เอเจนซีส์ – ประธานาธิบดีตุรกีคว้าชัยชนะเฉียดฉิวในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันอาทิตย์ (16 เม.ย.) เพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง และยุบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมคัดค้านผลโหวต ชี้มีความไม่ชอบมาพากลต่างๆ นานา เช่นเดียวกับอียูที่ระบุว่า อังการาควรหาฉันทามติที่มีประชาชนเห็นด้วยอย่างกว้างขวางมากยิ่งกว่านี้
การอนุมัติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการทำประชามติครั้งนี้ หมายความว่าต่อจากนี้ไป เรเจป ตัยยิป แอร์โดอัน จะมีอำนาจมากกว่าผู้นำตุรกีคนใดในยุคใหม่ ภายหลังจากสมัยของผู้ก่อตั้งประเทศ มุสตาฟา เคมัล และผู้นำคนต่อมาคือ อิสเม็ต อิโนนู
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ ประธานาธิบดีจะมีอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยที่ไม่มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งรองประธานาธิบดีที่ไม่ระบุจำนวน อีกทั้งสามารถเลือกและถอดถอนข้าราชการอาวุโสโดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากรัฐสภา
การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะมีผลบังคับใช้ภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2019 ซึ่งแอร์โดอันที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2014 หลังจากนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2003 จะสามารถลงสมัครเพื่อครองตำแหน่งประธานาธิบดีไปอีก 2 วาระๆ ละ 5 ปี
คณะกรรมการการเลือกตั้งรายงานผลเบื้องต้นของการทำประชามติซึ่งทำกันเมื่อวันอาทิตย์ (16) ว่า ฝ่ายสนับสนุนชนะไปด้วยคะแนน 51.4% ต่อ 48.6% หลังจากการนับบัตรลงคะแนนเสร็จสิ้น 99.5% โดยมีผู้ออกไปใช้สิทธิ์วสูงถึง 85%
ขณะที่ฝูงชนผู้สนับสนุนเขาออกมาฉลองบนท้องถนน แอร์โดอันแถลงยกย่องประชาชนสำหรับการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ในการปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญที่สุด
ทว่า ผู้คนในพื้นที่ย่านต่างๆ ในนครอิสตันบูลที่ต่อต้านแอร์โดอัน เช่น ย่านเบซิคตัสและคาดิคอย ต่างพากันออกมาประท้วงบนถนนเช่นกัน และพรรคฝ่ายค้านหลัก 2 พรรคคือ พีเพิลส์ เดโมเครติก ปาร์ตี้ (เอชดีพี) ซึ่งสนับสนุนเคิร์ด และรีพับลิกัน พีเพิลส์ ปาร์ตี้ (ซีเอชพี) ประกาศไม่ยอมรับผลการลงประชามติ
เคมัล คิลิกดาโรกลู ผู้นำซีเอชพี เผยว่า จะเรียกร้องให้มีการนับคะแนนโหวตประมาณ 60% กันใหม่ หลังจากคณะกรรมการเลือกตั้งสูงสุดประกาศว่า จะถือว่า บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีตราประทับของทางการเป็นบัตรเลือกตั้งที่ถูกต้อง เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่า มีการฉ้อฉลเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ พรรคฝ่ายค้านต่างร้องเรียนว่า การลงประชามติครั้งนี้ไม่เป็นธรรม อาทิ โปสเตอร์หาเสียงของกลุ่มสนับสนุนติดอยู่กลาดเกลื่อนบนถนนสายต่างๆ ขณะที่กลุ่มคัดค้านกลับถูกปิดกั้นไม่ให้หาเสียงผ่านสื่อ
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวที่จะถูกจับตาอย่างใกล้ชิดในวันจันทร์ (17) คือ การประเมินผลเบื้องต้นของกลุ่มผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ ของสำนักงานเพื่อสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของโอเอสซีอี (โอดีไอเอชอาร์) และสมัชชาผู้แทนคณะมนตรียุโรป (เพซ)
การทำประชามติครั้งนี้มีขึ้นในขณะที่ประเทศประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน หลังมีความพยายามก่อรัฐประหารโค่นล้มแอร์โดอันเมื่อเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว โดยที่ภายหลังการรัฐประหารซึ่งล้มเหลวแล้วก็มีการกวาดจับผู้คนถึง 47,000 คน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14) แอร์โดอันให้สัมภาษณ์ทางทีวีโดยคาดการณ์ว่า ฝ่ายตนจะได้ชัยชนะขาดลอยโดยอ้างอิงโพลที่ชี้ว่า ฝ่ายสนับสนุนจะกวาดคะแนนเสียง 55-60% ทว่า ผลการลงคะแนนที่แท้จริงกลับฟ้องความแตกแยกร้าวลึกภายในตุรกี จากการที่ฝ่ายคัดค้านได้ชัยชนะใน 3 เมืองใหญ่ของประเทศ ได้แก่ อิสตันบูล บ้านเกิดของแอร์โดอัน, กรุงอังการา และอิซมีร์
ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และเฟเดอริก โมเกรินี ประธานฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ออกคำแถลงเรียกร้องให้ทางการตุรกีพยายามหาฉันทามติแห่งชาติที่ครอบคลุมจำนวนประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้
ทว่า แอร์โดอันตอบโต้ด้วยการโจมตีบรัสเซลส์ว่า ล้มเหลวในการเดินหน้าการเจรจาที่หยุดชะงักเกี่ยวกับคำขอเข้าร่วมกลุ่มของตุรกี รวมทั้งยังกล่าวหาเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ทำตัวเหมือนนาซี จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้สั่งห้ามกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลตุรกีในประเทศเหล่านี้จัดการชุมนุม
ผู้นำตุรกียังเตือนบรัสเซลส์ว่า จะลงนามกฎหมายเพื่อรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตกลับมาใช้หลังจากร่างกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา อันจะเป็นการยุติคำร้องขอเป็นสมาชิกอียูของอังการาโดยอัตโนมัติ
แอร์โดอันสำทับว่า หากฝ่ายค้านไม่ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว ตนจะจัดให้มีการทำประชามติ และทิ้งท้ายว่า ประเทศอื่นๆ และสถาบันต่างๆ ควรเคารพการตัดสินใจของตุรกี