เอเจนซีส์ - บริษัท คีย์ เซฟตี ซิสเตมส์ อิงก์ (Key Safety Systems Inc) สัญชาติจีน ผงาดขึ้นมาในฐานะที่จะเข้าประมูลช้อนซื้อแข่งกับบริษัท ออโต้ลีฟ อิงก์ (Autoliv Inc) สัญชาติสวีเดน เพื่อเป็นเจ้าของบริษัทผลิตถุงลมนิรภัยสัญชาติญี่ปุ่น “ทากาตะ” ที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่องถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั่วโลก สร้างปรากฏการณ์เรียกรถคืนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
บลูมเบิร์ก สื่อธุรกิจ รายงานเมื่อวานนี้ (5 ก.พ.) ว่า คณะกรรมการภายนอกที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อการปรับโครงสร้างของบริษัทผลิตถุงลมนิรภัยสัญชาติญี่ปุ่น “ทากาตะ” กล่าวผ่านแถลงการณ์ในวันเสาร์ (4) ว่าได้มีการนำเสนอชื่อบริษัทสัญชาติจีน คีย์ เซฟตี ซิสเตมส์ อิงก์ (Key Safety Systems Inc)
แต่อย่างไรก็ตาม ในแถลงการณ์ระบุว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการตัดสินใจในขั้นสุดท้าย
สื่อธุรกิจชี้ว่า คีย์ เซฟตี ซิสเตมส์ อิงก์ ยังต้องผ่านคู่แข่งจากสวีเดน ออโต้ลีฟ อิงก์ (Autoliv Inc) ที่มีความสนใจในการประมูลครั้งนี้ด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม บลูมเบิร์กรายงานว่า ดูเหมือนออโต้ลีฟ อิงก์จะสนใจในการเข้าซื้อบางแผนกของทากาตะเท่านั้น หากว่าทากาตะได้ยื่นเรื่องเพื่อขอล้มละลายสำหรับรับการคุ้มครอง และมีความจำเป็นที่ต้องชายทอดตลาดธุรกิจบางส่วนของทากาตะออกไป อ้างอิงจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิด
ทั้งนี้ ทากาตะประกาศว่า ยังไม่มีการตัดสินใจออกมาว่าทางบริษัทฯ จะดำเนินไปตามนโยบายการปรับโครงสร้างที่ศาลญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนดหรือไม่ แต่ในขณะที่ทางบริษัท ทากาตะ ประกาศว่ายังไม่มีการพิจารณาถึงการที่จะเริ่มปรับโครงสร้างผ่านการยื่นขอล้มละลายไปยังศ่าลญี่ปุ่น ที่จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายของการผลิต แต่ทว่าหุ้นและหุ้นกู้ของทากาตะนั้นร่วงลงมาตั้งแต่มีรายงานเปิดเผยออกมาว่า ผู้ที่เข้าประมูลต่างรับทราบว่า การที่ทากาตะต้องดำเนินไปในแนวทางนั้นอาจทำให้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบต่อความรับผิดชอบทางกฎหมาย
และหากว่าข้อตกลงนั้นสามารถบรรลุ จะเป็นการสิ้นสุดวิกฤตของทากาตะที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางทากาตะได้ออกมายอมรับกับสาธารณะว่าทางบริษัทได้ปกปิดข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์ถุงลมนิรภัยของทากาตะสามารถเกิดระเบิดได้ในข้อตกลงที่ทางทากาตะต้องจ่ายเป็นเวลา 15 ปีให้กับผู้กำกับสหรัฐฯ ผู้บริโภค และผู้ผลิตรถยนต์ มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สำหรับค่าปรับ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ทางทากาตะต้องหาผู้ร่วมทุนที่จะช่วยให้ทางบริษัทสามารถผ่านกระบวนการเหล่านี้ได้
บลูมเบิร์กรายงานต่อว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ประสบปัญหาการถูกเรียกคืนถุงลมนิรภัยไม่ต่ำกว่า 100 ล้านชิ้น โดยถุงลมนิรภัยที่มีปัญหาจากโรงงานเหล่านี้เชื่อมโยงไปถึงคดีอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 17 คนทั่วโลก และเป็นสาเหตุทำให้เจ้าของคนใหม่จะต้องเข้ามาจัดการแผนปรับโครงสร้างในความพยายามที่ต้องลดความเสียหายจากการต้องรับผิดชอบให้ได้มากที่สุดในอนาคต รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการที่ต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัยตัวใหม่ และซัปพลายของอะไหล่ที่ถูกเปลี่ยนใหม่
บลูมเบิร์กรายงานว่า การเจรจายังดำเนินต่อไป และการข้อตกลงสุดท้ายคาดว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวใกล้ชิดกล่าว ซึ่งเมื่อวันเสาร์ (4 ก.พ.) ในกรุงโตเกียว สื่อธุริกจระบุว่า บริษัท คีย์ เซฟตี ซิสเตมส์ อิงก์ ที่มีฐานอยู่สเตอร์ลิง ไฮส์ (Sterling Heights ) รัฐมิชิแกนยังไม่ได้เซ็นสัญญาเจรจากับรายใดรายหนึ่งเท่านั้น (exclusive negotiation rights) และทางบริษัทยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ Due Diligence หรือการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของธุรกิจ แหล่งข่าวใกล้ชิดให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พบว่า บริษัท คีย์ เซฟตี ซิสเตมส์ อิงก์ถูกบริษัทนิงโบ จอยซัน อีเล็กทรอนิก คอร์ป (Ningbo Joyson Electronic Corp) สัญชาติจีนเข้าซื้อกิจการในปีที่ผ่านมามูลค่า 920 ล้านดอลลาร์ และถือเป็นผู้ผลิตถุงลมนิรภัยใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งในปี 2015 มีรายได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์ และการเข้าซื้อกิจการทากาตะจะทำให้บริษัทแห่งนี้สามารถเข้าถึงบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น และการควบกิจการจะส่งผลทำให้มีส่วนแบ่งตลาดใกล้กับบริษัท ออโต้ลีฟ อิงก์ (Autoliv Inc) สัญชาติสวีเดน ซึ่งเป็นผู้นำการตลาดในขณะนี้
ในขณะเดียวกัน ออโต้ลีฟ อิงก์ เนื่องจากอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ทำให้ทางบริษัทสนใจที่จะเข้าประมูลเพื่อซื้อบางธุรกิจของทากาตะเท่านั้น หรือการเข้าร่วมการประมูลปรับโครงสร้าง ซีอีโอ แจนคาร์ลสัน (Jan Carlson) กล่าวในการประชุมทางไกลทางโทรศัพท์ในการรายงานผลประกอบการในวันพฤหัสบดี (2 ก.พ.) และกล่าวต่อว่า “นี่เป็นการตัดสินใจของ OEM ที่เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดของวัน” คาร์ลสันกล่าว โดยอ้างไปถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้ติดตั้งถุงลมนิรภัยทากาตะในรถเหล่านั้น
สื่อธุรกิจรายงานว่า ทั้งคีย์ เซฟตี ซิสเตมส์ อิงก์ และออโต้ ลีฟ ได้เพิ่มศักยภาพทางการผลิตต่อความต้องการของถุงลมนิรภัยเนื่องมาจากมีความต้องการที่เพิ่มสูงเนื่องมาจากการเรียกคืนของถุงลมนิรภัยทากาตะ