รอยเตอร์ - เจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกคำสั่งวานนี้ (22 พ.ย.) ให้มีการทบทวนฐานข้อมูลของรัฐที่ใช้สำหรับตรวจสอบประวัติบุคคลที่จะซื้ออาวุธปืน หลังพบว่าคนร้ายซึ่งก่อเหตุกราดยิงคนตาย 26 ศพในโบสถ์รัฐเทกซัสไม่มีชื่อในอยู่สารบบ ทั้งที่เคยมีประวัติก่ออาชญากรรม
เซสชันส์ระบุว่า เหตุกราดยิงโบสถ์ที่เมืองซัทเธอร์แลนด์สปริงส์ รัฐเทกซัส เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งคนร้ายเป็นอดีตทหารอากาศที่เคยตกเป็นผู้ต้องหาก่อความรุนแรงในครอบครัวเมื่อปี 2012 แสดงให้เห็นว่ายังมีข้อมูลที่จำเป็นอีกหลายอย่างที่ไม่ได้ถูกบันทึกลงในระบบตรวจสอบประวัติอาชญากรรมแห่งชาติ (National Instant Criminal Background Check - NICS) และตนได้สั่งการให้สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และสำนักงานควบคุมแอลกอฮอล์ ยาสูบ ปืน และวัตถุระเบิด (U.S. Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives - ATF) ดำเนินการสอบทานอย่างละเอียดถี่ถ้วน และส่งรายงานให้ทราบว่าจะมีมาตรการป้องกันอย่างไรมิให้บุคคลอันตรายเหล่านี้สามารถซื้อปืนได้ง่ายๆ
เดวิน เคลลี ซึ่งควงปืนไรเฟิลบุกเข้าไปกราดยิงคนในโบสถ์เฟิสต์แบปติสต์ ในเมืองซัทเธอร์แลนด์สปริงส์ จนมีผู้เสียชีวิต 26 ราย บาดเจ็บอีก 20 คน เคยถูกศาลทหารตัดสินว่ามีประวัติทำร้ายภรรยาและลูกเลี้ยงเมื่อปี 2012 และถูกพิพากษาว่า “ประพฤติชั่ว” จนโดนไล่ออกจากกองทัพ
กฎหมายสหรัฐฯ ห้ามการจำหน่ายหรือมอบปืนให้แก่ผู้ใดก็ตามที่ถูกศาลตัดสินว่าก่ออาชญากรรมความรุนแรงในครอบครัวต่อคู่สมรสหรือเด็ก แต่ปรากฏว่า เคลลี ยังสามารถซื้อปืนจากร้าน Academy Sports + Outdoors ที่เมืองแซนแอนโทนิโอได้ถึง 2 ครั้งในปี 2016 โดยทางร้านยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายด้วยการเช็คข้อมูลผ่านระบบ NICS แต่ไม่ปรากฏ “ธงแดง”
กองทัพอากาศสหรัฐฯ ยอมรับเมื่อวันที่ 6 พ.ย.ว่าไม่เคยส่งประวัติอาชญากรรมของอดีตนายทหารผู้นี้ให้ทางตำรวจทราบมาก่อน ซึ่งหากข้อมูลดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลของเอฟบีไอ ก็อาจจะทำให้เขาไม่สามารถซื้อปืนมาก่อเหตุได้
เซสชันส์ ยังสั่งให้เอฟบีไอและเอทีเอฟตรวจสอบด้วยว่า กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลได้รายงานข้อมูลเพื่อบันทึกลงใน NICS อย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
คณะกรรมการกิจการกองทัพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แถลงเมื่อต้นเดือน พ.ย. ว่าจะดำเนินการสืบสวนสาเหตุที่กองทัพอากาศไม่ได้แจ้งประวัติอาชญากรรมของ เคลลี ให้เอฟบีไอทราบ