xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! “อังเกลา แมร์เคิล” รั้งเกาอี้นายกฯ เมืองเบียร์สมัยที่ 4 ส่วนพรรคขวาจัด AfD คว้าที่นั่งในสภาเป็นครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและผู้นำพรรค CDU มีท่าทียิ้มย่องผ่องใส หลังทราบผลการนับคะแนนเบื้องต้นในศึกเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 ก.ย.
เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล รั้งเก้าอี้ผู้นำหญิงเมืองเบียร์ไว้ได้เป็นสมัยที่ 4 หลังกลุ่มแนวร่วมอนุรักษนิยมที่นำโดยพรรคคริสเตียน เดโมแครติก ยูเนียน (CDU) ของเธอคว้าชัยในศึกเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) ขณะที่พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งชูนโยบายขวาจัดได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภาเป็นครั้งแรก ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่สำหรับฝ่ายชาตินิยมในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลการนับคะแนนอย่างไม่ทางการชี้ว่า กลุ่มของแมร์เคิลซึ่งประกอบด้วยพรรครัฐบาล CDU และพรรคคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (CSU) กวาดคะแนนโหวตมาได้ราวๆ 32.9% ซึ่งถือว่าตกต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา ขณะที่พรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD) ของ มาร์ติน ชุลซ์ ตามมาเป็นที่ 2 ด้วยคะแนน 20.8% นับว่าย่ำแย่ที่สุดในยุคหลังสงครามเช่นกัน

ทว่าปรากฏการณ์ที่สั่นคลอนกลุ่มอำนาจเก่าในเยอรมนีอย่างยิ่งก็คือ พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ซึ่งมีนโยบายต่อต้านอิสลามและผู้อพยพสามารถช่วงชิงคะแนนโหวตไปได้ถึง 13% และกลายเป็นพรรคใหญ่อันดับ 3 ของประเทศที่จะเข้ามาคุมเสียงในสภานับจากนี้

นักวิจารณ์การเมืองหลายคนยอมรับว่า ผลงานที่ยอดเยี่ยมของ AfD ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเลยก็ว่าได้ ขณะที่หนังสือพิมพ์บิลด์ซึ่งมียอดขายอันดับ 1 ในเมืองเบียร์เปรียบเทียบชัยชนะของ AfD ว่าเป็น “แผ่นดินไหวทางการเมือง”

กลุ่มผู้สนับสนุนพรรค AfD ซึ่งไปรวมตัวที่คลับแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลินส่งเสียงเฮลั่นเมื่อทราบผลการนับคะแนนทางสื่อโทรทัศน์ หลายคนประสานเสียงร้องเพลงชาติออกมาดังๆ ขณะด้านนอกมีกลุ่มผู้ต่อต้าน AfD หลายร้อยคนตะโกนว่า “นาซีออกไป!”

พรรค AfD ซึ่งเพิ่งจะก่อตั้งมาได้ 4 ปี และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคขวาจัดเนชันแนลฟรอนท์ในฝรั่งเศส และพรรค UKIP ในอังกฤษ เคยถูกกีดกันจากกลุ่มการเมืองกระแสหลัก ก่อนจะสร้างฐานเสียงที่เข้มแข็งในเยอรมนีฝั่งตะวันออกได้สำเร็จ และการเข้าไปเป็นฝ่ายค้านในสภาล่าง “บุนเดสทัก” ก็จะทำให้พวกเขายิ่งมีบทบาท และมีสิทธิ์ได้รับงบสนับสนุนจากภาครัฐด้วย

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีต่างประเทศ ซิกมาร์ กาเบรียล ได้ออกมาเตือนว่า “พวกนาซีตัวจริง” กำลังจะเข้าสู่รัฐสภาแล้ว ขณะที่ผู้สมัครจากพรรคใหญ่ๆ ต่างเรียกร้องให้ชาวเยอรมันปฏิเสธแนวทางประชานิยมขวาจัด

ศึกเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิราวๆ 76% สูงกว่าสถิติ 71.5% เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสเป็นผู้นำต่างชาติรายแรกๆ ที่กล่าวแสดงความยินดีกับ แมร์เคิล พร้อมให้สัญญาว่าจะคงความร่วมมือกับเบอร์ลินในประเด็นสำคัญๆ ต่อไป
สมาชิกพรรครัฐบาล CDU แสดงความยินดีต่อนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ที่ชนะศึกเลือกตั้งรั้งเก้าอี้นายกฯ ไว้ได้เป็นสมัยที่ 4
แมร์เคิล วัย 63 ปี ยอมรับว่า คะแนนเสียงที่ได้มาคราวนี้ต่ำกว่าเป้าหมาย 40% ที่พรรคของเธอตั้งไว้

“เรากำลังเผชิญความท้าทายที่ใหญ่หลวง นั่นคือการที่พรรค AfD เข้ามาในสภาบุนเดสทัก... เราจะต้องช่วงชิงฐานเสียงกลับคืนมาจาก AfD ให้ได้” แมร์เคิล กล่าว

ผลเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนที่ยังพอใจกับผลงานของแมร์เคิล ซึ่งก็มีอยู่มากพอสมควร กับอีกฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในเยอรมนี หลังจากที่ปล่อยให้เธอเป็นผู้กุมบังเหียนประเทศมานานถึง 12 ปี

เนื่องจากพรรคของแมร์เคิลได้คะแนนโหวตไม่ถึงครึ่ง และ SPD ก็ปฏิเสธที่จะจับขั้วตั้งรัฐบาลผสมซ้าย-ขวา “grand coalition” กับเธออีกสมัย กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะขับเคลื่อนประเทศไปได้อย่างมั่นคงจึงมีแนวโน้มยุ่งยาก และอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือน

แมร์เคิลซึ่งมักถูกเรียกขานว่าเป็น “สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก” หยิบยกเอาประสบการณ์ที่เธอเคยนำพาประเทศฝ่าฟันทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตหนี้สินของยุโรปมาย้ำเตือนชาวเยอรมันว่า ไม่ควรเสี่ยง “ทดลอง” ตัวเลือกใหม่ๆ

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า คำสัญญาของแมร์เคิลที่ว่าจะสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เยอรมนียังคงได้รับความเชื่อถือ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 61 ล้านคนนั้นอายุเกินกว่า 52 ปีขึ้นไป

คะแนนนิยมของนายกฯ หญิงผู้นี้เริ่มกระเตื้องขึ้นมาบ้าง หลังจากที่เคยตกต่ำเพราะนโยบายเปิดประตูรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมุสลิมกว่า 1 ล้านคนเข้าประเทศเมื่อช่วงปี 2015
ชาวเยอรมันหลายร้อยคนออกมาชุมนุมต่อต้านพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (AfD) ระหว่างการนับคะแนนในศึกเลือกตั้งทั่วไป ที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 24 ก.ย.
ผู้ประท้วงต่อต้านพรรคขวาจัด AfD ชูป้ายที่เขียนข้อความว่า “13% เป็นเรื่องน่าอาย”
กำลังโหลดความคิดเห็น