เอเจนซีส์ - สหรัฐฯ และตุรกีจำกัดการออกวีซ่าให้แก่พลเมืองของกันและกัน โดยอ้างว่าจำเป็นต้องทบทวนเจตนารมณ์ของอีกฝ่ายในการปกป้องบุคลากร หลังลูกจ้างชาวตุรกีประจำสถานกงสุลสหรัฐฯ ถูกทางการอังการาจับกุมและตั้งข้อหาจารกรรมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ลูกจ้างประจำสถานกงสุลอเมริกันในนครอิสตันบูลถูกจับด้วยข้อหามีส่วนพัวพันกับนักการศาสนา “เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน” ซึ่งรัฐบาลตุรกีเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
สหรัฐฯ ชี้ว่าเรื่องนี้ไม่มีมูล และตำหนิการกระทำของตุรกีว่าเป็นการบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างพันธมิตรนาโต
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้สหรัฐฯ ต้องทบทวนเจตนารมณ์ของรัฐบาลตุรกีในการรับรองความปลอดภัยให้แก่คณะทูตและบุคลากรของสหรัฐฯ” สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงอังการาแถลง
“เพื่อลดจำนวนผู้มาเยือนสถานทูตและสถานกงสุลให้เหลือน้อยที่สุดระหว่างการประเมิน สำนักงานการทูตสหรัฐฯ ทุกแห่งในตุรกีจึงขอระงับบริการออกวีซ่าชั่วคราว (non-immigrant visa) ทุกประเภท โดยมีผลทันที”
วีซ่าชั่วคราวจะออกให้สำหรับผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยว รักษาพยาบาล ทำธุรกิจ ทำงานชั่วคราว หรือศึกษาเล่าเรียนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตรงข้ามกับวีซ่าถาวร (Immigrant Visa) ที่จะออกให้แก่ผู้ที่มีความประสงค์จะย้ายถิ่นฐานไปสหรัฐอเมริกาอย่างถาวร
หลังจากนั้นไม่นาน สถานทูตตุรกีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ประกาศงดออกวีซ่าทุกประเภทให้แก่พลเมืองอเมริกัน รวมถึงการขอวีซ่าทางออนไลน์และจุดผ่านแดนด้วย โดยถ้อยคำที่ใช้นั้นเรียกได้ว่าลอกของสหรัฐฯ มาแทบจะทุกตัวอักษร
สำนักข่าวอนาโดลูของตุรกีรายงานว่า ชายชาวตุรกีซึ่งเป็นลูกจ้างสถานกงสุลสหรัฐฯ ถูกจับเมื่อค่ำวันพุธที่แล้ว (4 ต.ค.) และถูกตั้งข้อหาจารกรรม รวมถึงข้อหาพยายามบ่อนทำลายรัฐธรรมนูญและรัฐบาลตุรกี
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ตุรกีมีแนวโน้มเสื่อมทรามลงเรื่อยๆ หลังจากกองทัพสหรัฐฯ ไปช่วยหนุนหลังนักรบเคิร์ดวายพีจีในซีเรีย ซึ่งอังการาถือว่าเป็นเครือข่ายเดียวกับกลุ่มติดอาวุธพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งก่อความไม่สงบในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีมานานถึง 3 ทศวรรษ
สหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะเนรเทศ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน และถูกรัฐบาลอังการากล่าวหาว่าเป็นคนบงการก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2016 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 240 ราย
กูเลน ยืนยันเสียงแข็งว่าตนไม่รู้ไม่เห็นเรื่องรัฐประหาร
สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงอังการาได้มีถ้อยแถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (5) ว่า รู้สึก “ไม่พอใจอย่างยิ่ง” เรื่องการจับกุมลูกจ้างชาวตุรกี และเชื่อว่าข้อกล่าวหาทั้งหมด “ไม่มีมูลความจริง”
สหรัฐฯ ยังตำหนิสื่อท้องถิ่นที่อ้าง “ข้อมูลรั่วไหล” จากแหล่งข่าวในรัฐบาลตุรกี “ซึ่งดูเหมือนจะพยายามพิพากษาความผิดของลูกจ้างรายนี้ แทนที่จะรอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน”
อิบรอฮีม คาลิน โฆษกประธานาธิบดีแอร์โดอัน ยืนยันว่ารัฐบาล “มีหลักฐานที่ชัดเจนพอ” ในการจับกุมชาวตุรกีรายนี้ โดยอ้างว่ามีบุคคลในสถานกงสุลสหรัฐฯ ที่นครอิสตันบูลโทรศัพท์ติดต่อกับผู้ต้องสงสัยรายสำคัญในคืนที่เกิดรัฐประหาร
โซเนอร์ คากับไต ผู้อำนวยการโครงการตุรกีประจำสถาบันวอชิงตันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้ ชี้ว่า สถานการณ์ในขณะนี้นับเป็นวิกฤตที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์สำหรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ตุรกี
“พวกเขาคิดว่าวิธีนี้จะบีบให้คณะผู้นำตุรกีช่วยเกลี้ยกล่อม แอร์โดอัน ให้หยุดคุกคามชาวอเมริกันในตุรกี แต่ผมเชื่อว่า แอร์โดอัน จะทำตรงกันข้าม และอาจจะตอบโต้หนักยิ่งขึ้นไปอีก” คากับไต ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
เจ้าหน้าที่ตุรกีคาดหวังว่าความสัมพันธ์อังการา-วอชิงตันน่าจะดีขึ้นบ้างในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่จนแล้วจนรอดสหรัฐฯ ก็ยังนิ่งเฉยไม่ยอมส่งตัว กูเลน ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ที่รัฐเพนซิลเวเนีย
แอนดรูว์ บรันสัน ศาสนาจารย์ชาวอเมริกันซึ่งก่อตั้งโบสถ์คริสต์ขึ้นในเมืองอิซมีร์ (Izmir) ถูกอังการาควบคุมตัวไว้ตั้งแต่เดือน ต.ค.ปี 2016 ด้วยข้อหาเป็นสมาชิกเครือข่ายกูเลน โดยประธานาธิบดีแอร์โดอันเคยพูดไว้เมื่อเดือน ก.ย. ว่าอาจจะยอมคืนตัว บรันสัน ให้สหรัฐฯ เพื่อแลกกับ กูเลน แต่ปรากฏว่าวอชิงตันยังไม่มีท่าทีสนใจ