เอเอฟพี - มาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ในวันอังคาร(20ก.พ.) เรียกร้องจัดประชุมนานาชาติในช่วงกลางปี 2018 เพื่อเริ่มกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางครั้งใหม่ที่กว้างขวางกว่าเดิม และเปิดทางสำหรับการเป็นสถานะเป็น "รัฐสมาชิกปาเลสไตน์" ที่ได้รับการรับรองความเป็นรัฐ
ระหว่างการกล่าวปราศรัยที่ไม่บ่อยครั้งนักต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ อับบาส นำเสนอสิ่งที่เขาเรียกว่า "แผนสันติภาพ" เพื่อกอบกู้การเจรจาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ผ่านคนกลางระหว่างประเทศรายใหม่ ซึ่งสหรัฐฯจะมีบทบาทน้อยลง "เพื่อตอบคำถามปาเลสไตน์ เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศพหุภาคี ผ่านการประชุมนานาชาติ" อับบาสกล่าว
การตัดสินใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้การรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล กระพือความโกรธเคืองจากปาเลสไตน์ ที่ประกาศว่าวอชิงตันไม่ควรมีบทบาทในฐานะแกนนำคนกลางในกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางอีกต่อไป
อับบาส กล่าวโทษความพยายามสันติภาพที่ล้มเหลวไปที่อิสราเอล โดยระบุว่าอิสราเอลกำลังดำเนินการเสมือนรัฐๆหนึ่งที่อยู่เหนือกฎหมายและเป็นคนปิดประตูใส่ทางออกแบบ 2 รัฐควบคู่ (two-state solution) เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
ผู้นำรายนี้บอกต่อว่าการประชุมนานาชาติควรนำไปสู่การเป็นสมาชิกสหประชาชาติของรัฐปาเลสไตน์อย่างสมบูรณ์ ผ่านการรับรองซึ่งกันและกันของอิสราเอลและปาเลสไตน์ และสร้างกลไกระหว่างประเทศใหม่ในการบรรลุทางออกในขั้นท้ายสุด
ทั้งนี้ อับบาส ลุกออกจากที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทันทีหลังจากกล่าวปราศรัย เป็นผลให้ แดนนี ดานอน เอกอัครราชทูตอิสราเอล คร่ำครวญว่าเป็นอีกครั้งที่ผู้นำปาเลสไตน์วิ่งหนีการเจรจา "คุณจำเป็นต้องทำให้ชัดเจนว่า ผ่านคำพูดและการกระทำ คุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทางออกอีกแล้ว คุณนั่นแหละคือปัญหา"
นิกกี้ เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติ เตือนว่าการหันหน้าสู่สหประชาชาติและปฏิเสธบทบาทของอเมริกาในการเจรจาสันติภาพ ไม่ได้ทำให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จตามความปรารถนาแม้แต่น้อย
กระบวนการสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์เข้าสู่ทางตัน นับตั้งแต่ความพยายามผลักดันครั้งใหญ่โดยรัฐบาลสหรัฐฯสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา จบลงด้วยความล้มเหลวในเดือนเมษายน 2014 ทั้งนี้แม้รัฐบาลของทรัมป์กำลังเตรียมแผนสันติภาพใหม่ แต่โอกาสประสบความสำเร็จนั้นดูเลือนราง
ปาเลสไตน์หวังว่าการมีส่วนร่วมมากขึ้นของนานาชาติในกระบวนการสันติภาพจะช่วยตอบโต้สิ่งที่พวกเขามองว่าสหรัฐฯมีจุดยืนลำเอียงฝักใฝ่อิสราเอล ส่วนทางอิสราเอล ลังเลที่จะยอมรับคนกลางอื่นๆนอกเหนือจากอเมริกา ในขณะที่อิสราเอลเคยกล่าวหาบ่อยครั้งว่าสหภาพยุโรปและสหประชาชาติมีอคติกับพวกเขาเช่นกัน
ปาเลสไตน์มองเยรูซาเลมตะวันออกในฐานะเมืองหลวงของรัฐในอนาคตของพวกเขา ขณะที่สหประชาชาติมีมติเรียกร้องประเทศต่างๆระงับการย้ายสถานทูตไปยังเมืองแห่งนี้ จนกว่าสถานะของเมืองจะได้รับการคลี่คลายผ่านข้อตกลงระหว่างอิสราเอลและเยรูซาเลม
มติดังกล่าวมีออกมา หลังจากเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหประชาชาติ ประกาศรับรองเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอลและเตรียมย้ายสถานทูตอเมริกาไปที่นั่น แต่ต่อมาในเดือนเดียวกัน ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ลงมติ 128-9 เสียง งดออกเสียง 35 เสียง ปฏิเสธการตัดสินใจของอเมริกา
การโหวตดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 14 จาก 15 ชาติ ลงมติเห็นชอบมาตรการเดียวกัน ท่ามกลางเสียงโวยวายจากสหรัฐฯที่ใช้สิทธิ์วีโต้ร่างมติดังกล่าว
เหตุเผชิญหน้าครั้งนั้นกระตุ้นให้สหรัฐฯตัดสินใจตัดงบประมาณที่ให้การสนับสนุนสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้ (UNRWA)
สหประชาชาติเคยให้การรับรองสถานะรัฐสังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ (non-member observer state) แก่ปาเลสไตน์ในปี 2012 แต่การยกระดับสู่การเป็นสมาชิกอย่างสมบูรณ์จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากแน่นอนว่ามันจะถูกวีโต้โดยสหรัฐฯ