เอเจนซีส์ - โซลแสดงความเชื่อมั่นในวันอังคาร (26 ธ.ค.) ว่า ปีหน้าเปียงยางอาจยอมเปิดเจรจากับวอชิงตัน อย่างไรก็ตาม กองทัพโสมขาวไม่ประมาท สั่งจัดตั้งทีมเฉพาะกิจรับมือภัยคุกคามจากโสมแดง พร้อมกันนี้ สื่อเกาหลีใต้รายงานว่า เกาหลีเหนือเตรียมส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในเร็วๆ นี้ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีขีปนาวุธ
เมื่อวันศุกร์ (22) ที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ลงมติเป็นเอกฉันท์รับรองมาตรการแซงก์ชันครั้งใหม่ที่รุนแรงขึ้นเพื่อลงโทษที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ในเดือนที่แล้ว ขณะที่เปียงยางตอบโต้อย่างแข็งกร้าว โดยบอกว่า ความเคลื่อนไหวนี้เป็นการประกาศสงครามและเป็นการปิดล้อมตนเองในทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม ในวันอังคาร (26) กระทรวงรวมชาติเกาหลีใต้แสดงความเชื่อมั่นว่า ปีหน้าเกาหลีเหนือจะหาทางเจรจากับสหรัฐฯ ควบคู่กับการพยายามทำให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในฐานะประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง
แม้รายงานของกระทรวงรวมชาติไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ กับการคาดการณ์ข้างต้น แต่เนื้อหาในรายงานระบุด้วยว่า มาตรการต่างๆ ในการแซงก์ชันโสมแดง ซึ่งทยอยประกาศใช้ไม่ขาดสาย จะปรากฏผลอย่างชัดเจนในปีหน้า ทำให้ปริมาณการค้าและเงินต่างประเทศที่ไหลเข้าเกาหลีเหนือลดลง เกิดการขาดแคลนข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น รวมทั้งภาคการผลิตต่างๆ มีผลิตผลลดลง
วันเดียวกันนั้น กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ แถลงว่า ได้ตั้งหน่วยพิเศษ 4 หน่วยภายใต้นโยบายใหม่ในการตรวจตราเฝ้าระวังเกาหลีเหนือ เพื่อป้องปรามและตอบโต้ภัยคุกคามจากนิวเคลียร์และขีปนาวุธของโสมแดง
สถานการณ์เกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์โสมแดงตึงเครียดขึ้นทุกขณะ จากการที่เกาหลีเหนือท้าทายมติยูเอ็นด้วยการทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธครั้งแล้วครั้งเล่า ล่าสุดคือ การทดสอบไอซีบีเอ็มที่เกาหลีเหนืออ้างว่า โจมตีได้ทุกพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่อเมริกาเมื่อวันที่ 29 เดือนที่แล้ว นอกจากนั้น สงครามน้ำลายระหว่างเปียงยางกับทำเนียบขาวก็โหมกระพือให้เกิดความร้อนระอุเพิ่มขึ้นด้วย
นักการทูตอเมริกันกล่าวชัดเจนว่า ต้องการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางการทูต แต่พร้อมกันนี้ ก็เสนอมาตรการแซงก์ชันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกดดันคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ
ในคำแถลงที่เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวเคซีเอ็นเอเมื่อวันอาทิตย์ (24) กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือระบุว่า อเมริกาผวากับอานุภาพนิวเคลียร์ของเปียงยาง ทำให้ยิ่งเคลื่อนไหวอย่างบ้าคลั่งด้วยการออกมาตรการแซงก์ชันที่รุนแรงที่สุด
ทั้งนี้ จีน และ รัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของเกาหลีเหนือ ต่างโหวตสนับสนุนมาตรการแซงก์ชันล่าสุดที่มุ่งทำให้เกาหลีเหนือเข้าถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกลั่นและน้ำมันดิบได้ลำบากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ก็จะถูกจำกัดในการหารายได้จากแรงงานโสมแดงที่ออกไปทำงานนอกประเทศ
เมื่อวันจันทร์ (25) หวา ชุนอิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันผ่อนคลายสถานการณ์ตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี
รุ่งขึ้นอีกวัน ปักกิ่งเผยแพร่ข้อมูลศุลกากรที่บ่งชี้ว่า เดือนที่ผ่านมา จีนไม่ได้ส่งออกน้ำมัน รวมถึงแร่เหล็ก ถ่านหิน และตะกั่วให้เกาหลีเหนือเลย ซึ่งถือเป็นมาตรการลงโทษที่เข้มงวดกว่าที่มาตรการแซงก์ชันของยูเอ็นกำหนดไว้
ในอีกด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์จุงอัง อิลโบของเกาหลีใต้ รายงานวันอังคาร (26) โดยอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รัฐบาลเกาหลีใต้ผู้หนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เปิดเผยตัว ว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังเตรียมปล่อยดาวเทียม “กวางเมียงซอง-5” ที่ติดตั้งกล้องและอุปกรณ์สื่อสารขึ้นสู่วงโคจร
ผู้เชี่ยวชาญหลายคน ระบุว่า การส่งดาวเทียมของเกาหลีเหนือน่าจะมีเป้าหมายในการพัฒนายกระดับเทคโนโลยีขีปนาวุธ ดังนั้น จึงเข้าข่ายละเมิดมาตรการแซงก์ชันของยูเอ็น
อันที่จริง เมื่อวันจันทร์ หนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุนของเกาหลีเหนือ เผยแพร่บทความที่ยืนยันว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างสันติเป็นสิทธิตามกฎหมายของรัฐเอกราช
นอกจากนั้น คิม อินเรียง ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตเกาหลีเหนือประจำยูเอ็น ยังแถลงในที่ประชุมคณะกรรมาธิการของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นเมื่อเดือนตุลาคม ว่า ภายในปี 2016 - 2020 เกาหลีเหนือมีแผนพัฒนาดาวเทียม “ที่ใช้ได้จริง” ซึ่งสามารถส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมยืนยันว่า สิทธิในการพัฒนาและปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือจะไม่เปลี่ยนแปลงเพียงเพราะอเมริกาไม่ยอมรับเท่านั้น
ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนนี้ หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของรัสเซียได้รายงานโดยอ้างอิงคำบอกเล่าของวลาดิมีร์ ครุสทาเลฟ ผู้เชี่ยวชาญการทหารรัสเซียที่เพิ่งเดินทางเยือนเกาหลีเหนือเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนว่า เปียงยางอาจปล่อยดาวเทียม 2 ดวงในอนาคตอันใกล้ ดวงหนึ่งนั้นเพื่อสำรวจโลก ส่วนอีกดวงเป็นดาวเทียมสื่อสาร
ทั้งนี้ เชื่อกันว่า เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในเดือนธันวาคม 2012 หลังจากล้มเหลวมาหลายครั้งตั้งแต่ปี 1998 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เปียงยางปล่อยดาวเทียมกวางเมียงซอง-4 ซึ่งประเทศส่วนใหญ่เชื่อว่า เป็นการตบตาเพื่อทดสอบการยิงขีปนาวุธข้ามทวีป