xs
xsm
sm
md
lg

จีนกับสหรัฐฯถูกลิขิตให้ต้องทำสงครามกันจริงๆ หรือ? เรื่องนี้ต้องถามวอชิงตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอร์จ คู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Are China and the US destined for war? Ask Washington
By George Koo
15/06/2017

เกรแฮม แอลลิสัน เขียนหนังสือเล่มใหม่ซึ่งตั้งคำถามว่าอเมริกากับจีนสามารถที่จะหลีกเลี่ยงรอดพ้นจากสิ่งที่เขาเรียกว่า “กับดักของทิวซิดิดีส” ได้หรือไม่ ซึ่งก็คือ การเกิดสงครามระหว่าง “มหาอำนาจผู้กำลังก้าวผงาดขึ้นมา” กับ “มหาอำนาจที่กำลังครองอำนาจอยู่” อย่างไรก็ตาม ข้อบกพร่องผิดพลาดฉกรรจ์ของเขาก็คือการมองจีนผ่านแว่นตาตะวันตก

หนังสือเล่มใหม่ของ เกรแฮม แอลลิสัน (Graham Allison) ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “Destined for War” (ถูกลิขิตเอาไว้ให้ต้องทำสงคราม) มุ่งหมายที่จะตอบคำถามที่ว่า “อเมริกากับจีนสามารถที่จะหลีกหนีออกไปจาก ‘กับดักของทิวซิดิดีส’ (Thucydides’s Trap) ได้หรือไม่?” เมื่อพิจารณาจากสภาพความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจสองรายนี้แล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ตีพิมพ์ออกมาได้อย่างถูกจังหวะเวลามากทีเดียว

คำว่า ‘กับดักของทิวซิดิดีส’ ที่แอลลิสันใช้นั้น มาจากหนังสือของทิวซิดิดีส เรื่อง ประวัติศาสตร์ของสงครามเปโลปอนนีเซียน (History of the Peloponnesian War) ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวนครรัฐเอเธนส์ยุคโบราณผู้นี้ เขียนบันทึกพรรณนาให้เห็นว่า เอเธนส์ (Athens) ที่กำลังเติบโตก้าวผงาดขึ้นมา ในที่สุดแล้วก็ต้องพิพาทต่อกรกับสปาร์ตา (Sparta) นครรัฐที่ครองฐานะเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคอยู่ในตอนนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

แอลลิสันนั้นเป็นอดีตคณบดีที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากของวิทยาลัยเคนเนดี้ฮาร์วาร์ด (Harvard Kennedy School หรือเรียกด้วยอักษรย่อว่า HKS โดยที่ชื่อเต็มๆ คือ วิทยาลัยการปกครอง จอห์น เอฟ เคนเนดี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด John F. Kennedy School of Government at Harvard University) และก็เป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลสหรัฐฯในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลาโหมไปจนถึงความมั่นคงแห่งชาติ เขากับเหล่านักศึกษาของเขาพิจารณาช่วงระยะเวลา 500 ปีที่ผ่านมา และระบุกรณีซึ่งมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมา เข้าเผชิญหน้ากับมหาอำนาจที่กำลังครองอำนาจอยู่เดิม รวมแล้ว 16 กรณี โดยที่ในจำนวนนี้มีอยู่ 12 กรณีซึ่งยุติลงด้วยสงครามที่สร้างความวิบัติหายนะ

หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงฝีมือความรู้ความสามารถในการระบุวิถีทางต่างๆ ทั้งหมดที่พวกมหาอำนาจสามารถปะทะขัดแย้งกันได้ในสภาวการณ์เหล่านี้ แม้กระทั่งในบางกรณีมีความพยายามอย่างมีสำนึกที่จะหลีกเลี่ยงสงครามก็ตามที บางครั้งบางคราวกระบวนการเริ่มต้นขึ้นด้วยความเข้าใจผิดกันเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งได้ขยายใหญ่โตบานปลายจนกระทั่งการสู้รบขัดแย้งกันอย่างเปิดเผยกลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แอลลิสันอุทิศเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ 1 บทเพื่อทำการคาดเดาว่าสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯอาจจะสามารถพัฒนาขมวดปมขึ้นมาอย่างไร ฉากสถานการณ์สมมุติอันหลากหลายที่บทนี้หยิบยกขึ้นมานั้น เริ่มต้นด้วยการยั่วยุแบบเบาะๆ ทว่าถูกอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิด จึงนำไปสู่การตอบโต้ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิดขึ้นมาบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ เกมของการรุกไล่และปัดป้องธรรมดาๆ ที่ขยายตัวบานปลายออกไปเรื่อยๆ จึงสามารถนำโลกไปสู่ขอบเหวแห่งการทำลายล้างด้วยอาวุธนิวเคลียร์จนได้

ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้หนังสือของเขาเพื่อประกาศคำพยากรณ์แห่งอนาคตอันมืดมนอนธการ หากแต่ปรารถนาที่จะให้เป็นเรื่องราวเตือนภัยอันตรายอย่างจริงจังหนักแน่นแก่เหล่าผู้นำในปักกิ่งและวอชิงตัน จนกระทั่งเพียงพอที่จะช่วยให้พวกเขาหลีกเลี่ยงจากกับดักนี้

ดังที่เขาสาธิตให้เห็น สงครามระหว่างมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมากับมหาอำนาจที่กำลังครองบัลลังก์อยู่ ไม่ได้เป็นข้อสรุปที่เสร็จสรรพเรียบร้อยไปแล้ว แอลลิสันเสนอแนะว่าเวลานี้จีนกับสหรัฐฯต่างกำลังเผชิญหน้ากับ “ภัยคุกคามใหญ่” (mega threats) 4 ประการ ซึ่งเรียกร้องให้พวกเขาทำงานด้วยกันแทนที่จะเป็นปรปักษ์กัน

ภัยคุกคามใหญ่เหล่านี้ประการแรกเลย คือภัยคุกคามของความพินาศย่อยยับจากการทำสงครามล้างโลกด้วยอาวุธนิวเคลียร์ โดยที่แต่ละฝ่ายต่างก็มั่นอกมั่นใจว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำให้เกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้นทั้งสองฝ่ายจะต้องถูกป้องปรามยับยั้งไม่ให้ทำสงครามนิวเคลียร์กันอย่างเต็มขั้นซึ่งอาจจะไม่มีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะเลย ทั้งนี้นี่ก็คือการป้องปรามอย่างเดียวกันกับที่ได้เคยป้องกันไม่ให้สงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียต แปรเปลี่ยนไปเป็นสงครามร้อนนั่นเอง

จากการที่จีนกับสหรัฐฯเดินไปตามแนวทางเดียวกันเช่นนี้ มหาอำนาจทั้งสองย่อมมีผลประโยชน์อย่างเดียวกันอีกในการคอยป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์ตกไปอยู่ในมือของชาติอื่นๆ จำนวนมากจนเกินไป และหลุดไปอยู่ในมือของพวกผู้ก่อการร้าย เขาเรียกฉากสมมุติสถานการณ์เช่นนี้ว่าเป็น “ภาวะอนาธิปไตยทางนิวเคลียร์” (nuclear anarchy) ทั้งนี้ในการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอนาธิปไตยทางนิวเคลียร์ การใช้ความพยายามร่วมกันย่อมทำให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งกว่าที่ต่างฝ่ายต่างแยกกันทำ

นอกจากนั้นแล้ว ทั้งสองประเทศยังเผชิญหน้ากับภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายที่มุ่งก่อเหตุโดยอาศัยอาวุธชีวภาพที่มีต้นกำเนิดจากพันธุวิศวกรรม “เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างกว้างขวาง โดยผ่านการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองระดับทวิภาคี, องค์การระดับพหุภาคี, และการจัดตั้งมาตรฐานด้านต่างๆ ในระดับโลกขึ้นมา” แอลลิสันกล่าว ในระหว่างออกทัวร์โปรโมตหนังสือเมื่อเร็วๆ นี้ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ภัยคุกคามใหญ่ร่วมของ 2 ประเทศประการที่ 4 แอลลิสันระบุว่าคือการต่อสู้กับเรื่องไอเสียก๊าซเรือนกระจก เพื่อหยุดยั้งภาวะโลกร้อน แต่ว่าเรื่องนี้ท่านประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาประกาศว่า “นี่ไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมา” นี่นา แต่เอาเถอะ เพียงแค่ 3 จาก 4 ภัยคุกคามใหญ่ร่วม ก็ยังน่าจะเพียงพอสำหรับให้ผู้นำของปักกิ่งและวอชิงตันโฟกัสรวมศูนย์ไปที่การร่วมมือกันแทนที่จะมุ่งเป็นปรปักษ์กันได้แล้ว

ที่สแตนฟอร์ด แอลลิสัน และ ไนออล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) อดีตเพื่อนร่วมงานของเขาที่ฮาร์วาร์ด ซึ่งมาทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการในคราวนี้ ได้ปล่อยมุกล้อรับกันว่า พวกผู้นำจีนนั้นคอยเฝ้าติดตามไอเดียแนวความคิดของโลกตะวันตกอย่างใกล้ชิด และจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้กันเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ก่อนที่จะตีพิมพ์จำหน่ายเสียอีก ซึ่งก็เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าเกิดคดีละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นมาอีกคดีหนึ่งแล้ว (ฮา) ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็แสดงความเสียใจว่าทำเนียบขาวของทรัมป์น่าจะยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้หรอก และบางทีอาจจะไม่อ่านกันเลยก็ได้

ผมตั้งคำถามในรายการนี้ว่า โมเดลของ “การตบมือข้างเดียว” ก็ยังคงก่อให้เกิด กับดักของทิวซิดิดีส ขึ้นมาอยู่ดี ผมนะวาดหวังเอาไว้ว่า พวกเขาจะอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับบทบาทของอเมริกาในฐานะที่เป็นผู้แสดงการยั่วยุ เมื่อเผชิญหน้ากับปฏิกิริยาที่ค่อนข้างวางตัวเป็นฝ่ายรับจากประเทศจีน แอลลิสันนั้นเข้าใจคำถามของผม แต่ก็ตอบเพียงว่า กิจกรรมการสร้างเกาะเทียมของจีนในทะเลจีนใต้ สามารถที่จะนำไปสู่การตบมือด้วยมือสองข้างได้ ตามที่ทฤษฎีกับดักของทิวซิดิดีสบ่งชี้เอาไว้

แอลลิสันยอมรับว่าเขามีความเชี่ยวชาญในด้านความมั่นคงแห่งชาติแต่ไม่ใช่เรื่องจีน ขณะที่ผมเชื่อว่าการมองจีนมองแว่นของตะวันตกคือจุดบกพร่องสำคัญของหนังสือของเขา ถึงแม้เขาแสดงความตระหนักรับรู้ว่าจีนเป็นอารยธรรมที่มีรากฐานอยู่บนแนวความคิดของขงจื๊อโดยที่มีความเก่าแก่ยาวนานถึง 5,000 ปีแล้ว แต่เขาก็ดูจะจัดประเภทจีนว่ามีความคิดจิตใจแบบมุ่งชนะเพื่อกินรวบเหมาหมดคนเดียว อย่างเดียวกันกับชาติตะวันตกชาติหนึ่ง

กรณี 16 กรณีที่แสดงให้เห็นถึงกับดักของทิวซิดิดีส ตามที่ระบุในหนังสือเล่มนี้นั้น ทุกๆ กรณีต่างเกี่ยวข้องพัวพันกับพวกชาติตะวันตก ถึงแม้มีอยู่ 2 กรณีในนั้นกล่าวถึงญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นมหาอำนาจผู้กำลังก้าวผงาดขึ้นมา แต่ผมก็ขอโต้แย้งว่าญี่ปุ่นได้กลายเป็นมหาอำนาจผู้กำลังก้าวผงาดขึ้นมา หลังจากได้ตัดสินใจที่จะดัดแปลงปรับตัวอย่างแข็งขันเพื่อรับเอาลักษณะทั้งหมดของค่านิยมตะวันตกเข้ามา และด้วยเหตุนี้จึงควรถือว่าเป็นชาติที่ปรับตัวเป็นตะวันตกแล้ว

ดังที่ ไมเคิล วูด (Michael Wood) นักสร้างภาพยนตร์สารคดีระดับมีรางวัลประดับเกียรติ ได้สาธิตให้เห็นในหนังสารคดีชุดต่างๆ ของเขาว่าด้วยอารยธรรมใหญ่ๆ ของโลก ที่ว่ามีแต่อารยธรรมตะวันตกเท่านั้นแหละที่มีการเข้าเข่นฆ่าซึ่งกันและกันไปทั่ว และประหัตประหารคนอื่นๆ จนสูญพันธุ์

จีนนั้นไม่ได้ส่งเรือประจัญบานลำมหึมาเข้าไปยังทะเลแคริบเบียน หรือส่งเครื่องบินสอดแนมไปถึงชายฝั่งของแคลิฟอร์เนีย จีนไปปรากฏตัวในตะวันออกกลางก็เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูและซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กองทหารจีนที่ถูกส่งกระจายไปตามที่ต่างๆ นอกประเทศต่างสวมหมวกเหล็กยูเอ็นสีฟ้า และทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาสันติภาพ

วอชิงตันถึงกับอ้าปากค้างด้วยความระแวงระไวทีเดียว เมื่อในที่สุดจีนจัดตั้งฐานทัพทางทหารในดินแดนนอกประเทศจีนขึ้นเป็นแห่งแรก จีนให้เหตุผลความชอบธรรมแก่การมีฐานทัพในประเทศจิบูตี ตรงบริเวณจงอยแอฟริกา (horn of Africa) ว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับใช้สนับสนุนเรือของกองทัพเรือจีนที่ออกปฏิบัติการตรวจการณ์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนานาชาติเพื่อสู้รบปราบปรามโจรสลัด ในประเทศจิบูตีเองนั้น จีนได้สร้างสายท่อส่งน้ำจืดเชื่อมโยงเมืองท่าริมชายฝั่งแห่งนี้เข้ากับทางรถไฟสายที่ไปจนถึงกรุงแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของประเทศซึ่งไม่มีทางออกทางทะเลอย่างเอธิโอเปีย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของยุทธศาสตร์ของจีนที่จะ “ครอบงำ” โลก ด้วยการช่วยเหลือประเทศอื่นๆ สร้างโครงสร้างพื้นฐานของพวกเขาภายใต้แผนการริเริ่มแถบและเส้นทาง (the Belt and Road Initiative)

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีความกังวลห่วงใยเกี่ยวกับความมั่นคงของโลกและความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกัน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอเสนอความคิดเห็นด้วยความเคารพว่า มือที่กำลังพยายามจะปรบมืออยู่ ซึ่งก็คือสหรัฐฯนั้น เป็นมหาอำนาจที่กำลังครองอำนาจอยู่ในเวลานี้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นความรับผิดชอบของสหรัฐฯที่จะต้องงดเว้นการแสดงพฤติการณ์ก้าวร้าวรุกราน และเมื่อเป็นดังนั้นแล้วก็จะสามารถหลีกเลี่ยงจากกับดักอันมีชื่อเสียงไม่ดีของทิวซิดิดีสได้

ดร. จอร์จ คู เกษียณอายุจากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100, the Pacific Council for International Policy และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media


กำลังโหลดความคิดเห็น