xs
xsm
sm
md
lg

กองกำลัง รบ.อิรักรุกคืบในศึกชิงคืน ‘เมืองตัลอะฟาร์’ ด้าน รมว.กลาโหม US เยือนอิรัก ระบุ ‘ไอเอส’ ยังไม่ราบคาบง่ายๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>กองกำลังระดมจากประชาชน (Popular Mobilization Forces หรือ PMF) ซึ่งเป็นกองกำลังชาวมุสลิมชีอะห์  เข้าสมทบกำลังกับกองทัพบกอิรัก ที่บริเวณนอกเมืองตัลอะฟาร์ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอิรักเมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) และเคลื่อนทัพมุ่งเข้าชิงคืนเมืองนี้จากพวกไอเอส </i>
รอยเตอร์ - กองกำลังอาวุธรัฐบาลอิรักสามารถยึดพื้นที่บางส่วนภายในเขตตัวเมืองตัลอะฟาร์ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอิรักในวันอังคาร (22 ส.ค.) อันเป็นวันที่ 3 ของการเปิดรุกใหญ่ภายใต้การหนุนหลังของสหรัฐฯ เพื่อชิงเมืองนี้คืนมาจากเงื้อมมือของพวกนักรบ “รัฐอิสลาม” (ไอเอส)

ตัลอะฟาร์ (Tal Afar) ซึ่งเป็นที่มั่นแห่งหนึ่งของไอเอสมาหลายปี กลายเป็นเป้าหมายล่าสุดในสงครามคราวนี้ ภายหลังกองกำลังฝ่ายรัฐบาลอิรักที่หนุนหลังโดยอเมริกัน สามารถยึดคืนเมืองโมซุล เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอิรัก หลังจากการรณรงค์สู้รบอย่างดุเดือดเป็นเวลา 9 เดือน จนทำให้พื้นที่จำนวนมากของเมืองนี้กลายเป็นเศษซากปรักหักพัง

รัฐมนตรีกลาโหม จิม แมตทิส ของสหรัฐฯ กล่าวขณะก่อนเดินทางมาถึงอิรักในวันอังคาร (22) ไม่กี่ชั่วโมงว่า การสู้รบปราบปรามพวกไอเอสยังคงห่างไกลจากจุดสิ้นสุด ถึงแม้ความสำเร็จหลายประการในช่วงหลังๆ นี้ของรัฐบาลซึ่งหนุนหลังโดยฝ่ายตะวันตก เป็นต้นว่า กลุ่มนักรบญิฮาดมุสลิมสุหนี่กลุ่มนี้ยังคงสามารถควบคุมพื้นที่ในภาคตะวันตกของอิรักและภาคตะวันออกของซีเรีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร (22) กองทัพอิรักและกองกำลังรบพิเศษต่อต้านการก่อการร้ายหลายหน่วย สามารถบุกเข้าไปในพื้นที่เมืองตัลอะฟาร์จากทางด้านตะวันออกและด้านใต้ กองบัญชาการยุทธการร่วมอิรักแถลง

เวลานี้พื้นที่ประมาณ 3 ใน 4 ของตัวเมืองยังคงอยู่ใต้การควบคุมของพวกนักรบไอเอส รวมทั้งป้อมโบราณยุคจักรวรรดิออตโตมันซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ทั้งนี้ตามข้อมูลในแผนยุทธการที่เผยแพร่โดยกองทัพอิรัก

กำลังหลักที่เข้าร่วมการบุกคราวนี้ประกอบด้วยกองทัพบกอิรัก, กองทัพอากาศ, กองตำรวจส่วนกลาง, หน่วยกำลังต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism Service หรือ CTS) ที่ได้รับการฝึกอบรมจากสหรัฐฯ, ตลอดจนกองกำลังระดมจากประชาชน (Popular Mobilization Forces หรือ PMF) ซึ่งเป็นกองกำลังชาวมุสลิมชีอะห์ โดยได้เข้าปิดล้อมเมืองนี้และเริ่มเปิดฉากรุกในวันอาทิตย์ (20) ที่ผ่านมา
<i>กองกำลังระดมจากประชาชน (Popular Mobilization Forces หรือ PMF) ซึ่งเป็นกองกำลังชาวมุสลิมชีอะห์  เข้าสมทบกำลังกับกองทัพบกอิรัก ที่บริเวณนอกเมืองตัลอะฟาร์ ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอิรักเมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) และเคลื่อนทัพมุ่งเข้าชิงคืนเมืองนี้จากพวกไอเอส </i>
<i>กองกำลังระดมจากประชาชน (Popular Mobilization Forces หรือ PMF) ซึ่งเป็นกองกำลังชาวมุสลิมชีอะห์  ยิงจรวดไปยังที่มั่นของพวกไอเอสบริเวณนอกเมืองตัลอะฟาร์ เมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) </i>
ตัลอะฟาร์ตั้งอยู่ห่างจากโมซุลไปทางตะวันตกราว 80 กิโลเมตร เมืองนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เนื่องจากตั้งอยู่บนถนนสายที่เชื่อมเมืองโมซุลกับซีเรีย นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ผลิตหัวหน้านักรบอาวุโสที่สุดบางคนของไอเอส เมืองนี้ถูกตัดขาดจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไอเอสยึดครองอยู่ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ตามการประมาณการของสหรัฐฯและพวกผู้บังคับบัญชาทหารชาวอิรัก พวกนักรบเจนศึกของไอเอสที่ยังอยู่ในตัลอะฟาร์อาจจะมีจำนวนถึง 2,000 คน

“แน่นอนทีเดียว วันเวลาของไอซิส (ISIS) กำลังเหลือน้อยลงทุกที แต่ก็ยังไม่ได้หมดสิ้นไปในตอนนี้ และก็จะยังไม่ได้หมดสิ้นไปในเวลาใกล้ๆ นี้หรอก” แมตทิสบอกกับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดน

สภาพอันเลวร้ายของพลเรือน

ทำนองเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามชิงเมืองโมซุล กลุ่มองค์กรให้ความช่วยเหลือต่างๆ กำลังแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับสภาพอันเลวร้ายของพลเรือนในตัลอะฟาร์

พลจัตวาแอนดริว ครอฟต์ ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บังคับการการปฏิบัติการทางอากาศของกลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯ เหนือน่านฟ้าอิรัก บอกว่ามีพลเรือนระหว่าง 10,000 ถึง 20,000 คนยังอยู่ในตัลอะฟาร์ และคิดกันว่าอาจจะมีอีกไม่เกิน 20,000 คนยังคงอยู่กันในพื้นที่รอบๆ ทว่าพวกกลุ่มองค์กรให้ความช่วยเหลือกล่าวว่าตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงการประมาณการ โดยที่พวกเขาไม่สามารถเข้าไปยังตัลอะฟาร์มาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

ตลอดสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพลเรือนทยอยหลบหนีกันเป็นกลุ่มๆ จากตัวเมืองและหมู่บ้านรอบๆ โดยอาศัยความมืดในช่วงกลางคืน ขณะที่พวกซึ่งยังอยู่ถูกข่มขู่จะฆ่าให้ตายจากพวกนักรบไอเอส ซึ่งได้เข้ายึดเมืองนี้เอาไว้อย่างเหนียวแน่นนับจากปี 2014 สหประชาชาติให้ตัวเลขว่ามีผู้คนราว 30,000 คนหลบหนีออกจากตัลอะฟาร์ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา
<i>รัฐมนตรีกลาโหม อารฟัน อัล-ฮายาลี ของอิรัก (ขวา) ต้อนรับรัฐมนตรีกลาโหม จิม แมตทิส ของสหรัฐฯ ที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ในวันอังคาร (22 ส.ค.) </i>
ที่นครเจนีวา, สวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฝ่ายผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แถลงว่า พวกที่กำลังหลบหนีออกมาในสัปดาห์นี้ อยู่ในอาการทุกข์ทรมานจากภาวะขาดน้ำและความเหนื่อยอ่อน โดยที่ต้องปะทังชีวิตด้วยน้ำกับขนมปังซึ่งต่างไม่สะอาดตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา

“พวกเขาจำนวนมากบอกว่าได้เห็นศพคนตายนอนอยู่ตามรายทาง และมีรายงานหลายกระแสระบุว่าบางคนถูกพวกกลุ่มหัวรุนแรงฆ่าตาย” โฆษก UNHCR อันเดร็จ มาเฮซิซ กล่าว “คนอื่นๆ ดูเหมือนเสียชีวิตเนื่องจากขาดน้ำหรือเจ็บป่วย”

เขาบอกด้วยว่าคนที่กำลังเดินทางมาถึงค่ายพักชั่วคราว หลายคนยังอยู่ในอาการบาดเจ็บเพราะถูกยิงจากพวกนักรบแม่นปืน และเหยียบกับระเบิด

ทางด้านแมตทิสเมื่อเดินทางถึงกรุงแบกแดดแล้ว ได้เข้าพบทั้งนายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-อาบาดี และรัฐมนตรีกลาโหม อารฟัน อัล-ฮายาลี ของอิรัก เพื่อหารือกันถึงบทบาทของกองทหารสหรัฐฯในอิรักหลังจากตีคืนเมืองต่างๆ ที่เหลืออยู่จากเงื้อมมือของไอเอสแล้ว

พลจัตวาครอฟต์กล่าวว่า เขาสังเกตเห็นว่าช่วงสองสามเดือนหลังมานี้ ดูเหมือนเกิดความแตกร้าวในคณะผู้นำไอเอส

“ดูเหมือนกับมีการร่วมมือประสานงานกันลดน้อยลง ดูเหมือนกับมีการแตกร้าวกันมากขึ้น มุ่งมั่นเอาจริงเอาใจน้อยลง และอยู่ในลักษณะง่อนแง่นบอบบาง นี่คือคำที่ผมขอใช้ ... มันเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจาย” ครอฟต์บอกพวกผู้สื่อข่าว
<i>ทหารกองทัพบกอิรัก ซึ่งหนุนหลังโดย กองกำลังระดมจากประชาชน (Popular Mobilization Forces หรือ PMF) ที่เป็นกองกำลังชาวมุสลิมชีอะห์  เคลื่อนทัพเพื่อชิงคืนเมืองตัลอะฟาร์ เมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) </i>
<i>ทหารกองทัพบกอิรัก ซึ่งหนุนหลังโดย กองกำลังระดมจากประชาชน (Popular Mobilization Forces หรือ PMF) ที่เป็นกองกำลังชาวมุสลิมชีอะห์  เคลื่อนทัพเพื่อชิงคืนเมืองตัลอะฟาร์ เมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) </i>
พวกผู้นำไอเอสนั้นพากันหลบหนีออกจากโมซุลในระหว่างเกิดการสู้รบที่นั่น โดยเฉพาะไม่มีใครทราบว่า อาบู บาคร์ อัล-แบกดาดี ตัวหัวหน้าใหญ่ไอเอส เวลานี้อยู่ที่ไหน ขณะที่มีรายงานข่าวที่ไม่มีการยืนยันหลายกระแสในระยะสองสามเดือนที่ผ่านมาว่า เขาถูกฆ่าตายแล้ว

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯยอมรับว่า เมืองใหญ่ๆ อย่างเช่นโมซุล ถึงแม้พื้นที่ส่วนมากสามารถเคลียร์พวกนักรบไอเอสออกไปแล้ว แต่ยังคงมีความกังวลกันเกี่ยวกับความสามารถของกองกำลังอาวุธฝ่ายรัฐบาลอิรักในการยึดพื้นที่เหล่านี้ให้มั่นคง ขณะที่แมตทิสบอกว่า ยังคงมีกลุ่มต่อต้านกลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่มกระจายอยู่ในฟากตะวันตกของโมซุล รวมทั้งมีหน่วยกำลังที่ฝังตัวยังไม่เคลื่อนไหวใดๆ ในตอนนี้

นอกจากที่อิรักแล้ว ไอเอสยังตกเป็นฝ่ายถอยเช่นกันในซีเรีย โดยที่กองกำลังอาวุธท้องถิ่นชาวเคิร์ดและชาวอาหรับซึ่งกลุ่มพันธมิตรนำโดยสหรัฐฯให้การสนับสนุนอยู่ สามารถยึดพื้นที่ของไอเอสหลายผืนในบริเวณภาคเหนือของประเทศ อีกทั้งกำลังทำศึกเข้าตีเมืองร็อกเกาะฮ์ ซึ่งเป็นที่มั่นสำคัญที่สุดของไอเอสในซีเรีย

เบรตต์ แมคเกิร์ค ผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯทำหน้าที่ดูแลการสร้างพันธต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลาม ระบุว่ายังมีนักรบไอเอสราว 2,000 คนอยูในร็อกเกาะฮ์ โดยที่กองกำลังเคิร์ดและอาหรับสามารถยึดคืนพื้นที่เมืองนี้มาได้ราว 60% แล้ว

เวลานี้ไอเอสกำลังถูกกดดันให้ถอยลึกกลับเข้าไปในเขตหุบเขายูเฟรติส ทางด้านตะวันออกของซีเรีย

รัฐมนตรีกลาโหมแมตทิสกล่าวว่า ก้าวต่อไปสำหรับกองกำลังที่ทำการต่อสู้กับไอเอสในซีเรีย จะเป็นการเคลื่อนเข้าไปปราบปรามบริเวณตอนกลางของหุบเขายูเฟรติส ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงที่มั่นของนักรบญิฮาดกลุ่มนี้ในจังหวัดเดอีร์ อัล-ซอร์ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของร็อกเกาะฮ์
<i>รัฐมนตรีกลาโหม จิม แมตทิส ของสหรัฐฯ เข้าพบ มัสซุด บาร์ซานี ประธานของรัฐบาลปกครองตนเองในภูมิภาคเคอร์ดิสสถาน  ที่เมืองเออร์บิล เมืองหลวงของเคอร์ดิสถาน ในอิรัก เมื่อวันอังคาร (22 ส.ค.) </i>
การลงประชามติแยกเป็นประเทศเอกราชของชาวเคิร์ด

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งบอกด้วยว่า แมตทิสมาอิรักเที่ยวนี้ ยังมุ่งที่จะบีบคั้น มัสซุด บาร์ซานี ประธานของรัฐบาลปกครองตนเองในภูมิภาคเคอร์ดิสสถาน ให้ยกเลิกการจัดลงประชามติตัดสินว่าจะแยกภูมิภาคของชาวเคิร์ดในอิรักนี้ออกเป็นชาติเอกราชหรือไม่ ตามที่ได้วางแผนการเอาไว้
ชาวเคิร์ดในอิรักกล่าวว่าพวกเขาจะจัดการลงประชามติในวันที่ 25 กันยายนนี้ ถึงแม้มีเสียงแสดงความวิตกจากพวกชาติเพื่อนบ้านของอิรักซึ่งก็มีชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดพำนักอาศัยอยู่ รวมทั้งสหรัฐฯก็เรียกร้องให้เลื่อนเรื่องนี้ไปก่อน

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อาวุโสชาวเคิร์ดผู้หนึ่งกล่าวว่า ฝ่ายเคิร์ดจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะชะลอการจัดลงประชามติ หากได้ข้อแลกเปลี่ยนในรูปของการยินยอมอ่อนข้อทั้งทางการเงินและทางการเมืองจากรัฐบาลส่วนกลางในแบกแดด

สหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ ต่างหวาดกลัวว่าการลงประชามติเช่นนี้อาจจะเป็นชนวนทำให้เกิดการสู้รบขัดแย้งครั้งใหม่ ระหว่างชาวเคิร์ดกับกรุงแบกแดด และกระทั่งกับชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะเป็นการหันเหความสนใจออกจากสงครามปราบปรามพวกไอเอสในอิรักและซีเรียที่กำลังดำเนินอยู่เวลานี้
กำลังโหลดความคิดเห็น