เอเจนซีส์ - ชาวเคิร์ดทางตอนเหนือของอิรักพร้อมใจกันเข้าคูหาลงประชามติแยกตัวครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) โดยไม่สนใจแรงกดดันจากแบกแดด ตลอดจนคำขู่จากอิหร่านและตุรกี ขณะที่สหรัฐฯ ออกโรงเตือนว่าทำเช่นนี้มีแต่จะยิ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพ
ผลประชามติในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานและพื้นที่พิพาทบางแห่งนั้นไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย และไม่ได้นำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสระจากอิรักโดยอัตโนมัติ แต่ชาวเคิร์ดก็ยังมองว่านี่เป็นก้าวสำคัญสู่การมีรัฐเอกราชเป็นของตนเอง
สำนักข่าวเอเอฟพีอ้างข้อมูลจาก ชีร์วาน ซิราร์ โฆษกคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งให้สัมภาษณ์เมื่อค่ำวานนี้ (25) ว่า มีผู้คนออกมาใช้สิทธิราว 3.3 ล้านคน หรือ 72% ของจำนวนผู้ลงทะเบียน 4.58 ล้านคน โดยก่อนที่จะเริ่มลงประชามติ ทางคณะกรรมการได้แจ้งตัวเลขผู้ลงทะเบียนเอาไว้สูงถึง 5.3 ล้านคน
ชาวเคิร์ดที่ร่วมลงประชามติจะต้องเลือกตอบ “เยส” หรือ “โน” ต่อคำถามที่ว่า “ท่านต้องการให้เขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน และพื้นที่ของชาวเคิร์ดนอกเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถาน กลายเป็นประเทศอิสระหรือไม่”
ผลประชามติคาดว่าจะถูกประกาศภายใน 24 ชั่วโมง และคงจะมีผู้โหวต “เยส” อย่างล้นหลาม
แม้บรรยากาศการทำประชามติจะเป็นไปอย่างครื้นเครงและราบรื่น แต่ก็เริ่มมีสัญญาณความตึงเครียดเมื่อสหรัฐฯ ออกมาแสดงความ “ผิดหวังอย่างยิ่ง” ที่ผู้นำชาวเคิร์ดตัดสินใจเดินหน้าทำประชามติโดยไม่ฟังเสียงทัดทาน
“ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และประชาชนในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากผลประชามติที่ไร้ข้อผูกพันในวันนี้ แต่เราเชื่อว่ามันจะบ่อนทำลายเสถียรภาพ และเพิ่มความยากลำบากให้แก่เคอร์ดิเคอร์ดิสถานและพลเมืองที่นั่น” ฮีทเธอร์ เนาเอิร์ท โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
ด้านเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ก็แสดงความเป็นห่วงว่าประชามติคราวนี้อาจก่อให้เกิด “ความระส่ำระสาย” ตามมา พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของอิรัก และแก้ไขความเห็นต่างด้วยวิธีเจรจาและคำมั่นสัญญาที่สร้างสรรค์
สมาชิกรัฐสภาอิรักในกรุงแบกแดดยืนยันว่าการทำประชามติในเคอร์ดิสถาน “ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” และเรียกร้องให้รัฐบาลส่งทหารเข้าไปยังพื้นที่พิพาทที่มีการจัดทำประชามติ
นายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อาบาดี แห่งอิรักสั่งให้หน่วยงานความมั่นคง “ปกป้องพลเมืองอิรักที่ถูกข่มขู่” หลังมีกระแสข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า ชาวอาหรับในเมืองทางตะวันออกของอิรักถูกกดดันให้โหวต “เยส” ขณะที่เจ้าหน้าที่เคิร์ดยืนยันว่า ไม่มีการข่มขู่เช่นนั้นเกิดขึ้น
ระหว่างแถลงข่าวผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อวานนี้ (25) อาบาดี ระบุว่าการทำประชามติของชาวเคิร์ดขัดต่อรัฐธรรมนูญของอิรัก และแบกแดดจะไม่ยอมเจรจาเรื่องนี้เด็ดขาด
“เราจะไม่ยอมรับผลที่ออกมา และประชาคมโลกหรือองค์กรไหนๆ ก็จะไม่ยอมรับเช่นกัน” ผู้นำอิรักกล่าว
ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่มองว่า การจัดประชามติคราวนี้เป็นสิทธิ์ที่พวกเขาพึงได้จากการช่วยขับไล่กลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) หลังจากที่กองทัพอิรักเพลี่ยงพล้ำปล่อยให้ไอเอสยึดครองดินแดนถึง 1 ใน 3 ของประเทศได้ในปี 2014
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีคนเชื้อสายเคิร์ดราว 30 ล้านคนกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งภูมิภาค โดยเฉพาะในอิรัก อิหร่าน ตุรกี และซีเรีย รัฐบาลเตหะรานและอังการาจึงเกรงว่าชัยชนะของพวกเคิร์ดในอิรักจะทำให้ชาวเคิร์ดกลุ่มน้อยในประเทศตนคิดเหิมเกริมแบ่งแยกดินแดนขึ้นมาบ้าง
ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ขู่จะลงโทษเคอร์ดิสถานด้วยการปิดกั้นท่อส่งน้ำมันจากภาคเหนือของอิรักออกไปยังโลกภายนอก
“หลังจากนี้มาดูกันซิว่า รัฐบาลเคิร์ดทางเหนือของอิรักจะส่งออกน้ำมันได้อย่างไร และจะเอาน้ำมันไปขายที่ไหนได้” แอร์โดอัน แถลงที่นครอิสตันบูล
“เราเป็นฝ่ายคุมก๊อกอยู่ ถ้าเราปิดก๊อกเมื่อไหร่ พวกเขาก็จบเมื่อนั้น”