xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จักทรัมป์แห่งยุโรป

เผยแพร่:   โดย: สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


วันนี้กำลังรอผลการเลือกตั้งประเทศที่เคยเป็นเจ้าของอาณานิคมเมื่อ 400 กว่าปีมาแล้ว จนมีประเทศอาณานิคมหลายแห่ง ในแอฟริกาก็มีประเทศแอฟริกาใต้ และอดีตอาณานิคมที่ใหญ่มากก็หนีไม่พ้นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน คืออินโดนีเซีย

นั่นคือ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งวันนี้มีประชากร 17 ล้านคน และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีคะแนนด้านความพอใจของประชาชนเคยอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เคยเป็นประเทศที่ประชาชนมีความอดกลั้น และเปิดรับคนต่างชาติที่มีทั้งศาสนา, ภาษา, วัฒนธรรมแตกต่างกับคนผิวขาวที่เป็นคนส่วนใหญ่ ให้เข้าไปตั้งรกรากและทำงานอย่างแข็งขัน เพื่อช่วยกันสร้างเศรษฐกิจและสร้างประเทศชาติให้เจริญเติบโต เคยเป็นประเทศที่น่าอยู่มากแห่งหนึ่งในโลก

แต่วันนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์กลับกลายเป็นประเทศที่ค่อนข้างแตกแยกกับการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 มีนาคมนี้ พรรคใหญ่ๆ ที่เคยครองเสียงข้างมาก คือขวา-กลาง และซ้าย-กลาง กลับไม่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นเหมือนในอดีต แต่กลับมีพรรคเล็กพรรคน้อยผุดขึ้นใหม่เป็นดอกเห็ด ครั้งนี้มีถึง 28 พรรค และคาดว่าครึ่งหนึ่ง คือ 14 พรรค น่าจะมี ส.ส.ได้อย่างน้อยก็ 1-2 คน

ระบบการเลือกตั้งนั้น ใช้ระบบสัดส่วน โดยประชากรประมาณ 7 หมื่นคน (หรือ 0.67% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) จะได้ ส.ส. 1 คนโดยพรรคใหญ่ที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตอนนี้ จะได้จำนวน ส.ส.ลดน้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพราะพรรคใหม่ขนาดเล็กกลับได้รับความนิยมมากกว่า

พรรคของท่านนายกฯ ปัจจุบัน (นายกรัฐมนตรี คือนายมาร์ค รัตต์) จะหดลงจากที่เคยได้ 40 ที่นั่งเหลือแค่ 30 ที่นั่ง

เก้าอี้ ส.ส.มีทั้งสิ้น 150 ที่นั่ง พรรค VVD (ของท่านนายกฯ) จะต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยไปหา ส.ส.พรรคอื่นมาร่วมให้ได้ 16 เสียง คาดว่าจะต้องใช้ถึง 5 พรรคการเมือง ซึ่งทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลในการบริหารจะลดน้อยลงกว่าการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยพรรค VVD ร่วมกับพรรคแรงงานก็ทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้แม้เสียงจะปริ่มน้ำอยู่บ้าง

หนนี้พรรค PVV (Party For Freedom) ซึ่งเป็นพรรคใหม่ของนายเกอร์ด วีลเดอร์ ได้รับความนิยมพรวดพราดขึ้นมา จนทำให้ทั้งยุโรปแทบหยุดหายใจ เพราะเขามีสิทธิที่จะได้คะแนนสูงสุดแซงหน้าพรรคของท่านนายกฯ มาร์ค รัตต์ ทีเดียว โดยข้อเสนอของเขากลับไปต้องใจประชาชนชาวฮอลแลนด์ที่เป็นผิวขาวส่วนใหญ่ ว่าขณะนี้ ประเทศฮอลแลนด์กำลังจะกลายเป็นประเทศอิสลามแล้ว ด้วยนโยบายเปิดรับผู้อพยพที่มาจากตุรกี (ประมาณเกือบ 5 แสนคน) และที่มาจากที่อื่นๆ เช่น โมร็อกโก หรือที่ลี้ภัยสงครามมาจากซีเรีย, ลิเบีย รวมกันทั้งสิ้นมีประชาชนนับถืออิสลามถึงประมาณ 1 ล้านคน และเป็น 1 ล้านคนที่ยึดมั่นในขนบประเพณีที่เหนียวแน่น การสมานกลมกลืนกับประเทศฮอลแลนด์มีค่อนข้างน้อย แม้รัฐบาลจะมีนโยบาย immigration + integration คือรับผู้อพยพเข้าเมืองได้ แต่ต้องให้ผสมเข้ากับวัฒนธรรมและภาษาของฮอลแลนด์ให้ได้

ความจริงนายเกอร์ด วีลเดอร์ ก็เคยอยู่พรรค VVD แต่เขาอยู่ปีกขวาจัดของพรรค จนเคยเสนอโพล่งขึ้นมาให้หยุดรับชาวมุสลิมเข้าประเทศ และต่อต้านนโยบายของพรรคที่เสนอให้สหภาพยุโรปรับประเทศตุรกีเข้ามาเป็นสมาชิกของอียู จนถูกพรรคขับออก เขาก็เลยมาตั้งพรรค PVV เมื่อ 10 ปีนี้เอง และการหาเสียงจะมีข้อเสนอที่สุดขั้วต่อต้านอิสลามที่เขามองว่ากำลังเข้ามากลืนกินประเทศฮอลแลนด์ของเขา

นโยบายของเขา คือหยุดรับผู้นับถืออิสลามเข้ามาเป็นพลเมืองสัก 5 ปี และหยุดการอนุญาตสร้างมัสยิด 5 ปีเช่นกัน และห้ามเข้าเมืองสำหรับอิหม่ามที่มาจากต่างประเทศ (เพราะจะเทศน์แบบรุนแรงและปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง) ห้ามสวมผ้าคลุมหน้าคลุมผมแบบมุสลิม รวมทั้งจะให้เก็บพระคัมภีร์อัลกุรอานออกให้หมด ถึงขนาดเสนอให้มีตำรวจตามจับพระคัมภีร์ (Koran Police) ทีเดียว

นโยบายเศรษฐกิจก็เหมือนของทรัมป์ คือจะลดภาษีคนรวย และลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานมากขึ้น จะออกจากสหภาพยุโรป และสกุลยูโร

ตอนนี้เขามีแนวร่วมที่อยู่ในฝรั่งเศส คือมารีน เลอ เพน และที่เยอรมนีก็คือพรรค AfD (ทางเลือกสำหรับดอยเชอร์แรนท์) รวมทั้งนาย Haider ที่ประเทศออสเตรีย และขบวนการแนวร่วมภาคเหนือ (Northern Alliance) ที่อิตาลีมองคล้ายกันในนโยบายต่อต้านผู้อพยพมุสลิม

นายเกอร์ด วีลเดอร์ มีอายุแค่ 53 ปี เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัด ก่อนมาเป็น ส.ส. เขาโตมาในครอบครัวคาทอลิกที่พ่อเป็นชนชั้นกลาง แต่แม่เป็นลูกครึ่งดัตช์กับอินโดนีเซีย (แม่คงจะมีสายเลือดมุสลิมอยู่ 50%)

เขามีนโยบายใกล้เคียงกับทรัมป์มาก แต่จริงๆ เขามีแนวคิดต่อต้านอิสลามมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว คือมองเห็นการอพยพมาตั้งรกรากของชาวมุสลิมว่าจะเพิ่มขยายมากขึ้นในฮอลแลนด์และยุโรป ก่อนหน้าจะเกิดกระแสของทรัมป์ในอเมริกา

เขามีหน้าตาท่าทางคล้ายทรัมป์มาก คือผมสีทอง และผมมาปรกหน้าผากคล้ายกันทีเดียว วิธีพูดจาจะคล้ายกัน คือใช้ประโยคสั้นมากๆ และกินใจ ทำให้คนเข้าใจง่าย

เขากระตุ้นบรรดาเจ้าของประเทศว่ากำลังถูกรุกราน ทำเอาชาวฮอลแลนด์เห็นคล้อยตามจากวาทะที่กินใจของเขา และเขาชอบส่ง Twitter สั้นๆ เช่นเดียวกับทรัมป์ เพียงแต่เขาทำก่อนทรัมป์มานานหลายปี

เขาถูกขู่ฆ่าตลอดเวลา และเป็นเป้าการลอบสังหารจนต้องขอการอารักขาจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และหลังๆ นี้ไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณะเพราะไม่ปลอดภัย

ความเหมือนกับทรัมป์อีกอย่างหนึ่ง ก็คือทรัมป์สามารถได้คะแนนเกือบครึ่งประเทศ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว อัตราการว่างงานก็ร่วงลงมาต่ำกว่า 5% ด้วยซ้ำ พร้อมการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีทีเดียว ซึ่งเป็นผลงานของรัฐบาลโอบามา และฮิลลารี คลินตัน ก็เป็นตัวแทนของโอบามา แต่ปรากฏว่าประชาชนอเมริกันกลับไม่เลือกตัวแทนพรรคเก่าแก่ แต่กลับไปเลือกคนนอกอย่างทรัมป์ หลังจากเกิดปรากฏการณ์ Brexit นั่นเอง

ฮอลแลนด์วันนี้ เศรษฐกิจเป็นไปด้วยดี มีการขยายตัวจนน่าอิจฉาของหลายประเทศในยุโรป แต่ประชาชนที่อาจถูกละเลยความสำคัญและถูกทอดทิ้ง ไม่ค่อยมีส่วนกับความมั่งคั่งที่เกิดจากการรวมสหภาพยุโรป, การใช้เงินสกุลยูโร จึงปันใจมาให้กับเกอร์ด วีลเดอร์ เพื่อลองของใหม่

เพียงแต่ว่านายเกอร์ด วีลเดอร์ น่าจะมีปัญหาถ้าจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคเล็กพรรคน้อยต่างขยาดที่จะมาร่วมงานกับเขา เพราะเขามีนโยบายที่สุดขั้นเกินไปนั่นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น