MGR Online / เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ - นับตั้งแต่การประกาศนโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง China’s Belt and Road Initiative (BRI)ในปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา จีนได้เปลืองน้ำหมึก หมดน้ำลายเดินสายพูด เขียน สื่อสารเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจนโยบายนี้ซึ่งยังเป็นกรอบความคิดกว้างๆ มาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำที่กรุงปักกิ่ง "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ" เมื่อวันที่ 14 - 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา หลังจากประกาศนโยบาย 4 ปี
บรรดานักวิเคราะห์อ่านนโยบายนี้ว่า คือยุทธศาสตร์สำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสถานะมหาอำนาจใหม่ อันจะเกิดขึ้นตามเส้นทางดังกล่าว นอกจากนั้นยังทำให้จีนก้าวกระโดดจากผู้นำภูมิภาคเป็นผู้นำระดับโลกในทันใด หลายๆ คนยังเปรียบการประชุมเส้นทางสายไหมจีนนี้ คือความต่อเนื่องจากการประชุมบันดุง ที่อินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2498 อันเป็นจุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย ด้วยการประชุมจะใช้ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกันในการดำเนินความสัมพันธ์ไปสู่การจัดระเบียบรูปแบบใหม่ภายใต้ความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน และยังกระชับความสัมพันธ์ระดับทวีภาคีระหว่างจีน กับนานาชาติตามเส้นทางสายไหมอย่างมีนัยยะสำคัญ
การประชุมบันดุง ที่อินโดนีเซียในอดีต เมื่อปี พ.ศ. 2498 นั้น เป็นการแสดงจุดยืนของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศต่างๆ บนหลักการ ‘แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง’ ริเริ่มในปี พ.ศ. 2497 ระหว่างโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน และบัณฑิต เนห์รู ของอินเดีย โดยหลักทั่วไป 5 ข้อ ที่มีการประกาศคือ การอยู่ร่วมกันโดยสันติ เคารพซึ่งบูรณภาพแห่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของกันและกัน ไม่รุกรานซึ่งกันและกัน ธำรงไว้ซึ่งความเสมอภาค มีผลประโยชน์ร่วมกัน ที่สำคัญที่สุดคือการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน โดยหลักปัญจศีลนี้ เป็นหลักแห่งการอยู่ร่วมกันของกลุ่มประเทศในภูมิภาค
แม้การประชุมครั้งนี้ จะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจผลประโยชน์นำหน้า และหลักปัญจศีลนี้ ก็ไม่ได้ถูกประกาศชัดแจ้ง แต่ความร่วมมือเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (BRI) ซึ่งมีเป้าหมายสร้างโครงข่ายการค้าและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนา การเงิน การลงทุน และเปลี่ยนความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม จากเอเชียถึงยุโรป ตามแนวเส้นทางสายไหมยุคโบราณ ตลอดจนแอฟริกา ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก (โอเชียเนีย) ก็ไม่อาจสำเร็จได้หากขาดหลักการดังกล่าว
จุดเริ่มต้นที่ยังคลุมเครือในตอนเริ่มประกาศนโยบายฯ ของสี จิ้นผิง เมื่อปี พ.ศ. 2556 สหรัฐอเมริกาเองก็มีปฏิกริยาในเชิงลบมาตลอด กับนโยบายนี้ ในปี 2558 สหรัฐฯ ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (เอไอไอบี) ซึ่งจีนเป็นผู้ริเริ่ม หนำซ้ำยังกระหน่ำความไม่น่าเชื่อถือของสกุลเงินหยวนที่พยายามดันขึ้นมาเป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยนหลัก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ธนาคารใหม่แห่งนี้ที่จีนริเริ่มก่อตั้งนี้ มีสมาชิกทั่วโลก 70 ราย ครอบคลุมเกือบเต็มอาณาบริเวณเส้นทางสายไหมแล้ว นอกจากนี้สถาบันฯ แห่งนี้ ยังสั่งสมความแข็งแกร่งมากขึ้นๆ ในสถานะสถาบันการเงินโลกอันมีจุดมุ่งหมายพัฒนาเส้นทางสายไหมโดยเฉพาะ และสกุลเงินหยวนก็ใช้เป็นเงินตราแลกเปลี่ยนหลักในระดับทวิภาคีกันอย่างกว้างขวาง
ทุกวันนี้ สหรัฐฯ และอาจรวมถึงมหาอำนาจเศรษฐกิจยุโรปอื่นๆ ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าตั้งคำถามต่างๆ นานา และไม่ลงนามเห็นชอบกับการพัฒนาเส้นทางฯ เพราะนอกจากความถดถอยของกลุ่มอำนาจตนแล้ว นโยบายนี้กลับได้รับความร่วมมือท่วมท้นจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ผู้เคยตกขบวนรถไฟโลกาภิวัตน์ยุคก่อน กลับมีความหวังบนเส้นทางใหม่นี้
"หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" นำการลงทุนมหาศาลมาสู่เอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรปตะวันออก คาดว่าจะสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับทุกชาติที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงการสร้างทางรถไฟ ถนนสายใหม่ ท่าเรือที่เชื่อมผลประโยชน์สู่แต่ละภูมิภาค แต่ยังครอบคลุมท่อก๊าซ เส้นทางพลังงาน ระเบียงเศรษฐกิจ การค้า ทำเลการลงทุน ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และทรัพยากรอื่นๆ ซึ่งไม่มีเส้นถนนเชื่อมเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากเซาท์ไชน่า มอร์นิงโพสต์ ระบุ 5 ความคืบหน้า การพัฒนาและเรื่องซึ่งน่าจับตามอง หลังการประชุมสุดยอดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ล่าสุด อันมีผู้นำประเทศ 29 ชาติ พร้อมกับผู้แทนจากรัฐบาล มากกว่า 1,000 คน จาก 110 ประเทศ เข้าร่วมฯ คือ
1. ความพยายามของรัฐบาลจีนในการส่งเสริมการค้าโลกใน 5 ปีข้างหน้านับจากนี้ โดยเริ่มจากเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติในปีหน้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ตลาดการค้าในประเทศจีน โดยจีนสัญญาว่าจะนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศตลอดหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง รวมเป็นมูลค่าราว 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ตลอด 5 ปีข้างหน้า
2. คำมั่นของ สี จิ้นผิง ที่ประกาศทุ่มทุนครั้งใหญ่สำหรับส่งเสริมเส้นทางสายไหมใหม่ ด้วยเพิ่มเงินทุนอีกกว่า 3 แสนล้านหยวน ในกองทุนเส้นทางสายไหม โดยธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน จะตั้งงบประมาณการให้กู้ยืมพิเศษมูลค่า 2.5 แสนล้านหยวน และ 1.3 แสนล้านหยวน ตามลำดับฯ เพื่อสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในการนี้ จีนยังจะจัดสรรเงินอีกราว 60,000 ล้านหยวน เพื่อช่วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความยากจนในประเทศกำลังพัฒนาตามเส้นทางสายไหม อันจะมาในรูปแบบความช่วยเหลือฟรีและเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย สำหรับช่วยประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมความริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกับบรรลุ “วาระของสหประชาชาติปี 2030 (พ.ศ. 2573) ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน”
3. ประเทศสมาชิกฯ และองค์กรระหว่างประเทศ จำนวน 68 ราย ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับจีนแล้ว ตามที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้แถลงว่า มีโครงการความร่วมมือหรือข้อตกลงร่วมกันกว่า 270 โครงการ ที่ได้ลงนามในระหว่างการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงฯ เหล่านี้
4. จีนยังจำเป็นต้องแก้ปัญหาความสงสัยของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่แม้แคลงใจกับนโยบายนี้มาตลอด แต่ก็ได้ส่งผู้แทนรัฐบาลเข้าร่วมประชุมฯ ขณะที่ผู้นำอินเดีย หนึ่งในประเทศ BRICS ซึ่งได้รับเชิญฯ แต่ก็คว่ำบาตรไม่เข้าร่วมประชุม เพื่อประท้วงโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน CPEC - China-Pakistan Economic Corridor อันเป็นแนวความร่วมมือที่ใหญ่โตมโหฬารระหว่างจีนกับปากีสถาน ที่มีความขัดแย้งกับอินเดียอยู่ โครงการยักษ์นี้ มีทั้งท่าเรือน้ำลึก แนวท่อก๊าซและถนนเชื่อมมหาสมุทรอินเดียผ่านปากีสถาน-ฮินดูกูซเข้าไปถึงจีนได้ การประชุมนี้ไม่มีผู้นำรัฐบาลไทยร่วมฯ เช่นกัน เนื่องจากยังไม่มีความคืบหน้า ในการเจรจาโครงการสำคัญๆ โดยเฉพาะทางรถไฟความเร็วสูง เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอยท่าเรือ-มาบตาพุด ระยะทาง 845.27 กม.
หลายประเทศในภูมิภาคยุโรป รวมทั้ง ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ ตัดสินใจไม่ลงนามเห็นชอบในแถลงการการค้าของการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากค้างคาคำถามที่จีนต้องตอบแก่ชาติต่างๆ โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้ เห็นว่า โครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อสาธารณะ หรือมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
5. สิ่งที่น่าจับตามอง ลองทบทวนคิด ก่อนไปต่อการประชุมสุดยอด หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางในปี พ.ศ. 2562 คือศักยภาพและกลไกความร่วมมือต่างๆ ที่จีนสร้างขึ้นเอง (ไม่ใช้กลไกเดิมที่สร้างขึ้นโดยมหาอำนาจตะวันตก) ผสมผสานกับการทูตและแรงปรารถนาเจตนาจริง (ได้สมประโยชน์สองฝ่าย) ตามแผนโลกาภิวัตน์ เพราะในด้านหนึ่งของเจตนานี้ ก็เป็นเสมือนจีนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว นั่นคือการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ จากเดิมแทนที่จะทุ่มทุนสำรองไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ มาเป็นการใช้เงินแบบใหม่ที่ได้ทั้งบารมี และผลประโยชน์ในคราวเดียว ส่วนชาติรายทาง แถบ และระเบียงจะได้ประโยชน์สมเจตนาสองฝ่ายเพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากัน