รอยเตอร์ - จีนกำลังกดดันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอีก 4 ประเทศให้ร้องขอให้ไต้หวันเปลี่ยนชื่อสำนักงานตัวแทนในประเทศเหล่านั้น ในอีกสัญญาณหนึ่งของการกดดันทางการทูตต่อเกาะปกครองตนเองแห่งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน กล่าวในวันนี้ (15 มิ.ย.)
แรงกดดันจากจีนต่อยูเออี บาห์เรน เอกวาดอร์ จอร์แด และไนจีเรียมีขึ้นหลังจากที่เมื่อต้นสัปดาห์ปานามาตัดสินใจตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันและหันมายอมรับจีนและนโยบาย “จีนเดียว” แทน
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันระบุในถ้อยแถลงว่า จีนต้องการให้ 5 ประเทศนี้ร้องขอให้ไต้หวันใช้ชื่ออย่างเช่น “สำนักงานการค้าไต้หวัน” ที่ไม่ได้บ่งบอกถึงอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน
“จีนกำลังกดขี่เราโดยใช้วิธีการหยาบคายที่ทำร้ายความรู้สึกของชาวไต้หวัน” ถ้อยแถลงระบุ
กระทรวงการต่างประเทศของจีนยังไม่ได้ตอบสนองต่อคำขอความคิดเห็นในตอนนี้
สำนักงานของไต้หวันในจอร์แดนตอนนี้ใช้ชื่อว่า “สำนักงานการค้าแห่งสาธารณรัฐจีน”
สาธารณรัฐจีนเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวันและใช้มาตั้งแต่สมัยที่รัฐบาลสาธารณรัฐจีนควบคุมจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนที่พวกเขาจะหลบหนีมายังเกาะแห่งนี้ในช่วงสิ้นสุดสงครามกลางเมือง
จีนมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลกบฏที่จะถูกนำกลับมาอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของตนด้วยกำลัง หากจำเป็น
ไต้หวันและจีนพยายามแทรกซึมพันธมิตรทางการทูตของอีกฝ่ายนับตั้งแต่การถอดไต้หวันออกจากองค์การสหประชาชาติในปี 1971 เพื่อเปิดทางให้กับการรับรองจีนอย่างเป็นทางการ
อริข้ามช่องแคบสองประเทศนี้มักทำ “การทูตดอลลาร์” หรือการเสนอแพ็กเกจความช่วยเหลือขนาดใหญ่แก่ประเทศกำลังพัฒนาอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ว่าไต้หวันจะประสบความยากลำบากในการแข่งขันกับจีนที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม
ปานามากลายเป็นประเทศที่ 2 ที่กันมายอมรับปักกิ่งแทนนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ต่อจากเซาตูเมและปรินซิปีเมื่อเดือนธันวาคม ทำให้ตอนนี้พันธมิตรทางการทูตของไต้หวันเหลืออยู่ 20 ราย
ไต้หวันมีพันธมิตรทางการทูตมากถึง 30 รายในช่วงกลางทศวรรษ 1990 พันธมิตรอย่างเป็นทางการที่เหลืออยู่ของไต้หวันส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เล็กและยากจนกว่าในละตินอเมริกาและแปซิฟิก