xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นระทึก! “ทรัมป์” เตรียมแถลงข่าว 19.00 GMT วันนี้จะถอนตัวจาก “ข้อตกลงสู้โลกร้อน” หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
เอเอฟพี - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมตั้งโต๊ะแถลงข่าวในวันนี้ (1 มิ.ย.) ว่าสหรัฐฯ จะยังคงผูกพันอยู่กับข้อตกลงภูมิอากาศปารีสเมื่อปี 2015 ซึ่งว่าด้วยการลดไอเสียเพื่อขจัดต้นตอของภาวะโลกร้อนหรือไม่ ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิดเผยมีโอกาสสูงมากที่ผู้นำสหรัฐฯ จะตัดสินใจ “ถอนตัว”

“ผมจะประกาศการตัดสินใจเกี่ยวกับข้อตกลงปารีสในวันพฤหัสบดี เวลา 03.00 PM ที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาว MAKE AMERICA GREAT AGAIN!” ทรัมป์ โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์เมื่อค่ำวันพุธ (31 พ.ค.)

ที่ผ่านมาผู้นำสหรัฐฯ ไม่เคยระบุชัดเจนว่าตนมีแนวคิดโน้มเอียงไปทางไหน โดยยืนยันว่า “ผมรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน จากทั้ง 2 ฝ่าย”

ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ และศัตรูของทรัมป์ในอเมริกาต่างออกมาแสดงความกราดเกรี้ยวเมื่อวานนี้ (31) หลังสื่อหลายสำนักรายงานว่า ทรัมป์ ได้ตัดสินใจแล้วที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงระดับโลกที่มุ่งลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งการปลีกตัวของสหรัฐฯ จะบั่นทอนอิทธิพลของข้อตกลงฉบับนี้อย่างรุนแรง

ทำเนียบขาวปฏิเสธที่จะยืนยันรายงานเหล่านั้น และยังไม่แน่ว่า ทรัมป์ จะฉีกสัญญาอย่างไร้เยื่อใย หรือเพียงแค่ปรับเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลงกว่าที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เคยสัญญาไว้

ท่าทีลังเลของสหรัฐฯ มีขึ้นในเวลาไม่ถึง 18 เดือน หลังจากที่ 197 ประเทศทั่วโลกได้พร้อมใจกันลงนามรับรองข้อตกลงดังกล่าวที่เมืองหลวงของฝรั่งเศส โดยเป็นผลพวงจากการบรรลุข้อตกลงที่ยากลำบากระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในยุคโอบามา

สหภาพยุโรป (อียู) และจีนยืนยันว่า พวกเขาจะยังคงปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อข้อตกลงปารีส แม้ว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวก็ตาม

สหรัฐฯ นั้นถือเป็นประเทศผู้ปลดปล่อยคาร์บอนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน

ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ ได้กล่าวหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศว่าเป็นเพียง “การโกหกหลอกลวง” ที่จีนสร้างขึ้นมา อีกทั้งแสดงความต้องการที่จะฟื้นฟูชุบชีวิตอุตสาหกรรมถ่านหินของสหรัฐฯ ขึ้นมาใหม่ แม้ถ่านหินกำลังถูกทั่วโลกมองว่าเป็นแหล่งพลังงานที่สกปรกและสร้างมลพิษรายสำคัญก็ตาม
นายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล และประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เจรจากันก่อนเข้าร่วมการหารือในที่ประชุมซัมมิตกลุ่ม G7 เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พ.ค.
ภายใต้รัฐบาลโอบามา วอชิงตันได้ให้สัญญาว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 26-28% จากระดับเมื่อปี 2005 ภายในปี 2025

ทำเนียบขาวเคยแถลงก่อนหน้านี้ว่า ทรัมป์ อาจจะเพียงปรับลดเป้าหมายของสหรัฐฯ ลงเท่านั้น

แนนซี เพโลซี แกนนำส.ส.เดโมแครตในสภาคองเกรส เตือนว่าการตัดสินใจถอนตัวของ ทรัมป์ จะเป็นการ “ละทิ้งความเป็นผู้นำของอเมริกา และเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออนาคตของโลก”

สก็อตต์ พรูอิตต์ ผู้อำนวยการสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ซึ่งได้เข้าพบ ทรัมป์ เมื่อวันอังคาร (30 พ.ค.) เคยประกาศสนับสนุนให้รัฐบาลถอนตัวออกจากข้อตกลงที่เขาเชื่อว่า “เลวร้าย” สำหรับอเมริกา ทว่าบรรดาที่ปรึกษาคนสนิทของผู้นำสหรัฐฯ รวมถึง “อิวองกา ทรัมป์” บุตรสาว และ แกรี โคห์น ประธานสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ต่างระบุตรงกันว่า ทรัมป์ ยังปรารถนาที่จะ “อยู่ต่อ” มากกว่า

กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทน้ำมันบีพี, บริษัทเกษตรเคมี ดูปองต์, กูเกิล, อินเทล และไมโครซอฟต์ ต่างก็เรียกร้องให้ ทรัมป์ คงการมีส่วนร่วมในข้อตกลงปารีสต่อไป

จุดยืนเรื่องข้อตกลงปารีสของทรัมป์ กลายเป็นประเด็นร้อนในการประชุมซัมมิต G7 ที่เกาะซิซิลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยผู้นำชาติอุตสาหกรรมชั้นนำอีก 6 ประเทศต่างกดดันให้สหรัฐฯ รักษาพันธกรณีในการต่อสู้โลกร้อน

ท่าทีไม่ร่วมมือร่วมใจของ ทรัมป์ ทำให้นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ถึงขั้นออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยพูดถึงการเจรจาหารือกับ ทรัมป์ ในประเด็นนี้ว่า เป็นไปด้วยความ “ยากลำบากมาก ยังไม่ต้องพูดหรอกว่า (การหารือ) ออกมาไม่น่าพอใจเป็นอย่างมาก” พร้อมเตือนว่ายุโรป “คงจะต้องรับผิดชอบอนาคตของตัวเอง” นับจากนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น