xs
xsm
sm
md
lg

“ประวิตร” แจงที่ประชุมร่วม รมว.กห.อาเซียน-ชาติคู่เจรจา ย้ำไทยเน้นสร้างสัมพันธ์ ริเริ่มร่วมมือใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
โฆษกกระทรวงกลาโหม เผยที่ประชุมร่วม รมว.กห.อาเซียน-ชาติคู่เจรจา รับทราบการทำงานร่วม 7 ด้าน ชงกระชับความร่วมมือความมั่นคงและทหาร ทำงานตามกฎหมายสากล เลี่ยงใช้กำลัง เน้นเจรจาทางทูต ระบุ “ประวิตร” แจงภัยคุกคามข้ามชาติและซับซ้อน ต้องผสานความคิด รอบคอบ ย้ำกห.ไทย เน้นสร้างสัมพันธ์ ริเริ่มความร่วมมือใหม่ ขอบคุณทุกชาติส่งกองเรือเข้าร่วมมหกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติ

วันนี้ (24 ต.ค.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยผลการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน ครั้งที่ 11 ณ เมืองคลาร์ก จังหวัดปัมปังกา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ว่า รมว.กลาโหมอาเซียน และ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้รับทราบร่วมกันถึงพัฒนาการล่าสุดของอาเซียน และการทำงานร่วมกับประเทศคู่เจรจาทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ความมั่นคงทางทะเล การแพทย์ทหาร การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความมั่นคงของภูมิภาค โดยมีความกังวลร่วมกันต่อปัญหาทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี การก่อการร้าย และปัญหาในรัฐยะไข่ โดยเสนอให้กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหาร และทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องตามหลักกฎหมายสากลและระเบียบปฏิบัติร่วมที่กำหนด บนพื้นฐานความเท่าเทียมและประโยชน์ร่วม หลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่ใช้กำลังทหาร โดยใช้การเจรจาหารือทางการทูตและช่องทางสื่อสารตรง รวมทั้งประสานเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด บนความริเริ่มความร่วมมือใหม่ เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียน สามารถเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงร่วมกัน

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้แสดงทัศนะต่อที่ประชุมถึงภัยคุกคามปัจจุบันที่มีลักษณะข้ามชาติและซับซ้อน การแก้ไขปัญหาจึงต้องผสมผสานความคิดและมีความรอบคอบ ร่วมมือกันพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วนในทุกมิติแบบองค์รวมที่มุ่งความยั่งยืน บนหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักสันติวิธี โดยคำนึงถึงภัยคุกคามที่พัฒนาการมากับเทคโนโลยี ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ จำเป็นต้องอ่อนตัวเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคต่อไป และย้ำว่ากลาโหมไทยตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความสัมพันธ์และการริเริ่มความร่วมมือใหม่ในทุกมิติ ภายใต้กลไกกลาโหมอาเซียนและกลาโหมประเทศคู่เจรจา เพื่อประสิทธิภาพของพัฒนาการการทำงานความมั่นคงร่วมกันของภูมิภาค พร้อมทั้งขอขอบคุณทุกประเทศที่ส่งกองเรือเข้าร่วมมหกรรมสวนสนามทางเรือนานาชาติในโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือน พ.ย. 60 ณ เมืองพัทยา หลังจากนั้นที่ประชุมได้ร่วมพิธีส่งมอบหน้าที่ การเป็นประธานการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียนในปี 2561 จากกลาโหมฟิลิปปินส์ให้แก่กลาโหมสิงคโปร์

พล.ท.คงชีพกล่าวอีกว่า การประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน และการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน กับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ถือเป็นกลไกสูงสุดและสำคัญยิ่งด้านความมั่นคงของภูมิภาคที่จะร่วมกันสร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน บนบทบาทและจุดยืนที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกันในภูมิภาค
กำลังโหลดความคิดเห็น