เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีกลาโหม อีร์ฟาน อัล-ฮายาลี ของอิรัก ซึ่งกำลังเยือนกรุงเตหะราน ลงนามในข้อตกลงเมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ค.) กับรัฐมนตรีกลาโหม ฮอสเซน เดห์ขาน ของอิหร่าน โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเพิ่มพูนยกระดับความร่วมมือทางการทหารระหว่างกัน
ข้อตกลงเหล่านี้ฉบับหนึ่งคือบันทึกความเข้าใจระหว่างสองฝ่าย ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองที่ต่างมีประชากรส่วนข้างมากเป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ เห็นพ้องต้องกันที่จะ “มีความร่วมมือกันในด้านการทหารและด้านกลาโหมอย่างกว้างขวาง” โดยรวมถึง “การสู้รบต่อต้านลัทธิก่อการร้ายและลัทธิสุดโต่ง” สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงาน
ฮายาลี ซึ่งกำลังนำคณะผู้แทนทางทหารคณะหนึ่งมาเยือนอิหร่านอยู่ในเวลานี้ ยังได้เข้าพบหารือกับ อาลี ลาริจานี ประธานรัฐสภาของประเทศเจ้าบ้าน และกับ อาลี ชามคานี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติสูงสุดของอิหร่าน
ทั้ง ลาริจานี และ ชามคานี ต่างย้ำความสำคัญของ “ความสามัคคี”
“อิหร่านสนับสนุนความสามัคคีของทุกๆ กลุ่มและทุกๆ ชาติพันธุ์ในอิรัก” เว็บไซต์ของสถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งรัฐของอิหร่านอ้างคำพูดที่ลาริจานีกล่าวกับฮายาลี
ลาริจานียังย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความสามัคคีของชาวอิรักเอาไว้ให้ได้ โดยกล่าวว่า “ถ้าหากไม่เป็นเพราะว่ามีความแตกต่างกันทางการเมืองเกิดขึ้นมาแล้ว (กลุ่มรัฐอิสลาม) ก็จะไม่สามารถแทรกซึมแผ่อิทธิพลได้”
ทางด้านรัฐมนตรีกลาโหมอิรักได้ขอบคุณอิหร่านที่ให้ความช่วยเหลือในการสู้รบปราบปรามกลุ่มไอเอส และก็กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความสามัคคีเช่นกัน
ทั้งนี้ ภูมิภาคเคอร์ดิสถานของชาวเคิร์ดในอิรัก ซึ่งมีฐานะเป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง เพิ่งประกาศว่าจะจัดการลงประชามติว่าจะแยกตัวเป็นชาติเอกราชหรือไม่ในเดือนกันยายนนี้
ฮายาลีกล่าวว่า “เราจะไม่ยินยอมให้ฝักฝ่ายทางการเมืองใดๆ มาแบ่งแยกบูรณภาพของอิรัก” ฮายาลี บอก
ตามรายงานของสื่อทางการอิหร่าน ระหว่างการหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมอิรัก ชามคานีได้เตือนว่า “วิธีการเข้าถึงปัญหาแบบของพวกนักแบ่งแยกดินแดน อาจจะกลายเป็นหลักนโยบายขึ้นมา … เพื่อตระเตรียมพื้นฐานเอาไว้สำหรับภาวะไม่มีความมั่นคงและไร้เสถียรภาพ”
ที่ผ่านมา เตหะรานเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญรายหนึ่งของแบกแดด ในเรื่องการสู้รบปราบปรามพวกไอเอส โดยที่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่อิรักทั้งทางด้านการเงินและการทหาร
อิหร่านเองก็มีประชากรส่วนหนึ่งเป็นชาวเคิร์ดเช่นกัน โดยพำนักอาศัยกันอยู่ตามพื้นที่ชายแดนระหว่างอิหร่านกับอิรักและอิหร่านกับตุรกี เตหะรานจึงไม่ต้องการเห็นภูมิภาคชาวเคิร์ดของอิรักกลายเป็นรัฐเอกราชขึ้นมา