xs
xsm
sm
md
lg

รมต.กลาโหมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ชี้ “โสมแดง” กำลังเป็นภัยคุกคามขั้นร้ายแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ออกคำแถลงร่วมในวันนี้ (24 ต.ค.) ระบุโครงการพัฒนาจรวดและนิวเคลียร์เกาหลีเหนือถือเป็น “ภัยคุกคามร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” สำหรับทั้ง 3 ชาติ พร้อมประกาศจะขยายความร่วมมือด้านการทหาร และเพิ่มแรงกดดันทางการทูตต่อเปียงยาง

สถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีร้อนระอุหนักในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ หลังจากเกาหลีเหนือลงมือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 และยิงขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีป (ICBM) ที่เชื่อกันว่าสามารถโจมตีแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ ได้เกือบทุกภูมิภาค

“รัฐมนตรีทั้งสามขอประณามด้วยถ้อยคำรุนแรงที่สุดต่อพฤติกรรมยั่วยุที่เกาหลีเหนือยังคงแสดงออกอย่างต่อเนื่อง” เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ, อิตสุโนริ โอโนเดระ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น และ ซอง ยังมู รัฐมนตรีกลาโหมเกาหลีใต้ ระบุในถ้อยแถลงร่วม หลังการประชุมด้านความมั่นคง 3 ฝ่ายที่ฟิลิปปินส์

“ทั้งสามยังเรียกร้องให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธซึ่งมิชอบด้วยกฎหมาย อย่างสมบูรณ์แบบ ตรวจสอบได้ และไม่สามารถหวนกลับไปได้อีก”

สหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งสองยังให้คำมั่นว่าจะบังคับใช้มติคว่ำบาตรที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สั่งลงโทษเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง และแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น

แมตทิส จะเข้าร่วมการประชุมกลาโหมประจำปีที่กรุงโซลในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนเกาหลีใต้ในเดือนหน้า

หลายฝ่ายเฝ้าจับตาว่า ทรัมป์จะพูดถึงเกาหลีเหนืออย่างไรบ้าง หลังจากที่เขาและผู้นำคิม จองอึน ได้ขู่ทำสงครามและใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยามซึ่งกันและกันตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

เมื่อไม่นานมานี้ ทรัมป์ออกมาพูดอย่างเป็นปริศนาว่า “มีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะใช้ได้ผล” กับเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่บอกว่าคืออะไร ซึ่งทำให้หลายคนเกรงว่าจะเกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม บรรดาที่ปรึกษาทำเนียบขาวยอมรับว่าสหรัฐฯ มีตัวเลือกทางทหาร “ค่อนข้างจำกัด” เพราะต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของเมืองหลวงเกาหลีใต้ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน และอยู่ห่างจากชายแดนสองเกาหลีเพียงราวๆ 50 กิโลเมตร ซึ่งอาจถูกโสมแดงยิงถล่มได้ทุกเมื่อ

แมตทิส ยังได้ร่วมหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมจาก 10 ชาติอาเซียนที่เมืองคลาร์ก ทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ โดยเน้นไปที่ปัญหาเกาหลีเหนือ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องขยายความร่วมมือในการต่อต้านแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง เพื่อสกัดภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธ เช่น รัฐอิสลาม (ไอเอส) รวมถึงพวกนักรบชาวเอเชียที่อาจหวนกลับมาก่อเหตุโจมตีในบ้านเกิด

รัฐบาลฟิลิปปินส์แถลงวานนี้ (23) ว่า สงครามกับกลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่ไอเอสที่ยึดเมืองมาราวีไว้นานถึง 5 เดือน และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1,100 คน ปิดฉากลงแล้วอย่างสมบูรณ์ หลังจากมือปืนกบฏชุดสุดท้ายถูกปราบอย่างราบคาบภายในมัสยิดแห่งหนึ่ง

แม้จุดจบของสงครามมาราวีจะทำให้ไอเอสหมดโอกาสสร้างฐานปฏิบัติการแห่งใหม่ในเอเชียได้ในเร็วๆ นี้ แต่เป้าหมายและศักยภาพของพวกเขาในระยะยาวก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกประเทศต้องเฝ้าระวังกันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น