เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกีเรียกร้องวานนี้ (18 ส.ค.) ให้ชาวเติร์กในเยอรมนีบอยคอตพรรคการเมืองใหญ่ๆ ในศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่ช้า ทำเอารัฐบาลเบอร์ลินต้องออกมาเตือนดังๆ ให้ผู้นำตุรกีหยุด “แทรกแซง” กิจการภายใน
แอร์โดอัน ยุให้ชาวเติร์กที่ตั้งรกรากอยู่ในเมืองเบียร์อย่าเลือกผู้สมัครจากพรรค คริสเตียน เดโมแครติก ยูเนียน (CDU) ของนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล โซเชียล เดโมแครติก ปาร์ตี (SPD) และพรรคกรีนส์ โดยตราหน้าทั้ง 3 พรรคว่าเป็น “ศัตรูของตุรกี”
ถ้อยแถลงของแอร์โดอัน นับว่าแรงที่สุดเท่าที่เคยโจมตีประเทศในอียูยิ่งทำให้วิกฤตการทูตระหว่างสองชาติพันธมิตรนาโตที่มีสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานเลวร้ายลงไปอีก
ซิกมาร์ กาเบรีบล รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีจากพรรค SPD ออกมาตอบโต้ทันควัน โดยชี้ว่าคำพูดของ แอร์โดอัน ถือเป็นการ “แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน” ขณะที่ สเตฟเฟน ไซเบิร์ต โฆษกของแมร์เคิล ทวีตข้อความว่า “เราคาดหวังว่ารัฐบาลต่างชาติจะไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของเรา”
แอร์โดอัน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังพิธีละหมาดวันศุกร์ที่นครอิสตันบูลว่า “ผมขอฝากไปถึงเพื่อนร่วมชาติทุกคนในเยอรมนี... จงอย่าไปโหวตให้พวกเขา ไม่ว่าจะพวกคริสเตียนเดโมแครต หรือ SPD หรือกรีนส์ก็ตาม พวกเขาล้วนแต่เป็นศัตรูของตุรกี”
แอร์โดอัน ยังกล่าวหาพรรค SPD และ CDU ว่ากำลังแข่งกันเล่นเกม “โจมตีตุรกีเพื่อเรียกคะแนนนิยม”
“พวกท่านต้องสนับสนุนพรรคการเมืองที่ไม่แสดงความเป็นปรปักษ์กับตุรกี” เขากล่าว
ผู้นำตุรกีไม่ได้กล่าวชัดเจนว่าอยากให้ชาวเติร์กสนับสนุนพรรคการเมืองใดในเยอรมนีสำหรับศึกเลือกตั้งสภาล่าง “บุนเดสแท็ก” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ย. โดยระบุเพียงว่าต้องการให้คนเชื้อสายเติร์ก “สั่งสอนพรรคการเมืองที่ไม่เคารพตุรกี” ซึ่งถือเป็นการ “ต่อสู้เพื่อเกียรติภูมิ”
ความสัมพันธ์ระหว่างเบอร์ลินและอังการามีแนวโน้มเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ สืบเนื่องจากการที่เยอรมนีวิพากษ์วิจารณ์การกวาดล้างผู้ที่เกี่ยวข้องกับความพยายามก่อรัฐประหารโค่น แอร์โดอัน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้พลเมืองเยอรมันถูกจับกุมหลายราย โดยเฉพาะสื่อมวลชน
ฝ่ายตุรกีก็กล่าวหารัฐบาลเบอร์ลินว่าไม่ให้ความร่วมมือเนรเทศกลุ่มติดอาวุธเคิร์ด และพวกที่วางแผนก่อรัฐประหารซึ่งหลบหนีไปพึ่งใบบุญเมืองเบียร์
มาร์ติน เชเฟอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า มีชาวเยอรมันถูกคุมขังในตุรกีรวม 10 คน รวมถึงพวกที่ถือสองสัญชาติ
SPD ซึ่งเสนอชื่ออดีตประธานสภายุโรป มาร์ติน ชุลซ์ ขึ้นแท่นนายกฯ เมืองเบียร์ ถือเป็นคู่แข่งสำคัญกับพรรค CDU ของ แมร์เคิล ในศึกเลือกตั้ง ทว่าทั้งสองพรรคมีนโยบายต่อตุรกีที่คล้ายคลึงกัน ในขณะที่พรรคกรีนส์ก็ยิ่งสนับสนุนให้ใช้มาตรการตอบโต้ตุรกีอย่างแข็งกร้าว
ปัจจุบันมีคนเชื้อสายตุรกีอยู่ในเยอรมนีราวๆ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่ถูกจ้างเข้ามาเป็นแรงงานชั่วคราวในเยอรมนีตะวันตกเมื่อช่วงทศวรรษ 1960 เพื่อบรรเทาวิกฤตขาดแคลนแรงงานหลังสงคราม หรือไม่ก็เป็นลูกหลานของแรงงานเหล่านั้น
นักวิเคราะห์ระบุว่า มีพลเมืองเยอรมันเชื้อสายตุรกีราว 1.2 ล้านคนที่มีสิทธิโหวตในศึกเลือกตั้งเดือน ก.ย.
คนเชื้อสายตุรกีมีแนวโน้มสนับสนุนพรรคฝ่ายซ้ายอย่าง SPD มาโดยตลอด ทว่า แอร์โดอัน ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ชาวเติร์ก เห็นได้ชัดจากผลเลือกตั้งตุรกีเมื่อเดือน พ.ย.ปี 2015 ที่มีพลเมืองตุรกีในเยอรมนีโหวตเลือกพรรคของเขามากถึงร้อยละ 59