xs
xsm
sm
md
lg

หนี้ทับ ‘เปอร์โตริโก’ จนล้มละลาย!

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

ริคาร์โด รอสเซลโล ผู้ว่าการเครือรัฐเปอร์โตริโก
ในยุคของภาระหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล องค์กร รัฐบาล หรือประเทศก็มีโอกาสมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระคืนได้ หนทางสุดท้ายคือการขอเจรจาประนอมหนี้ ถ้าตกลงกันไม่ได้ขั้นตอนสุดท้ายคือประกาศล้มละลาย ขอให้ศาลพิทักษ์สภาพตั้งหลักขอฟื้นฟูใหม่

หนี้ไม่ปรานีใคร นาฬิกาของดอกเบี้ยไม่เคยหยุดวิ่งถ้าไม่มีข้อตกลงเป็นที่น่าพอใจของเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้ต้องชี้แจงขีดความสามารถของตนเองว่าจะหาเงินมาจ่ายคืนได้

โดยรวม ถ้าเป็นหนี้สินระหว่างบุคคล องค์กร ย่อมมีการฟ้องร้องบังคับจำนอง เอาทรัพย์สินมาขายทอดตลาด เหลือเท่าไหร่ก็คืนให้ลูกหนี้ แต่ถ้าเป็นรัฐ มีหนี้สินในสภาพของเงินกู้ พันธบัตร มีทรัพย์สินเป็นรัฐวิสาหกิจไปขายก็ไม่ต้องถึงขั้นยึดประเทศ ยึดแผ่นดิน

ช่วงปี 1980 เป็นยุคหนี้สินในประเทศแถบละตินอเมริกานำโดยกลุ่มใหญ่มีเม็กซิโก อาร์เจนตินา บราซิล เป็นลูกหนี้รายใหญ่ ลามไปถึงประเทศขนาดเล็กจนทั่วทั้งทวีปอเมริกาใต้ ร้อนถึงธนาคาร สถาบันการเงินเจ้าหนี้ ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟต้องลงขันช่วยให้อยู่รอด

ช่วงปีที่ผ่านมา เป็นภาวะวิกฤตหนี้สินในกลุ่มประเทศยุโรป เช่น กรีซ สเปน โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ เกือบจะลุกลามไปอิตาลี ฝรั่งเศส ต้องให้เยอรมนีรับบทพี่เอื้อยและธนาคารกลางยุโรปมาช่วยกันพยุงไม่ให้ล่มสลายเพราะปัญหาหนี้สิน การใช้จ่ายเงินเกินตัว

แต่ยังไม่เคยมีรัฐใดเข้าขั้นล้มละลายด้วยวิกฤตหนี้สิน มีบางมลรัฐของสหรัฐฯ ซึ่งมีปัญหา แต่เมื่อถึงจุดใกล้ล่มจริงๆ รัฐบาลกลางก็เข้ามาอุ้ม โดยมีมาตรการขึ้นภาษี และการกระตุ้นให้มีความสามารถในการสร้างรายได้ ทั้งนี้เจ้าหนี้ ลูกหนี้อยู่บนแผ่นดินผืนเดียวกัน

แต่คราวนี้เป็นของจริง มาถึงคิว “เปอร์โตริโก” ดินแดนหมู่เกาะในคาริบเบียนซึ่งเป็นรัฐในอารักขา หรือเป็นของสหรัฐอเมริกา มีหนี้สินล้นพ้นตัว สิ้นสภาพที่จะใช้คืนต้องใช้มาตรการสุดท้าย ยื่นคำร้องต่อศาลภายใต้มาตรา 9 เพื่อขอให้พิทักษ์สภาพก่อนฟื้นฟู

เป็นหมู่เกาะมีพลเมืองประมาณ 3.5 ล้านคนเท่านั้น แต่มีหนี้สะสมถึง 123 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งภาระที่ต้องจ่ายเงินบำนาญ รวมเงินแล้วมากกว่าจำนวนหนี้สินของเมืองดีทรอยต์ที่พังพาบไปด้วยปัญหาหนี้เพียง 18 พันล้านเหรียญในปี 2013 แต่ก็ไม่เจ๊ง

แต่ “เปอร์โตริโก” ไม่ได้อยู่ร่วมแผ่นดินใหญ่กับมลรัฐอื่นๆ การจะให้รัฐบาลกลางช่วยเหลือนั้นอาจไม่ง่าย เพราะประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เปรยแล้วว่าจะไม่เข้าไปอุ้ม ให้หาทางออกด้วยตัวเอง ดูสภาพแล้วขนาดหนี้สินมากเกินกว่าจะหาทางใช้คืนได้ง่ายๆ แน่

ผู้ว่าการเครือรัฐของ “เปอร์โตริโก” บอกว่าจะนำเรื่องวิกฤตหนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลล้มละลาย และจะเป็นหน่วยงานแรกของรัฐที่ไม่มีเงินเหลือติดก้นคลัง ต้องรับปัญหาหนี้สินพอกพูนก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงขั้นล้มละลาย

ปัญหาที่ตามมาคือพวกที่ต้องรับเงินบำนาญเป็นรายเดือนจะไม่ได้รับเงินอีกต่อไป เงินและงบสวัสดิการด้านสุขภาพและสาธารณสุขต้องถูกตัด รวมทั้งงบการก่อสร้างดำเนินการโครงการสาธารณูปโภคบนเกาะต้องแช่เย็นหรือระงับไปจนกว่าจะมีรายได้

เงื่อนไขของเจ้าหนี้ต้องให้รัดเข็มขัด แต่ละรายต้องการเงินคืนให้ได้มากและเร็วที่สุด ขณะที่ไม่มีอะไรรับประกันว่ารายได้เข้าเกาะจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บ่อนกาสิโน จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในยามที่สภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปยังทรงกับทรุดนานอย่างนี้

“เปอร์โตริโก” เผชิญปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาตั้งแต่ปี 2006 ยังหาทางฟื้นตัวไม่ได้ เมื่อขาดงบประมาณด้วยภาระหนี้สิน การบำรุงรักษาระบบการบริการต่างๆ ในธุรกิจการท่องเที่ยวและกาสิโนย่อมต้องจำกัดจำเขี่ยไปด้วย แรงดึงดูดนักท่องเที่ยวก็หายไปด้วย

ที่น่าห่วงคือการอพยพของประชากรคุณภาพ จะเป็นภาวะ “สมองไหล” ทำให้คนมีรายได้ดี มีอาชีพสำคัญเผ่นไปอยู่แผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ นั่นหมายถึงรายได้จากภาษีธุรกิจและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็หดหายไปด้วย คนไม่ต้องการอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจซบเซา

ช่วงหลังผู้บริหารใช้วิธีการกู้เงินด้วยการออกพันธบัตรเพื่อประคองให้อยู่รอด โดยหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว และพยายามเจรจาหาทางผ่อนปรนเงื่อนไขกับบรรดาเจ้าหนี้แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เจ้าหนี้ตั้งป้อมมีท่าทีแข็งกร้าวไม่ยอมซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด

เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว “เปอร์โตริโก” ย่อมมีอำนาจต่อรองกับเจ้าหนี้ ซึ่งต้องพูดจาภาษาดอกไม้กับลูกหนี้ เพราะไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว จะยึดทรัพย์ของรัฐไม่ได้ การตัดสินใจเข้าพึ่งศาลล้มละลายหลังจากเจ้าหนี้รายใหญ่เป็นฝ่ายเริ่มฟ้องเรียกหนี้คืน

มาถึงจุดนี้ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีใครรอดปลอดภัย แม้แต่พวกพึ่งพาเงินบำนาญก็ต้องอดไปด้วย เพราะไม่มีเงินจ่าย รายได้ทุกเม็ดต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี พวกรับบำนาญต้องออกมาทำงานหารายได้เพื่อหาทางรอด ไม่มีทางเลือก

ผู้ว่าการฯ ริคาร์โด รอสเซลโล ออกมาให้ความมั่นใจกับบรรดาเจ้าหนี้ว่าทุกอย่างจะยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาประนอมหนี้ แม้จะถูกมองว่านี่เป็นเพียงลีลาสำหรับการลดทอนความไม่พอใจของพวกธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งซื้อพันธบัตรถึง 74 พันล้านเหรียญ

ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการฯ ก็ทำให้บรรดาเจ้าหนี้แทบช็อกตาตั้ง เมื่อได้เสนอแผน 5 ปี โดยกำหนดงบเพียง 800 ล้านเหรียญสำหรับใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละปี นับว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนหนี้และภาระดอกเบี้ยรวม ซึ่งต้องใช้คืน 3.5 พันล้านเหรียญทุกปี

ถ้ามองสภาพแล้ว “เปอร์โตริโก” เป็นต่อพวกเจ้าหนี้ เพราะสามารถต่อรองได้ รวมทั้งการเจรจาเพื่อขอ “ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย” หรือที่เรียกกันว่า “แฮร์คัท” นั่นเอง โดยมีศาลเป็นตัวช่วย ซึ่งต้องดูว่าศาลสูงรัฐบาลกลางจะตั้งให้ตุลาการคนไหนรับภาระเรื่องนี้

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการใช้จ่ายเงินเกินตัวทำให้ล้มละลายและเจ้าหนี้ใกล้เจ๊งได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น