เอเอฟพี - รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เผย กำลังโน้มน้าวให้สภาคองเกรสสหรัฐฯ แก้ไขกฎหมายซึ่งเปิดทางให้เหยื่อเหตุวินาศกรรม 9/11 และครอบครัวสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากริยาด พร้อมเตือนอเมริกาจะเป็นฝ่ายเจ็บตัวเสียเองจากการละเมิดหลักความคุ้มกันแห่งรัฐ
อาเดล อัล-ญุเบร์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ เผย วานนี้ (18 ธ.ค.) ว่า ตนเพิ่งจะกลับจากการเยือนสหรัฐฯ ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่กำหนด และได้ “พยายามโน้มน้าวให้พวกเขาเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ (Justice Against Sponsors of Terrorism Act - JASTA) จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข”
เมื่อเดือน ก.ย. สภาคองเกรสได้ลงมติอย่างท่วมท้นหักล้างอำนาจวีโตของประธานาธิบดี บารัค โอบามา ต่อร่างกฎหมายฉบับนี้
แม้ผู้ก่อการร้าย 19 คน ที่จี้เครื่องบินโดยสารสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ปี 2001 จะเป็นชาวซาอุฯ ถึง 15 คน แต่รัฐบาลริยาดก็ยืนกรานเสียงแข็งว่าไม่ได้ให้ทุนสนับสนุนการก่อวินาศกรรมครั้งประวัติศาสตร์ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปเกือบ 3,000 คน
กฎหมาย JASTA เปิดโอกาสให้ผู้รอดชีวิต หรือญาติของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุก่อการร้าย สามารถยื่นฟ้องรัฐบาลต่างชาติผ่านระบบศาลในอเมริกา และยังสามารถเรียกค่าเสียหายในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า รัฐบาลเหล่านั้นมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐฯ
“เราเชื่อว่ากฎหมายซึ่งละเมิดหลักความคุ้มกันแห่งรัฐาธิปัตย์นี้เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ” อัล-ญุเบร์ กล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับ จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งได้เดินทางไปเยือนซาอุฯ
โอบามา ให้เหตุผลในการคัดค้านร่างกฎหมายนี้ ว่า มันอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือฟ้องร้องวอชิงตันจากผลของปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในต่างแดน
บรรดารัฐอ่าวอาหรับ ซึ่งเป็นมิตรกับซาอุฯ ก็แสดงความกังวลต่อการออกกฎหมายที่ลิดรอนความคุ้มกันแห่งรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทั่วโลกยึดถือ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้อาจส่งผลกระทบกว้างไกลเกินกว่าภูมิภาคตะวันออกกลาง
ส.ส.อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ บางคนได้ออกมาขู่แล้วว่า พวกเขาอาจผลักดันร่างกฎหมายเอาผิดเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บ้าง ซึ่งอาจทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่แผ่ลามไปทั่วโลก
“การละเมิดหลักการข้อนี้เท่ากับสหรัฐฯ กำลังเปิดทางให้ประเทศอื่นๆ ใช้วิธีอย่างเดียวกัน และกว่าพวกคุณจะรู้สึกตัว ระเบียบสากลก็คงถูกแทนที่ด้วยกฎป่าไปแล้ว” อัล-ญุเบร์ ระบุ
รัฐมนตรีซาอุฯ ผู้นี้ยังเตือนด้วยว่า สหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายที่เดือดร้อนมากที่สุดจากการทำลายหลักความคุ้มกันแห่งรัฐาธิปัตย์
“คำถามสำคัญในเวลานี้ก็คือ พวกคุณจะหาทางแก้กฎหมายนี้ได้อย่างไร”
เคร์รี ซึ่งไปเยือนซาอุฯ เพื่อหารือแนวทางยุติสงครามนองเลือดในเยเมน ก็กล่าวย้ำเช่นกันว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เป็นห่วงผลกระทบของกฎหมาย JASTA