เอเจนซีส์ - “ทากาตะ” บริษัทต้นเรื่องที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องเรียกคืนรถมาซ่อมแซมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ยื่นล้มละลายแล้วทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา เพื่อปูทางให้ “คีย์ เซฟตี้ ซิสเต็มส์” ซัปพลายเออร์ยานยนต์อเมริกันในเครือของบริษัทจีนเข้ามาเทกโอเวอร์ด้วยวงเงิน 1,600 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม การยื่นล้มละลายไม่ได้หมายความว่า วิกฤตจบลงด้วยดี เพราะบริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้ยังต้องเผชิญการถูกฟ้องร้อง รวมทั้งหนี้สินและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยที่บกพร่อง ซึ่งคาดว่ามีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์
ในการยื่นล้มละลายคราวนี้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับผู้ผลิตญี่ปุ่น ทากาตะยังคงต้องแบกรับต้นทุนและหนี้สินกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการต้องเรียกคืนผลิตภัณฑ์และจากคดีความที่ยืดเยื้อเกือบหนึ่งทศวรรษเกี่ยวกับถุงลมนิรภัยของบริษัท ซึ่งพัวพันกับการเสียชีวิตของผู้คนอย่างน้อย 17 รายทั่วโลก
บริษัท ทากาตะ ในญี่ปุ่น ได้ยื่นขอล้มละลายต่อศาลแขวงโตเกียวช่วงเช้าวันจันทร์ (26 มิ.ย.) ขณะที่ ทีเค โฮลดิ้งส์ บริษัทในเครือทากาตะที่ตั้งอยู่ในอเมริกา ก็ยื่นขอรับความคุ้มครองภายใต้หมวด 11 ของกฎหมายล้มละลายสหรัฐฯ ที่มลรัฐเดลาแวร์เมื่อวันอาทิตย์ (25 มิ.ย.) นอกจากนั้นรายงานยังระบุว่าบริษัทในเครือซึ่งอยู่ในต่างประเทศ 12 แห่งของทากาตะก็ยื่นล้มละลายเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ โตเกียว โชโกะ รีเสิร์ช ประเมินว่าทากาตะมีหนี้สินทั้งสิ้น 1.7 ล้านล้านเยน (ราว 15,000 ล้านดอลลาร์)
ทนายความของทากาตะบอกว่า มูลค่าหนี้ขั้นสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจากับลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทรถยนต์ที่ต้องแบกรับภาระในการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย
การยื่นล้มละลายครั้งนี้เพื่อเปิดทางให้คีย์ เซฟตี้ ซิสเต็มส์ (เคเอสเอส) ซัปพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งตั้งฐานอยู่ในอเมริกา แต่เป็นกิจการในเครือหนิงโป จอยสัน อิเล็กทรอนิกส์ของจีน เข้าไปกอบกู้สถานะการเงินของทากาตะ
จากข้อตกลงที่เจรจากันมานาน 16 เดือน เคเอสเอสตกลงเข้าผนวกการดำเนินกิจการส่วนที่ยังอยู่รอดของทากาตะ สำหรับการดำเนินกิจการส่วนที่เชื่อมโยงกับถุงลมนิรภัยซึ่งมีปัญหาจะต้องปรับโครงสร้างเพื่อเดินหน้าผลิตตัวสูบลมเข้าถุงลม เป็นจำนวนหลายล้านชุดสำหรับเปลี่ยนให้ลูกค้าต่อไป
เคเอสเอสเผยว่า ไม่มีแผนปลดพนักงานของทากาตะที่มีทั้งหมด 60,000 คนใน 23 ประเทศ รวมทั้งจะคงโรงงานในญี่ปุ่นไว้ตามเดิม โดยข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อทำให้ทากาตะสามารถดำเนินงานต่อโดยไม่ติดขัดและมีการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานน้อยที่สุด
ทางด้าน ชิเกฮิสะ ทากาดะ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร (ซีอีโอ) ของทากาตะ แถลงว่า บริษัทเชื่อว่า การยื่นล้มละลายในญี่ปุ่นและอเมริกาเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับต้นทุนและหนี้สินที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาตัวสูบลมเข้าถุงลมอย่างเป็นระบบและแน่นอน
ทากาดะเสริมว่า ตนและทีมผู้บริหารระดับสูงจะลาออกหลังจากมีการกำหนดแผนการปรับโครงสร้างเสร็จสิ้น ขณะที่คาดหมายกันว่าตระกูลทากาดะซึ่งควบคุมบริษัทมา 84 ปี ก็จะยุติบทบาทผู้ถือหุ้นโดยสิ้นเชิง
ด้าน เจสัน ลัว ประธานและซีอีโอของเคเอสเอส แถลงว่า ความแข็งแกร่งสำคัญของธุรกิจทากาตะไม่ได้ถูกทำลายไปจากปัญหาการเรียกคืนถุงลมนิรภัย โดยเขาชี้ถึงฐานพนักงานที่มีทักษะสูง ขอบเขตการเข้าถึงลูกค้าเชิงภูมิศาสตร์ และผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยอื่นๆ เช่น เข็มขัดนิรภัย และพวงมาลัย
ทั้งสองบริษัทคาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายในการควบรวมกิจการภายในไม่กี่สัปดาห์นี้ และเสร็จสิ้นกระบวนการล้มละลายในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า
รายงานระบุว่า พวกบริษัทรถที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของทากาตะ ต่างสนับสนุนการยื่นล้มละลายครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม การยื่นล้มละลายไม่ได้หมายความว่า ปัญหาทุกอย่างได้รับการสะสาง
โตโยต้า มอเตอร์ระบุว่า ทากาตะเป็นหนี้ตนอยู่ราว 5,100 ล้านดอลลาร์จากกรณีการเรียกคืนถุงลมนิรภัย ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด เผยว่า ยังไม่สามารถตกลงกับทากาตะได้เรื่องความรับผิดชอบในการเรียกคืน ทว่าในวันจันทร์ (26) ทั้งฮอนด้า และนิสสัน มอเตอร์ ยอมรับว่า มีโอกาสน้อยมากที่จะเรียกเงินคืนจากทากาตะในศาลล้มละลาย
นอกจากนี้ ทั้งทากาตะและบริษัทรถบางรายยังเผชิญการร้องเรียนทางกฎหมายจากข้อกล่าวหาที่ว่า พวกเขารับรู้ปัญหาข้อบกพร่องแต่ไม่ยอมเปิดเผยต่อสาธารณชน
ปัจจุบัน ทากาตะเผชิญการฟ้องร้องและต้องแบกรับต้นทุนจากการเรียกคืนถุงลมนิรภัยเป็นมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์ จากลูกค้าที่รวมถึงฮอนด้า, บีเอ็มดับเบิลยู, โตโยต้า มอเตอร์ และอีกมากมาย ที่ต้องรับภาระนี้ไปก่อน
นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มว่า ทากาตะอาจต้องรับผิดชอบในคดีถูกฟ้องร้องหมู่ในอเมริกา แคนาดา และประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ด้านการขนส่งทั่วโลกสั่งเปลี่ยนตัวสูบลมเข้าถุงลมประมาณ 100 ล้านชุดที่มีความเสี่ยงพองตัวอย่างไม่เหมาะสมและเกิดการระเบิด ซึ่งแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมระบุว่า มีค่าใช้จ่ายถึงประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการระบุสาเหตุที่แท้จริงของข้อบกพร่องนี้ แต่มีข้อสงสัยกันว่า อาจเกิดจาก 3 ปัจจัยคือ ส่วนประกอบที่เป็นสารเคมีคือแอมโมเนียมไนเตรทในถุงลมนิรภัยที่อาจตอบสนองต่อความชื้นได้ไม่ดีนัก, สภาพอากาศรุนแรง เช่น ความร้อนหรือความชื้นสูง และข้อบกพร่องในการออกแบบ
ทากาตะตกลงจ่ายค่ายอมความให้หน่วยงานผู้คุมกฎด้านความปลอดภัยของสหรัฐฯ แล้วประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ทว่า บริษัทยังถูกวิจารณ์ว่าเพิกเฉยตอนที่วิกฤตลุกลาม
นอกจากนั้น ต้นทุนการเปลี่ยนตัวสูบลมเข้าถุงลมยังทำให้บริษัทขาดทุนนาน 3 ปี และถูกบังคับให้ขายบริษัทในเครือเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าปรับและหนี้สินอื่นๆ
ทากาตะก่อตั้งขึ้นในฐานะบริษัทสิ่งทอในปี 1933 และเริ่มผลิตถุงลมนิรภัยในปี 1987 โดยเคยก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ความปลอดภัยใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสูงสุด
ทากาตะยังผลิตเข็มขัดนิรภัย 1 ใน 3 ที่ใช้ในรถทั่วโลก รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์อื่นๆ
ตลาดหุ้นโตเกียวแถลงว่า จะคัดชื่อทากาตะออกจากตลาดในวันที่ 27 เดือนหน้า ทั้งนี้ ราคาหุ้นของบริษัทแห่งนี้ลดต่ำลง 95% นับจากที่มีการเรียกคืนถุงลมนิรภัยครั้งใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2014