รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องวานนี้ (21 พ.ค.) ให้ผู้นำชาติอาหรับและมุสลิมผนึกกำลังมีส่วนร่วมในการปราบปรามพวกอิสลามิสต์หัวรุนแรงและลัทธิก่อการร้าย พร้อมตราหน้า “อิหร่าน” ว่าเป็นรัฐที่ให้ทุนสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบต่างๆ
คำพูดของ ทรัมป์ สอดคล้องไปในทางเดียวกับเจ้าภาพซาอุดีอาระเบีย และเป็นการส่งคำเตือนแรงๆ ไปยังอิหร่านเพียง 1 วันหลังจากที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รอฮานี ผู้นำสายกลาง เพิ่งจะชนะศึกเลือกตั้งได้บริหารประเทศต่ออีกสมัย
ระหว่างการเยือนริยาดซึ่งถือเป็นทริปต่างประเทศครั้งแรกของเขาในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ทรัมป์ ดูเหมือนจะรับฟังคำเตือนให้ใช้วาจานุ่มนวลกับโลกมุสลิมมากขึ้น และไม่ได้เอ่ยคำว่า “ลัทธิก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง” (radical Islamic terrorism) ที่เคยใช้บ่อยๆ ในช่วงหาเสียงออกมาแม้แต่ครั้งเดียว
“การก่อการร้ายได้แพร่กระจายไปทั่วโลก แต่เส้นทางสู่สันติภาพต้องเริ่มต้นที่นี่ บนดินแดนอันเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้” ทรัมป์ กล่าวต่อบรรดาผู้นำจาก 50 ประเทศที่มีมุสลิมเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ และคิดเป็นสัดส่วนประชากรกว่า 1,000 ล้านคนของโลก
“อนาคตที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นได้ หากประเทศของท่านช่วยกันขับไล่กลุ่มก่อการร้ายและพวกหัวรุนแรงสุดโต่ง ขับไล่พวกเขาออกไปเสีย! ขับไล่พวกเขาออกไปจากศาสนสถานของท่าน ขับไล่พวกเขาออกไปจากชุมชนของท่าน ขับไล่พวกเขาออกไปจากดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของท่าน และขับไล่พวกเขาออกไปจากโลกนี้”
สุนทรพจน์ในต่างแดนครั้งแรกของทรัมป์ ถือเป็นโอกาสที่เขาได้โชว์ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมุ่งมั่น และเบนความสนใจจากข่าวฉาวในบ้านเกิดที่เริ่มลุกลามบานปลายจากการที่เขาสั่งปลด เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
ทรัมป์ ชี้ว่า สงครามกับลัทธิก่อการร้ายเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ความดีและความชั่ว” ไม่ใช่ระหว่างอารยธรรมที่ต่างกัน พร้อมกล่าวอย่างหนักแน่นว่าสหรัฐฯ พร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนกับตะวันออกกลาง แต่ก็หวังจะได้รับความร่วมมือมากขึ้นด้วย
“ยังมีงานหลายอย่างที่เราต้องทำ ซึ่งก็คือการเผชิญหน้ากับลัทธิสุดโต่งในอิสลาม (Islamic extremism) พวกอิสลามิสต์ (Islamists) และลัทธิอิสลามก่อการร้าย (Islamic Terror) ทุกรูปแบบ”
ในร่างสุนทรพจน์ที่เตรียมเอาไว้ล่วงหน้านั้น ทรัมป์ จะต้องใช้คำว่า “ลัทธิสุดโต่งอิสลามิสต์” (Islamist extremism) แต่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่งอ้างว่าผู้นำสหรัฐฯ “เหน็ดเหนื่อย” จนมีการเปลี่ยนคำพูดไปเล็กน้อย
“ลัทธิสุดโต่งอิสลามิสต์” นั้นมีความหมายสื่อถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง (political movement) มากว่าตัวศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นข้อแตกต่างที่รัฐบาล บารัค โอบามา กำหนดขึ้น และเคยถูก ทรัมป์ วิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ
ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ ได้เสนอมาตรการแบนวีซ่าห้ามชาวมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐฯ ชั่วคราว และหลังจากที่กลายเป็นผู้นำทำเนียบขาว เขาก็ได้ออกคำสั่งบริหารกีดกันพลเมืองมุสลิมจากหลายประเทศ ทว่าคำสั่งเหล่านั้นถูกศาลยับยั้งด้วยเหตุว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ
เป็นที่น่าสังเกตว่า กษัตริย์ซาอุฯ ต้อนรับขับสู้ ทรัมป์ ดีกว่าที่เคยต้อนรับอดีตประธานาธิบดีโอบามา เมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากริยาดมองว่า โอบามาไม่เด็ดขาดกับอิหร่าน แถมยังลังเลกับการจัดการวิกฤตซีเรีย ขณะที่ ทรัมป์ แสดงจุดยืนชัดเจนว่าต้องการลดทอนอิทธิพลของอิหร่านในภูมิภาคนี้
“เป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้วที่อิหร่านสุมไฟให้เกิดสงครามระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ และสนับสนุนการก่อการร้าย... รัฐบาลของพวกเขาพูดถึงแต่การสังหารหมู่ ขู่จะทำลายอิสราเอล ไล่อเมริกาไปตายเสีย และสาปแช่งให้ผู้นำหลายประเทศในห้องนี้พบกับความวิบัติ” ทรัมป์ กล่าว
ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้เอ่ยชัดเจนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนในซาอุดีอาระเบียหรือรัฐอ่าวอาหรับอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวอธิบายว่า ทรัมป์ ไม่ได้ต้องการมา “เลคเชอร์” สั่งสอนประเทศเหล่านี้อย่างที่ โอบามา เคยทำ และก็ทำไม่สำเร็จ
ด้าน จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ได้ทวีตข้อความตอบโต้สหรัฐฯ อย่างประชดประชันว่า ทรัมป์ พูดโจมตีอิหร่านในซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็น “ป้อมปราการแห่งประชาธิปไตยและความเป็นกลาง” แถมยัง “ป้อนนม” ให้เจ้าภาพซาอุฯ ด้วยข้อตกลงทางธุรกิจมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์
สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุฯ มีพระราชดำรัสตอบ ทรัมป์ ว่า อิหร่านเป็นต้นตอของลัทธิก่อการร้ายที่วอชิงตันและริยาดจะต้องร่วมกันต่อต้าน
“เรามีหน้าที่ต่อพระเจ้า ต่อประชาชน และต่อผู้คนทั่วโลก ในการยืนหยัดต่อสู้กับพลังอันชั่วร้ายและลัทธิสุดโต่ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม... รัฐบาลอิหร่านก็เป็นเสมือนปลายหอกของลัทธิก่อการร้ายสากล” กษัตริย์ซาอุฯ ตรัส