xs
xsm
sm
md
lg

ปักกิ่งเตือน “ผู้นำไต้หวัน” แก้ปัญหาตัวเองให้ได้ ก่อนยุ่งเรื่อง “ประชาธิปไตย” ในจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน
รอยเตอร์ - รัฐบาลจีนออกมาแถลงตอบโต้คำพูดของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน แห่งไต้หวัน ซึ่งอาสาจะช่วยชี้แนะแนวทางเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยให้แก่แดนมังกร โดยขอให้ ไช่ เอาเวลาไปแก้ไขความยุ่งเหยิงในไต้หวันที่เกิดจาก “แนวคิดและค่านิยม” ของพรรคเธอจะดีกว่า

สำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ระบุวันนี้ (5 มิ.ย.) ว่า รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการในจีนแผ่นดินใหญ่ และ ไช่ ควรจะเอาเวลาไปคิดทบทวน “กระแสความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง” ในไต้หวัน และ “สาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบมาถึงทางตัน”

ปักกิ่งกับ ไช่ นั้นไม่ลงรอยกันอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้นำหญิงและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าของเธอมีจุดยืนเรียกร้องเอกราชให้ไต้หวัน ในขณะที่ปักกิ่งยืนกรานว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ “จีนเดียว” และไม่ปิดโอกาสที่จะใช้กำลังทางทหารบีบให้ไต้หวันกลับมาอยู่ใต้อาณัติอีกครั้ง หากถึงคราวจำเป็น

“เวลานี้เรากำลังเข้าใกล้การพลิกฟื้นชุบชีวิตประเทศชาติที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาใหม่ (great rejuvenation) ยิ่งกว่าช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์” หม่า เสี่ยวกวง โฆษกสำนักงานไต้หวันของจีน ระบุในคำแถลงที่ส่งถึงรอยเตอร์

“(ทางการไต้หวัน) ไม่ควรสร้างความปั่นป่วน หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ และสุมไฟพิพาทข้ามช่องแคบให้คุโชนขึ้นอีก”

เนื่องในวาระครบรอบ 28 ปีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ประธานาธิบดี ไช่ ระบุว่า ช่องว่างที่ทำให้ไต้หวันและจีนห่างไกลกันที่สุดก็คือ ระบอบประชาธิปไตย และเสรีภาพ

“การก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยนั้น บางชาติก็ทำได้เร็ว บางชาติก็ทำได้ช้า แต่เราทุกคนจะต้องไปถึงจุดหมายนั้นในที่สุด” ไช่ โพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์

“หากนำเอาประสบการณ์ของไต้หวันไปเป็นบทเรียน ดิฉันเชื่อว่าจีนจะลดความเจ็บปวดในกระบวนการปฏิรูปประชาธิปไตยให้สั้นลงได้มาก”

หลังจากพรรคชาตินิยมก๊กมินตั๋งใช้กฎอัยการศึกปกครองประเทศอยู่นานเกือบ 40 ปี ไต้หวันก็ได้เริ่มเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบประชาธิปไตยในช่วงปลายทศวรรษ 1980 โดยมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา

กำลังโหลดความคิดเห็น