เอเจนซีส์/รอยเตอร์/MGR ออนไลน์ - โจเซฟ ยุน (Joseph Yun) ทูตพิเศษสหรัฐฯ ด้านเกาหลีเหนือ ใช้ จ.เชียงใหม่ของไทยเป็นสถานที่เปิดการหารือลับกับเจ้าหน้าที่ต่างประเทศเกาหลีเหนือวันพรุ่งนี้ (13 ธ.ค.) ระหว่างร่วมประชุม CSCAP ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงวันอังคาร (12) วอชิงตันพร้อมเปิดเจรจาทางตรงกับเกาหลีเหนือแบบไร้เงื่อนไขต่อรองปลดอาวุธก่อน ยอมรับครั้งแรกคุยกับปักกิ่งประเด็นรับมือสงครามเกาหลีเหนือ ให้คำมั่นทหารสหรัฐฯ เข้าเกาหลีเหนือเพื่อปลดอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้นไม่อยู่นาน
สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นรายงานวันนี้ (13 ธ.ค.) ว่า พบว่าสหรัฐฯได้ส่งตัวแทนทูตระดับสูงด้านเกาหลีเหนือ โจเซฟ ยุน (Joseph Yun) หัวหน้าแผนกนโยบายกิจการเกาหลีเหนือประจำกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าร่วมการประชุมสภาความร่วมมือด้านความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก CSCAP (Council for Security Cooperation in the Asia Pacific) ที่จะถูกจัดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ของไทยในปีนี้
ทางสำนักข่าวยอนฮับของเกาหลีใต้รายงานว่า แหล่งข่าวเปิดเผยในวันอังคาร (12) ว่า ยุนจะพบกับเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของเกาหลีเหนือที่เชียงใหม่พรุ่งนี้ (14)
ทางสำนักข่าวเกียวโดชี้ว่า เปียงยางได้ส่งเจ้าหน้าที่มาเข้าร่วมจำนวน 4 คน รวมไปถึง โช จิน (Choe Jin) รองหัวหน้าสถาบันด้านสันติภาพและการปลดอาวุธ (Institute on peace and disarmament) ประจำกระทรวงต่างประเทศเกาหลีเหนือ
อ้างอิงจากแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ บนเว็บไซต์ทางการเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ระบุว่า ทูตพิเศษสหรัฐฯ ด้านนโยบายเกาหลีเหนือ โจเซฟ ยุน จะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นและไทยระหว่างวันที่ 11-15 ธ.ค.นี้ เพื่อพบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลในการหารือถึงหนทางที่จะเพิ่มมาตรการกดดันต่อเกาหลีเหนือหลังการทดสอบขีปนาวุธล่าสุด ซึ่งในแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า สหรัฐอเมริกาหวังที่จะคงความสัมพันธ์ในฐานะชาติพันธมิตรกับทั้งสองชาตินี้ (ญี่ปุ่น และไทย) ต่อไปเพื่อที่ทางเกาหลีเหนือจะยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ในที่สุด
ทางสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า การหารือระหว่างยุนและเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือนั้น คาดว่าเป็นการหาทางถึงความน่าจะเป็นในการเปิดการเจรจาครั้งแรกระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือ ซึ่งการพบปะที่เชียงใหม่ครั้งนี้ คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงการหารือนอกรอบของการประชุม CSCAP ที่ถูกจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (14) ไปจนถึงวันศุกร์ (15)
ทั้งนี้เป็นที่เข้าใจว่า ผู้นำไทยรับทราบเรื่องที่ทางไทยจะถูกใช้เป็นที่หารือลับระหว่างตัวแทนสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ซึ่งในรายงานของMGRออนไลน์เมื่อวันอังคาร (12) พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงรับทราบถึงการมาเยือนไทยของตัวแทนสหรัฐฯ โจเซฟ ยุน และการคาดการณ์ที่ว่า ฝ่ายสหรัฐฯจะพบกับตัวแทนเกาหลีเหนือ โดยพลเอกประยุทธ์ได้แถลงว่า
“เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศก็ยืนยันมาตลอดว่าได้ปฏิบัติตามมติของยูเอ็นอย่างครบถ้วน บางอย่างมากกว่าเขาด้วยซ้ำ หลายประเทศเขาก็ทำเท่าที่กำหนดมา แต่เราทำเยอะแยะ เพราะฉะนั้นที่มีการกล่าวอ้างว่า มีเรือเกาหลีเหนือ ตนได้สั่งห้ามมาเทียบท่านานแล้ว ต้องผลักดันออกไปให้หมด ไม่มีการค้าขายระหว่างกัน ไม่มีการซื้อถ่านหินระหว่างกัน ไม่มีการประกอบการค้า”
และในแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า “ตอนนี้เยอะแยะไปหมดจนแทบกระดิกไม่ได้อยู่แล้ว อย่าไปฟังเขามากนักเลย อะไรที่เป็นมติสหประชาชาติ ผมก็ทำและทำพร้อมไปกับเพื่อนอาเซียนด้วย ไม่ใช่ผมทำคนเดียว เป็นพระเอกก็ไม่ใช่ เพราะถือว่าเป็นมติของอาเซียน ซึ่งในการกล่าวถ้อยแถลงอะไรก็แล้วแต่ ครั้งที่แล้วถ้อยแถลงอาเซียนไม่มี แต่ไทยเป็นคนเสนอเองว่าอย่างน้อยก็ให้แถลงออกมา ว่าเราทำอะไรบ้างที่สอดคล้องกับมติสหประชาชาติ จึงได้มีถ้อยแถลงดังกล่าวออกมา ดังนั้นอย่าไปว่าพวกเรากันเอง”
ทั้งนี้สื่อไทยรายงานเพิมเติมว่า ยุนได้ขอเข้าพบเป็นการส่วนตัวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยรัฐมนตรีต่างประเทศไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย แถลงยอมรับในเรื่องนี้ในช่วงบ่ายวันอังคาร(12) แต่ชี้ว่า เป็นการเข้าพบตามปกติที่ไม่ได้เป็นการล็อบบี้ไทยให้จัดการเกาหลีเหนือ
ซึ่งในประเด็นนี้ทางทูตดอนแถลงชี้แจงว่า ทางสหรัฐฯได้ประสานขอเข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จริง และกล่าวต่อว่า ในการหารือคาดว่าน่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและต้องการรับรู้ว่า “ไทยทำอะไรไปบ้างแล้วเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ”
ในการแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศไทย ยังได้ระบุถึงบทบาทของไทยต่อความขัดแย้งเกาหลีเหนือว่า ในอดีตไทยเคยมีบทบาทเป็น “ตัวกลาง” ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯมาแล้ว โดยดอนยืนยันว่า เกิดขึ้นเมื่อครั้ง สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เคยเป็นผู้ชักนำให้เกาหลีเหนือกับรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯได้พบกันสำเร็จมาแล้ว
ซึ่งในการแถลงพบว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย กล่าวให้ความเห็นว่า ทางฝ่ายไทยจะทำเป็นหน้าที่คนกลางต่อไปเพราะเป็นที่นรับรู้ในอดีตถึงความสำเร็จ
“ อะไรที่เราเคยทำในอดีตแล้วประสบผลสำเร็จ และถือว่าจะอยู่ในฐานะที่ทำได้ในอนาคต ตอนนี้ได้อยู่ในการรับรู้ของใครต่อใครแล้ว” ดอนกล่าว
ทั้งนี้การมาเยือนไทยของทูตพิเศษด้านกิจการเกาหลีเหนือของสหรัฐฯดูเหมือนจะไปในทิศทางที่อเมริกาจะยอมทำตามข้อแนะนำของรัสเซียที่ให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาคุยทางตรงกับเกาหลีเหนือ
โดยก่อนหน้า รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เก ลาฟรอฟ ได้ออกมาเปิดเผย จากการรายงานของเดอะการ์เดียน วันที่ 8 ธ.ค. โดยชี้ว่าเปียงยางพร้อมที่จะเปิดการเจรจากับสหรัฐฯ และในรายงาน ลาฟรอฟได้ยืนยันในเรื่องนี้ต่อตัวรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นสัญญาณที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯต่อเกาหลีเหนือที่ในอดีต สหรัฐฯเคยยืนยันมาตลอดว่าจะไม่มีการพูดคุยจนกว่าจะยอมรับเงื่อนไขการปลดอาวุธ เพราะจากการรายงานของเจแปนไทม์ส สื่อญี่ปุ่นได้รายงานในวันนี้ (13 ธ.ค.) ว่า สหรัฐฯ ประกาศยอมที่จะเปิดการเจรจาทางตรงกับเกาหลีเหนือ โดยที่ไม่มีเงื่อนไขต่อรอง
เจแปนไทม์สตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจกระทบครั้งใหญ่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯได้ เพราะตลอดมาจนถึงเวลานี้ ทางญี่ปุ่นซึ่งมีพรมแดนติดเกาหลีเหนือยังคงยืนกรายมาตลอดว่า ต้องการให้มีการกดดันต่อเกาหลีเหนิอต่อไป ซึ่งทางเจแปนไทม์ชี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นชุดนายกรัฐมนตรี ชืนโซ อาเบะปัดหนทางเปิดโต๊ะเจรจากับเกาหลีเหนือ หากไม่มีการตกลงถึงการยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อนเข้าสู่โต๊ะเจรจา
ทั้งนี้การเปลี่ยนท่าทีของวอชิงตันเกิดขึ้นมในการแถลงที่ออกมาจากธิงแท็งก์ แอตแลนตา เคาน์ซิล (Atlantic Council) ในวอชิงตัน โดยเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯเป็นผู้ประกาศว่า
“ทางเราพร้อมที่จะพูดคุยกับเกาหลีเหนือเมื่อใดก็ตามที่ทางเปียงยางพร้อม และทางเราพร้อมที่จะเปิดการเจรจาครั้งแรกโดยที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขตกลงล่วงหน้า”
แลทิลเลอร์สันยังกล่าวต่อว่า “มาเปิดการเจรจากันเถอะ เราสามารถพูดคุยถึงสภาพอากาศหากทางฝ่ายคุณต้องการ พวกเราสามารถถกในประเด็นว่า จะเป็นโต๊ะกลม หรือโต๊ะเหลี่ยม หากนั่นทำให้พวกคุณรู้สึกต้องการที่จะเข้าร่วม”
ทั้งนี้การออกมาเปิดประเด็น “พร้อมพูดคุยกับเปียงยางแบบไร้ข้อผูกมัด” ของสหรัฐฯเกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังจากที่ทางเกาหลีเหนือสามารถสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของการทดสอบขีปนาวุธพิสัยข้ามทวีป ICBM ที่เชื่อว่ามีสมรรถนะสามารถเข้าทำลายในเกือบทุกจุดของแผ่นดินใหญ่อเมริกา หากไม่ทั้งหมดก็ตาม
ซึ่งในการแถลง ทิลเลอร์สันยืนยันในวันอังคาร(12)ว่า การหันหน้าหารือ “แบบตัวต่อตัวกับเกาหลีเหนือ” จะช่วยให้ทั้ง 2 ชาติสามารถเริ่มร่างโร๊ดแมพในความผูกพันได้ในอนาคต
“มันไม่ดูเป็นไปได้เลยหากเรากล่าวว่า พวกเราพร้อมที่จะเจรจาหากพวกคุณมายังโต๊ะการหารือเพื่อพร้อมที่จะยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์” เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กล่าว และเสริมว่า “พวกเขาได้ลงทุนไปมากแล้วในจุดนี้ และประธานาธิบดีนั้นคิดในแนวทางที่เป็นไปได้ในเรื่องนี้เช่นกัน”
เจแปนไทม์สรายงานว่า ในขณะที่ทางวอชิงตันยังคงตอกย้ำถึงจุดยืนเดิมถึง “การปลอดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกลับแถลงยืนยันว่า สหรัฐอเมริกาพร้อมเสมอที่จะเจรจากับเกาหลีเหนือเมื่อใดก็ตามที่เปียงยางพร้อม แต่เปียงยางจำเป็นต้องมาที่โต๊ะหารือพร้อมกับข้อเสนอสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทิลเลอร์สันจะกล่าวว่า ไม่มีเงื่อนไขสำหรับการเริ่มเปิดการเจรจา แต่ทว่ารัฐมนตรีต่างกระเทศสหรัฐฯได้ชี้ว่า จำเป็นต้องมี “ช่วงเวลาแห่งความเงียบ” ซึ่งเป็นเสมือนเงื่อนไข ซึ่งจะทำให้การเจรจาเบื้องต้นเริ่มเกิดได้
“มันคงเป็นการเจรจาที่หนักหน่วง หากว่าในระหว่างระยะเวลาการหารือ พวกคุณเกิดที่จะทดสอบอีก” ทิลเลอร์สันชี้ และเสริมว่า “เราต้องการช่วงเวลาแห่งความเงียบ”
ทั้งนี้ ในตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า สิ่งนี้หมายถึงสิ่งใดแน่ แต่ทว่าสื่อญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า แต่ทว่าทางสหรัฐฯก่อนหน้านี้ได้เคยแสดงเป็นนัยชี้ไปว่า ระยะเวลา 60 วันของการปลอดการทดสอบนิวเคลียร์และมิสไซล์ จะสามารถทำให้ประตูการเปิดเจรจาเริ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ก่อนที่เปียงยางจะเริ่มต้นการทดสอบขีปนาวุธพิสัยข้ามทวีป ICBM ฮวาซอง-15 (Hwasong-15) เมื่อวันที่ 29 พ.ย ก่อนหน้านั้นเปียงยางไม่มีความเคลื่อนไหวนานถึง 75 วัน และเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายได้ตั้งความหวังว่าหนทางการเจรจาทางการทูตจะสามารถเริ่มต้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับญี่ปุ่นที่ตกเป็นเป้าการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือทุกครั้ง อาจไม่มีความรู้สึกต้องการเปิดการเจรจาเหมือนเช่นสหรัฐฯ ในตอนนี้ เจแปนไทม์สชี้
โดยทางสื่อญี่ปุ่นกล่าวว่า โดยเฉพาะในสมัยชุดรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ที่ตลอดมาทางโตเกียวได้แสดงจุดยืนต่อการสนับสนุนรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ “ที่ต้องการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้มากที่สุดต่อเกาหลีเหนือ”
ปฏิกิริยาจากโตเกียวต่อท่าทีของทิลเลอร์สัน หัวหน้าเลขาคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น โยชิฮิเดะ ซูงะ ได้กล่าวตอบคำถามในวันนี้(13)ว่า โตเกียวและญี่ปุ่นยังคงเห็นด้วย 100% ต่อการคงการกดดันต่อไป
สอดคล้องกับแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นที่ออกมาให้ความเห็นในวันเดียวกัน (13) ถึง ความจำเป็นที่จะยังคงแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือเพื่อให้เปียงยางยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ โดยกล่าวว่า “เป็นการง่ายที่จะยืดหยุ่น” และกล่าวต่อว่า “แต่ควรเป็นทางเกาหลีเหนือที่ต้องยืดหยุ่น”
ก่อนหน้าการเจรจา แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นยืนยันว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จำเป็นต้องมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากต่อปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือ
“นี่เป็นเหมือนจุดบอดของฝ่ายรัฐบาลอาเบะ ที่ยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปิดการเจรจา เว้นแต่จะมีข้อตกลงที่จริงจังและผูกพันในการปลดอาวุธนิวเคลียร์” เจ เบิร์กไชร์ มิลเลอร์ (J. Berkshire Miller) ศาสตราจารย์พิเศษประจำสถาบันญซี่ปุ่นด้านกิจการระหว่างประเทศในกรุงโตเกียว ให้ความเห็น
มิลเลอร์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า อาจจะทำให้เกิดการหยุดความร่วมมือในการซ้อมรบระหว่างสหรฐฯและเกาหลีใต้ และการหารือที่ถูกผลักดันออกมาจากทางฝั่งโซล ปักกิ่ง และมอสโก ส่งผลจะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นของอาเบะถูกผลักออกไปนอกวง ซึ่งหากดำเนินต่อไปจะกระทบอย่างร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ พร้อมกับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ และศักยภาพในขอบเขตการปกป้อง
เจแปนไทม์รายงานต่อว่า มีร่องรอยที่บ่งชี้ว่า ทางวอชิงตันพยายามหาทางการเปิดเจรจากับเกาหลีเหนือโดยตรง เมื่อพบว่าสหรัฐฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านนโยบายเกาหลีเหนือ โจเซฟ ยุน (Joseph Yun) ที่ได้ไปเข้าพบกับ เคนจิ คานาซูงิ (Kenji Kanasugi) ผู้อำนวยการใหญ่แผนกเอเชียและโอเชียนเนียนสัมพันธ์ประจำกระทรวงต่างประเทศ ในกรุงโตเกียว ก่อนที่ทางตัวแทนสหรัฐฯจะบินไปพบกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเกาหลีเหนือที่ไทยในวันพรุ่งนี้ (14) อ้างอิงจากสำนักข่าวยอนฮับ
สื่อญี่ปุ่นยังได้ตั้งข้อสงสัยถึงความพยายามของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในการที่จะเปิดช่องทางการเจรจาทางการทูตโดยตรงกับเกาหลีเหนือนั้น ได้รับการสนับสนุนจากทางทำเนียบขาวหรือไม่ โดยชี้ไปที่การแถลงอย่างกำกวมของทางทำเนียบขาวที่ไม่ได้ระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงแบบ 360 องศานี้หรือไม่ เพราะก่อนหน้า ทางทิลเลอร์สันเคยแสดงความต้องการในการเปิดการเจรจา แต่ทว่าทรัมป์ได้ทวีตในเดือนตุลาคมออกมาว่า “เป็นความพยายามที่เปล่าประโยชน์ ขอให้เก็บแรงเอาไว้”
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุดพบว่า ในการแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯในวันอังคาร (12) มีการออกมาเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ***สหรัฐฯ และจีนได้ร่วมหารือเป็นครั้งแรก ถึงประเด็นที่ทั้ง 2 ชาติจะร่วมรับมืออย่างไรต่อการเกิดสงครามหากปะทุขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลี หรือในสถานการณ์ที่รัฐบาลเกาหลีเหนือเกิดล้มขึ้นมา***
ทางทิลเลอร์สันยืนยันว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดต่อสหรัฐฯ คือ ต้องเข้าไปควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่ทางเปียงยางได้พัฒนาไว้ทั้งหมด และต้องไม่ให้ตกอยู่ในมือของงกลุ่มอื่นที่ทางรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ใช้คำว่า “nonstate actors”
ในการแถลง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังประกาศว่า ทางอเมริกาได้ออกมาให้คำมั่นกับทางรัฐบาลปักกิ่งว่า หากเกิดในกรณีที่กองกำลังสหรัฐฯ ได้เคลื่อนเข้าไปหลังเส้นแบ่งเขตแดนคู่ขนานที่ 38 ซึ่งกั้นระหว่างสองชาติเกาหลี ทางสหรัฐฯ ขอให้คำมั่นว่ากองกำลังสหรัฐฯ จะถอนกลับมาเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว
“นี่เป็นคำมั่นที่ทางฝ่ายเราได้ให้ไว้แก่พวกเขา จุดประสงค์เดียวของเราคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี และนั่นเป็นสิ่งเดียว” เร็กซ์ ทิลเลอร์สันแถลง