xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” โดดเดี่ยวหลังไม่ประณาม “ขวาจัด” ผู้นำธุรกิจ-รีพับลิกัน-ต่างประเทศตัดหาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ขณะที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันยังไม่ทันถึง 200 วัน แต่ในวันพุธ (16 ส.ค.) โดนัลด์ ทรัมป์ กลับพบว่า ตัวเองกำลังถูกชิงชังและโดดเดี่ยวทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ กระทั่งในหมู่ผู้ที่เคยช่วยอุ้มชูแก้ต่างให้ก็เริ่มกลัวว่า ตัวเองจะพลอยเสียชื่อไปด้วย หลังจากผู้นำสหรัฐฯ ผู้นี้ยืนหยัดปกป้องกลุ่มชาตินิยมขวาจัดเชิดชูคนผิวขาว ที่ชุมนุมกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วในเมืองชาร์ล็อตส์วิลล์ รัฐเวอร์จิเนีย แล้วเกิดความรุนแรงบานปลายจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ทรัมป์กลับหัวกลับหางสิ่งที่เคยถือมาตรฐานวาทกรรมทางการเมืองของอเมริกันอย่างขนานใหญ่ในวันอังคารที่ผ่านมา (15) จากการประกาศอย่างกราดเกรี้ยวใส่ผู้สื่อข่าวว่า กลุ่มต่อต้านฟาสซิสต์และกลุ่มชาตินิยมขวาจัดเชิดชูคนผิวขาวที่ปะทะกันในเวอร์จิเนียนั้น ผิดด้วยกันทั้งคู่ และทั้งสองข้างต่างก็มี “คนที่ดีมากๆ” อยู่

เหตุการณ์ปะทะรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นในเมืองชาร์ล็อตส์วิลล์เมื่อวันเสาร์ (12) ระหว่างการเดินขบวนของกลุ่มนีโอ-นาซีและกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “อัลต์-ไรต์” เพื่อประท้วงการย้ายรูปปั้นของนายพลโรเบิร์ต อี. ลี วีรบุรุษของฝ่ายใต้หรือฝ่ายที่ต้องการให้อเมริกามีทาสต่อไป เมื่อสมัยสงครามกลางเมือง แล้วมีผู้ประท้วงต่อต้านกลุ่มคนเหล่านี้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากที่คนร้ายซึ่งเป็นพวกฝักใฝ่นาซี ขับรถพุ่งเข้าใส่ฝูงชนฝ่ายตรงข้าม

ปฏิกิริยาแรกของทรัมป์ถูกวิจารณ์จากพวกที่เรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯ ประณามลัทธิเหยียดผิวและประณามพวกนิยมความรุนแรงอย่างชัดเจนว่า กำกวมและไม่ยอมตำหนิพวกนีโอ-นาซี แต่การที่เขากลับมายืนยันคำเดิมใหม่เมื่อวันอังคารว่า “ผิดทั้งสองฝ่าย” กระตุ้นให้เกิดทะเลเพลิงทางการเมืองที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในสมัยแห่งการตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์

เพราะเกือบจะในทันทีนั้นเอง บรรดาผู้บริหารธุรกิจของบริษัทใหญ่ๆ ทรงอิทธิพล ต่างพากันลาออกจากคณะกรรมการที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ทำให้เมื่อวันพุธ (16) ทรัมป์ต้องพยายามรักษาหน้าด้วยการประกาศยุบคณะกรรมการที่ปรึกษา 2 คณะ ได้แก่ด้านเศรษฐกิจและด้านอุตสาหกรรมการผลิต แต่ก็ดูเหมือนช้าเกินไปแล้ว เนื่องจาก ณ เวลานั้นเป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า เหล่าผู้นำในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ของอเมริกาไม่ต้องการเอาชื่อเสียงของตัวเองและบริษัทมาเสี่ยงกับทรัมป์อีกต่อไป

เจมี ไดมอน ประธานบริหารเจพีมอร์แกน เชส เผยว่า สมาชิก สเตรทเตอจิก แอนด์ โพลิซี ฟอรัม ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ต่างเห็นตรงกันว่าจะสลายตัวตั้งแต่ก่อนที่ทรัมป์จะประกาศยุบเสียอีก เขายังบอกว่า ตัวเองไม่เห็นด้วยอย่างแรงกับปฏิกิริยาของทรัมป์ต่อเหตุการณ์ในชาร์ล็อตส์วิลล์
<i>อดีตประธานาธิบดี จอร์จ บุช (ที่2 จากซ้าย) และอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ที่ 2 จากขวา) ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกันเช่นเดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์  ออกคำแถลงตำหนิทรัมป์กลายๆ ด้วยการเรียกร้องคนอเมริกันปฏิเสธการเหยียดผิวอย่างไร้เหตุผลในทุกรูปแบบ </i>
ไม่เฉพาะภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น ในส่วนสมาชิกพรรครีพับลิกันพรรคเดียวกับทรัมป์ มีน้อยนักที่ยังกล้าเปิดหน้าออกมาปกป้องประมุขทำเนียบขาว มิหนำซ้ำ ประธานาธิบดีสองคนก่อนหน้านี้จากรีพับลิกันคือ จอร์จ บุช และจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ยังออกคำแถลงเรียกร้องคนอเมริกันปฏิเสธการเหยียดผิวอย่างไร้เหตุผลในทุกรูปแบบ

บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีคนก่อนหน้าทรัมป์ แต่มาจากพรรคเดโมแครต แสดงปฏิกิริยาด้วยการทวิตโดยอ้างคำพูดของ เนลสัน แมนเดลา ผู้นำแอฟริกาใต้ที่ว่า “ไม่มีใครถือกำเนิดมาพร้อมกับความเกลียดชังบุคคลอื่น เนื่องจากผิวสีของเขาหรือภูมิหลังของเขาหรือศาสนาของเขา”

บริษัททวิตเตอร์ระบุว่า ข้อความของโอบามาเวลานี้ได้ “ไลค์” มากที่สุดเท่าที่เคยส่งกันบนสื่อสังคมสื่อนี้ไปแล้ว

ในทางกลับกัน คนที่ชื่นชมทรัมป์อย่างโจ่งแจ้งคือ เดวิด ดุ๊ค อดีตผู้นำกลุ่มคูคลักซ์แคลน (KKK) ที่ยอมรับอย่างเปิดเผยว่า ตนเองเป็นพวกเหยียดผิวและต่อต้านยิว โดยดุ๊คยกย่องทรัมป์สำหรับ “ความกล้าหาญ” ในการยืนหยัดปกป้องกลุ่มชาตินิยมผิวขาว

ทว่า วุฒิสมาชิก ลินด์ซีย์ เกรแฮม จากรีพับลิกันออกมาประกาศทันควันว่า สมาชิกหลายคนของพรรคจะตอบโต้พวกที่คิดว่า รีพับลิกันยินดีอ้าแขนรับแนวคิดของดุ๊ค

การปกป้องลัทธิเหยียดผิวและชาตินิยมผิวขาวยังทำให้ทรัมป์ถูกประณามอย่างรุนแรงจากชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอเมริกา

นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ของอังกฤษ ที่เคยถูกวิจารณ์ว่า ผูกมิตรกับทรัมป์มากเกินไป กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พวกที่สนับสนุนลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ อย่างเช่น นาซี กับพวกที่ต่อต้านลัทธินี้ ไม่มีทางเหมือนกันได้ และผู้ที่อยู่ในตำแหน่งและหน้าที่ความรับผิดชอบควรประณามกลุ่มขวาสุดโต่ง

ที่เยอรมนี นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล วิจารณ์การแสดงความคิดเห็นของทรัมป์ว่าเป็น “คำพูดที่น่าสับสนของบุคคลอันตราย”

“เราควรต่อต้านความโหดร้ายที่หลุดออกมาจากปากประธานาธิบดีสหรัฐฯ” มาร์ติน ชูลซ์ นักการเมืองแถวหน้าของเมืองเบียร์สำทับ

เช่นเดียวกับประธานาธิบดีอาเยเล็ต ชาเคดของอิสราเอล และสมาชิกพรรคชาตินิยมสุดโต่ง ยิวอิช โฮม ที่ทวิตว่า อเมริกาควรดำเนินคดีกับกลุ่มนีโอ-นาซี ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับนัยของรัฐธรรมนูญอเมริกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น