่อแลกกับการปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่เปียงยางอาจคาดหวังในสิ่งที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น ผู้นำคิมอาจเรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดระดับความเป็นพันธมิตรกับเกาหลีใต้ และถอนทหารอเมริกันออกจากคาบสมุทรเกาหลี เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่วอชิงตันและโซลคงจะยอมรับไม่ได้แน่นอน

ด้วยปัจจัยท้าทายเหล่านี้ โอกาสที่การประชุมซัมมิตระหว่าง ทรัมป์ และ คิม จะนำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหานิวเคลียร์อย่างยั่งยืนจึงค่อนข้างเลือนราง แต่ในเมื่อทำเนียบขาวได้ตอบรับคำเชิญของโสมแดงไปแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุมว่าจะนำเรื่องใดเข้าสู่โต๊ะเจรจาบ้าง ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเงื่อนไขที่จินตนาการเอาไว้บวกกับความกล้าได้กล้าเสียในทางการทูตของ ทรัมป์ และ คิม อาจจะนำมาซึ่งข้อตกลงที่ช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพให้แก่คาบสมุทรเกาหลีก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น