xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลกลางอิรักกล่าวหาชาวเคิร์ด ‘ประกาศสงคราม’ เพิ่มความตึงเครียดที่ศึกจะระเบิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>กองกำลังฝ่ายรัฐบาลอิรักเคลื่อนทัพไปใกล้ๆ ที่มั่นของกองกำลังเพชเมอร์กาของชาวเคิร์ด เมื่อวันอาทิตย์ (15 ต.ค.) บริเวณชานเมืองตอนใต้ของเมืองเคอร์คุก เมืองเอกของจังหวัดชื่อเดียวกัน  ทั้งนี้รัฐบาลอิรักขีดเส้นตายให้กองกำลังชาวเคิร์ดถอนตัวออกจากที่มั่นเหล่านี้ ภายหลังฝ่ายเคิร์ดจัดการลงประชามติซึ่งปรากฏผลว่าพวกเขาส่วนใหญ่มากมายท่วมท้นต้องการให้แยกตัวจากอิรักไปเป็นประเทศเอกราช </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รัฐบาลกลางอิรัก ระบุ เมื่อวันอาทิตย์ (15 ต.ค.) ว่า กองกำลังชาวเคิร์ดจากต่างประเทศกำลังปรากฏตัวอยู่ในจังหวัดเคอร์คุก ซึ่งมีความหมายเท่ากับเป็น “การประกาศสงคราม” นับเป็นการเพิ่มทวีความตึงเครียดให้แก่ข้อพิพาทที่แบกแดดมีอยู่กับชาวเคิร์ดในอิรัก

ทางด้านเจ้าหน้าที่ชาวเคิร์ดพากันออกมาปฏิเสธข้ออ้างของแบกแดดที่ว่า กองกำลังอาวุธจากพรรคแรงงานชาวเคิร์ด (Kurdistan Workers' Party หรือ PKK) ซึ่งเป็นกลุ่มนอกกฎหมายในตุรกี ปรากฏตัวปะปนอยู่ในหมู่นักรบชาวเคิร์ดในอิรัก ที่มีชื่อเรียกกันว่า กองทัพ “เพชเมอร์กา” ด้วย ในการเคลื่อนกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์เผชิญหน้ากับกองทัพอิรัก ในจังหวัดเคอร์คุกที่อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำมัน

ทว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ไฮเดอรื อัล-อาบาดี ยืนยันว่า มีนักรบในกองกำลังของ PKK ปะปนอยู่ในหมู่ “นักรบที่มิได้ขึ้นกับกองกำลังความมั่นคงตามปกติในจังหวัดเคอร์คุก” พร้อมกับพูดด้วยว่า เรื่องนี้คือ “การยกระดับ (การเผชิญหน้า) ที่มีอันตราย”

“เป็นไปไม่ได้ที่จะยังคงเงียบเฉย” เมื่อประสบกับ “การประกาศสงครามต่อชาวอิรักและกองกำลังอาวุธรัฐบาล” เช่นนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติอิรักระบุในคำแถลงวันอาทิตย์ (15)

“รัฐบาลกลางและกองกำลังอาวุธตามปกติ จะปฏิบัติหน้าที่ของพวกตนในการปกป้องคุ้มครองประชาชนอิรักทุกๆ ส่วน ซึ่งก็รวมถึงชาวเคิร์ดด้วย และในการปกป้องคุ้มครองอำนาจอธิปไตยและความเป็นเอกภาพของอิรัก” คำแถลงกล่าวต่อ
<i>กองกำลังอิรักรวมพลในพื้นที่ของทาซา คูร์มาตา ทางชานเมืองด้านใต้ของเมืองเคอร์คุกเมื่อวันอาทิตย์ (15 ต.ค.) </i>
นายพล จาบาร์ ยาเวอร์ ผู้คุมกระทรวงเพชเมอร์กาของเคอร์ดิสถาน ดินแดนปกครองตนเองของชาวเคิร์ดในอิรัก เป็นผู้หนึ่งที่ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลกลางอิรัก “ไม่มีกองกำลัง PKK ใดๆ เลยในเคอร์คุก มีเพียงอาสาสมัครบางคนซึ่งเป็นพวกเห็นอกเห็นใจ PKK” เขากล่าว

คำแถลงของแบกแดดออกมาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะหมดเวลากำหนดเส้นตายใหม่ของอิรัก ซึ่งบอกให้พวกนักรบเพชเมอร์กาถอนตัวออกไปจากพื้นที่พิพาทต่างๆ ในจังหวัดเคอร์คุก ที่พวกเขาเข้ายึดครองเอาไว้เมื่อปี 2014 ระหว่างการสู้รบตีโต้ขับไล่กลุ่มนักรบญิฮาด “รัฐอิสลาม” (ไอเอส)

การเจรจาเพื่อคลี่คลายวิกฤตเมื่อวันอาทิตย์ (15) แทบไม่มีความคืบหน้าอะไรในการแก้ไขการเผชิญหน้ากันระหว่างกองกำลังของชาวเคิร์ดกับกองกำลังของชาวอิรักในจังหวัดนี้ ขณะที่เวลาล่วงเลยมา 3 สัปดาห์แล้วภายหลังเคอร์ดิสถานจัดการออกเสียงลงประชามติว่าควรจะแยกตัวออกจากอิรักไปเป็นประเทศเอกราชหรือไม่ ถึงแม้รัฐบาลอิรักห้ามปรามด้วยท่าทีแข็งกร้าวไม่ให้เคลื่อนไหวเรื่องนี้

การเจรจาหารือที่ไม่บังเกิดผล

ประธานาธิบดี ฟูอัด มาซุม ของอิรัก ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นชาวเคิร์ดคนหนึ่ง ได้พบปะหารือกับ มัซซุด บาร์ซานี ผู้นำของเคอร์ดิสถาน ที่เมืองดูคาน ของจังหวัดสุไลมานิยะห์ เป็นเวลาหลายชั่วโมง ภายหลังจากกำหนดเส้นตายของรัฐบาลอิรักที่ให้ฝ่ายเคิร์ดถอนตัวจากพื้นที่ต่างๆ ในเคอร์คุก ถูกยืดขยายออกไปอีก 1 วัน

คำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกมาภายหลังการหารือคราวนี้ไม่ได้เอ่ยถึงข้อเรียกร้องให้ถอนกองกำลังเพชเมอร์กากลับไป ตรงกันข้ามกลับย้ำอีกครั้งถึงข้อเสนอของฝ่ายเคิร์ดที่ให้รัฐบาลกลางพูดจาสนทนากับฝ่ายตน รวมทั้งเตือนว่า “การใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงหรือการเคลื่อนไหวทางทหาร” โดยกองกำลังอาวุธชาวอิรัก จะเป็นการทำลายความหวังที่จะสามารถแก้ไขปัญหากันอย่างสันติ
<i>นักรบกองทัพเพชเมอร์กาของเคอร์ดิสถาน ยืนสังเกตการณ์อยู่บนหลังคาอาคารแห่งหนึ่ง ขณะพวกเขาเฝ้ารักษาที่มั่นซึ่งอยู่ตรงข้ามคนละฟากแม่น้ำกับกองกำลังของอิรัก ณ ชานเมืองทางด้านใต้ของเมืองเคอร์คุกเมื่อวันอาทิตย์ (15 ต.ค.) </i>
ด้าน เฮมิน ฮาวรามี ที่ปรึกษาคนหนึ่งของบาร์ซานี ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า พรรคการเมืองหลักของชาวเคิร์ดทั้ง 2 พรรค ได้แก่ พรรค KDP และพรรค PUK ต่างเห็นพ้องต้องกันให้ “ปฏิเสธข้อเรียกร้องใดๆ ก็ตามที่จะให้ยกเลิกผลลัพธ์ของการลงประชามติ” รวมทั้งให้ปฏิเสธการตั้งเงื่อนไขใดๆ ให้ฝ่ายเคิร์ดต้องปฏิบัติตาม ก่อนการเจรจากับรัฐบาลกลางอิรัก

ทั้งนี้ แบกแดดเรียกร้องให้ฝ่ายเคิร์ดโยนทิ้งผลของการลงประชามติที่มิได้มีผลผูกพันทางกฎหมายเมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายที่ต้องการให้เคอร์ดิสถาน ประกาศเอกราชนั้นได้คะแนนเสียงชนะแบบท่วมท้น

ความตึงเครียดได้เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากการโหวตคราวนี้ ทำให้เกิดความกลัวเกรงกันว่าวิกฤตครั้งนี้จะทำให้อิรักต้องตกอยู่ในความวุ่นวายอลหม่านอีกครั้ง ทั้งๆ ที่กองกำลังอาวุธของประเทศใกล้ที่จะสามารถขับไล่พวกไอเอสให้พ้นจากดินแดนสุดท้ายในอิรักที่นักรบญิฮาดกลุ่มนี้ยังยึดครองอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น