รอยเตอร์ - เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีแผนจะถอนชื่ออิรักและเมียนมาออกจากบัญชีดำประเทศที่ใช้ทหารเด็ก (child soldiers) แม้จะมีเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญและนักการทูตระดับสูงหลายคนก็ตาม
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 3 คนยืนยันการตัดสินใจของรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งขัดต่อแนวทางปฏิบัติของกระทรวงด้านการขึ้นบัญชีดำประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และยังก่อให้เกิดข้อครหาว่ารัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ เห็นผลประโยชน์ด้านการทูตและความมั่นคงสำคัญว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน
แหล่งข่าวระบุว่า ทิลเลอร์สัน ใช้อำนาจคัดค้านผลการประเมินของเจ้าหน้าที่กระทรวงว่าด้วยเรื่องการใช้ทหารเด็กในอิรักและเมียนมา และยังปฏิเสธคำแนะนำของนักการทูตอาวุโสในเอเชียและตะวันออกกลางซึ่งต้องการให้ทั้ง 2 ประเทศถูกขึ้นบัญชีดำต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น ทิลเลอร์สัน ยังเมินข้อเสนอภายในกระทรวงการต่างประเทศที่ขอให้เพิ่ม “อัฟกานิสถาน” เข้าไปในบัญชีดำด้วย
เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งอธิบายว่า การตัดสินใจครั้งนี้น่าจะเป็นผลมาจากแรงกดดันของเพนตากอนที่ต้องการขจัดอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือกองทัพอิรักและอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นมือเป็นเท้าให้สหรัฐฯ ในการต่อสู้กับนักรบอิสลามิสต์
กองทัพต่างชาติที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะเผชิญมาตรการคว่ำบาตร เช่น ห้ามรับความช่วยเหลือ การฝึกฝน และอาวุธจากสหรัฐฯ เว้นเสียแต่ว่าทำเนียบขาวจะออกคำสั่งยกเว้นให้
เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนต่างตกตะลึงกับแผนถอดอิรักและเมียนมาพ้นบัญชีดำ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี (Trafficking in Persons - TIP) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่จะเผยแพร่ในวันอังคาร (27 มิ.ย.)
ภายใต้กฎหมายป้องกันการใช้ทหารเด็ก (Child Soldiers Prevention Act) ปี 2008 รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องพิสูจน์จนมั่นใจว่า ประเทศนั้นๆ “ไม่มีการรับสมัคร เกณฑ์ หรือใช้วิธีอื่นใดก็ตามในการดึงเยาวชนมาเป็นทหารเด็ก” ก่อนที่จะถอนรายชื่อออกจากบัญชีดำ และฟื้นฟูความช่วยเหลือ
สำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน (Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor)ในสังกัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งมีทีมนักวิจัยที่ช่วยกำหนดนโยบายในเรื่องเหล่านี้ รวมไปถึงฝ่ายกฎหมาย และสำนักงานการทูตสหรัฐฯ ทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง ล้วนสรุปตรงกันว่า หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งบอกว่าอิรักและเมียนมาสมควรถูกขึ้นบัญชีดำต่อไป
แหล่งข่าวชี้ว่า แม้รายงาน TIP จะจัดเตรียมเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขในนาทีสุดท้ายก็เป็นไปได้เสมอ
องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ เตือนว่า การถอดเมียนมาออกจากบัญชีดำนั้น “เร็วเกินไป อีกทั้งยังเป็นการทรยศหักหลังเยาวชนที่ถูกละเมิดสิทธิ และใช้แรงงานเยี่ยงทาส”
การตัดสินใจเช่นนี้ยังจะส่งผลให้สหรัฐฯ ต้องขัดแย้งกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งยังคงขึ้นบัญชีดำกองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อีก 7 กลุ่ม โทษฐานเกณฑ์เด็กมาจับอาวุธสู้รบ
“สิ่งที่น่าตะตกลึงอย่างมากก็คือ สหรัฐฯ เพิกเฉยต่อข้อมูลของยูเอ็นในเมียนมาที่ระบุว่า ยังคงได้รับรายงานว่ามีเด็กถูก (กองทัพเมียนมา) เกณฑ์เป็นทหารอยู่เรื่อยๆ” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรต์วอตช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุ
เมียนมาซึ่งมีพรมแดนติดทั้งจีนและอินเดียถือเป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ต่อสหรัฐฯ ในยามที่จีนกำลังสยายอิทธิพลและผูกมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านของตน
ในส่วนของอิรักแม้จะถูกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำเมื่อปี 2016 แต่ยังคงได้รับความช่วยเหลือจากวอชิงตันอย่างไม่ขาดสาย ทั้งในด้านการการฝึกฝนและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมมูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา