เอเอฟพี - คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศห้ามเรือสัญชาติเกาหลีเหนือ 4 ลำเข้าจอดเทียบท่าเรือทั่วโลกเมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) หลังต้องสงสัยว่ามีการละเมิดมติคว่ำบาตรและลักลอบขนสินค้าต้องห้าม
คำสั่งแบนล่าสุดที่บังคับใช้กับเรือ อุลจีบอง 6, รุงรา 2, ซัมจอง 2 และ รเยซองกัง 1 ทำให้ขณะนี้มีเรือสัญชาติเกาหลีเหนือรวม 8 ลำที่ถูกห้ามจอดตามท่าเรือสากล โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามยับยั้งโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์โสมแดง
นักการทูตหลายคนซึ่งไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า มติคว่ำบาตรเรือสินค้าเกาหลีเหนือถูกเสนอโดยสหรัฐฯ ซึ่งยังเรียกร้องให้ยูเอ็นปิดกั้นเรือที่จดทะเบียนในประเทศอื่นๆ ด้วย ทว่าจีนยินยอมให้เฉพาะเรือซึ่งติดธงเกาหลีเหนือเท่านั้น
“เวลานี้มีเรือเพียง 4 ลำเท่านั้นที่ถูกแบน... แต่กระบวนการยังไม่จบ และยูเอ็นอาจสั่งแบนเรือลำอื่นๆ อีกในอนาคต” นักการทูตคนหนึ่งกล่าว
รายชื่อคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ ส่งให้ยูเอ็นพิจารณาในเดือนนี้ยังรวมไปถึงเรือสินค้าที่ติดธงเบลีซ, จีน, ฮ่องกง, ปาเลา และปานามา
ก่อนที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นประกาศคำสั่งออกมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ได้ทวีตข้อความกล่าวหาจีนว่าลักลอบส่งน้ำมันให้เกาหลีเหนือ
"จับได้คาหนังคาเขา - รู้สึกผิดหวังที่จีนปล่อยให้มีการส่งมอบน้ำมันไปยังเกาหลีเหนือ จะไม่มีทางออกที่เป็นมิตรในการคลี่คลายปัญหาเกาหลีเหนือแน่ หากว่ามันยังเกิดขึ้นอีก!" ทรัมป์เขียนบนทวิตเตอร์
ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ทรัมป์ อ้างรายงานของหน่วยข่าวกรอง หรือแค่กล่าวหาลอยๆ ว่าจีนกำลังละเมิดมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ
คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้มีมติคว่ำบาตรเกาหลีเหนือออกมาถึง 3 ครั้งในปี 2017 ได้แก่ มติวันที่ 5 ส.ค. ซึ่งมุ่งปิดกั้นสินค้าออกของโสมแดงจำพวกเหล็ก ถ่านหิน และอุตสาหกรรมประมง, มติวันที่ 11 ก.ย. ซึ่งคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์สิ่งทอและจำกัดการส่งน้ำมันให้เกาหลีเหนือ และล่าสุดคือมติเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่เน้นปิดกั้นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโดยเฉพาะ
สหรัฐฯ ประณามการลักลอบขนสินค้าต้องห้ามซึ่งเปิดโอกาสให้เกาหลีเหนือสามารถกักตุนได้ โดยเฉพาะการใช้วิธีขนถ่ายสินค้าผ่านเรือที่แล่นอยู่กลางทะเล
หนังสือพิมพ์โชซุนอิลโบของเกาหลีใต้อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลโซลเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ดาวเทียมสหรัฐฯ ตรวจพบเรือสัญชาติจีนแอบขายน้ำมันให้เรือเกาหลีเหนือหลายสิบครั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค. เป็นต้นมา
สหรัฐฯ มั่นใจว่ามีเพียงแรงกดดันจากรัฐบาลประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง เท่านั้นที่จะทำให้ คิม จอง อึน ยอมลดราวาศอก และหันกลับมาเจรจาเพื่อลดการเผชิญหน้าด้านนิวเคลียร์