เอเจนซีส์ - แนนซี เปโลซี ผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เรียกร้องเจฟ เซสชันส์ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม หลังถูกแฉเคยคุยกับทูตรัสเซียในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี ซ้ำปิดบังข้อมูลเมื่อถูกสภาซักไซ้ นอกจากนี้ สมาชิกเดโมแครตอีกหลายคนยังเรียกร้องให้เซสชันส์ถอนตัวจากการสอบสวนเกี่ยวกับความพยายามของมอสโกในการแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับวันพุธ (1 มี.ค.) รายงานว่า เซสชันส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯจากรัฐแอละแบมาจนกระทั่งหมดวาระเมื่อต้นปีนี้ และได้เปิดหน้าสนับสนุนทรัมป์ตั้งแต่ที่มหาเศรษฐีนิวยอร์กผู้นี้ประกาศลงเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2016 รวมทั้งยังเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายให้ทรัมป์นั้น พบกับเซอร์เก คิซิลยาค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำวอชิงตัน 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคมและกันยายนปีที่แล้ว
วอชิงตันโพสต์ลงรายละเอียดการพบกับคิซิลยาคในเดือนกันยายนว่า เป็นการพบปะส่วนตัวในห้องทำงานของเซสชันส์เมื่อเดือนกันยายน ซึ่งตัวเขาดำรงตำแหน่งสมาชิกอาวุโสในคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา และที่ปรึกษาระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ และยังเป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯระบุว่า รัสเซียกำลังซุ่มเจาะระบบข้อมูลของอเมริกาอย่างหนักเพื่อแทรกแซงการเลือกตั้งประมุขทำเนียบขาวและสนับสนุนทรัมป์ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งทรัมป์และมอสโกปฏิเสธ
ทว่า ในการให้ปากคำต่อวุฒิสภาเพื่อขอให้อนุมัติการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมของเขานั้น เมื่อถูก แอล แฟรงเคน วุฒิสมาชิกจากเดโมแครต ถามว่า ได้รับรู้หลักฐานว่า มีคนในทีมหาเสียงของทรัมป์ติดต่อกับรัฐบาลรัสเซียระหว่างการหาเสียงเมื่อปีที่แล้วหรือไม่ เซสชันส์กลับบอกว่า ไม่รู้ไม่เห็นว่ามีกิจกรรมทำนองนั้นเกิดขึ้น และสำทับว่า ตนเป็นตัวแทนในแคมเปญหาเสียงของทรัมป์เพียงหนึ่งหรือสองครั้ง และไม่เคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียเลย
ภายหลังการรายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์ เปโลซี ผู้นำพรรคเดโมแครตในสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาวิจารณ์ว่า เซสชันส์ให้การเท็จต่อเจ้าหน้าที่ภายใต้คำสาบาน และเรียกร้องให้เขาลาออกจากกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนหาความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างทีมหาเสียงของทรัมป์กับเจ้าหน้าที่รัสเซีย
แต่ ซาราห์ เอสเกอร์ ฟลอเรส โฆษกกระทรวงยุติธรรมแถลงผ่านทวิตเตอร์ว่า เซสชันส์ไม่เคยหารือรายละเอียดการหาเสียงกับเจ้าหน้าที่รัสเซีย
ขณะเดียวกัน กระทรวงยุติธรรมเปิดเผยว่า เซสชันส์เคยพบปะหารือกับเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ถึง 25 ครั้งขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา และ 2 ครั้งในจำนวนนี้เป็นการพบกับคิซิลยาค
เจ้าหน้าที่หลายคนบอกกับวอชิงตันโพสต์ว่า เซสชันส์ไม่คิดว่า การคุยกับทูตรัสเซีย มีความเกี่ยวข้องกับคำถามของแฟรงเคน รวมทั้งจำรายละเอียดการพูดคุยไม่ได้แล้ว และเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมบางคนยังบอกว่า เซสชันส์พบกับคิซิลยาคในบทบาทสมาชิกคณะกรรมาธิการการทหาร ไม่ใช่ตัวแทนทีมหาเสียงของทรัมป์
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนที่แล้ว ไมเคิล ฟลินน์ เพิ่งสังเวยข่าวฉาวเรื่องการที่เขาหารือกับทูตรัสเซียทำนองนี้ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ หลังถูกเปิดโปงว่า เขาเคยคุยกับคิซิลยาคเรื่องการแซงก์ชันรัสเซีย ก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่ง อันเป็นการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย แถมเขายังเล่าความเท็จทำให้รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้
นอกจากการเรียกร้องของเปโลซี แล้ว ทางด้านวอชิงตันโพสต์คาดว่า ข่าวล่าสุดของเซสชันส์อาจโหมกระพือเสียงเรียกร้องให้รัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อสอบสวนบทบาทของรัสเซียในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในฐานะรัฐมนตรียุติธรรม เซสชันส์มีอำนาจรับผิดชอบหน่วยงานในกระทรวง ซึ่งรวมถึงสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) ที่เป็นแกนนำการสอบสวนกรณีการแทรกแซงของเครมลิน และความเชื่อมโยงกับเหล่าผู้ช่วยของทรัมป์ โดยที่เซสชันส์นั้นยืนกรานมาตลอดว่า จะไม่ยอมถอนตัวจากการสอบสวนเหล่านั้น
กระนั้น เมื่อวันพุธ (1) ที่ผ่านมา หลังจากรายงานของวอชิงตันโพสต์แพร่หลายออกไป แฟรงเคนออกมาสำทับว่า ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนว่า รัฐมนตรียุติธรรมไม่สามารถควบคุมการสอบสวนของกระทรวงและเอฟบีไอในเรื่องความเชื่อมโยงของทรัมป์กับมอสโก อย่างสุจริตได้เสียแล้ว ดังนั้น จึงควรถอนตัวจากการสอบสวนเหล่านั้นทันที
อดัม ชิฟฟ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ และเป็นผู้นำของพรรคเดโมแครตในคณะกรรมาธิการข่าวกรองสภาล่าง ก็ออกมาแถลงเห็นด้วยกับแฟรงเคน
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการชุดนี้ได้ออกคำแถลงว่า ชิฟฟ์และเดวิน นูเนส ประธานคณะกรรมาธิการ มีความเห็นพ้องต้องกันแล้วในเรื่องการจัดการสอบสวนเพื่อหาความเกี่ยวพันระหว่างรัสเซียกับการเลือกตั้งของสหรัฐฯ โดยที่มีการจัดทำเอกสารความยาว 6 หน้าที่สรุปขอบเขตการสอบสวนนี้ ทั้งนี้คำถามหนึ่งที่คณะกรรมาธิการต้องการคำตอบก็คือ สิ่งที่ฝ่ายรัสเซียดำเนินการนั้นมีเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างรัสเซียกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแคมเปญหาเสียงหรือบุคลากรอื่นใดของสหรัฐฯด้วยหรือไม่
นูเนสนั้นสังกัดพรรครีพับลิกันและเป็นสมาชิกคนหนึ่งในทีมรับมอบอำนาจประธานาธิบดีของทรัมป์ด้วย