xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ งดส่งออกระเบิดนำวิถีให้ “ซาอุฯ” ตอบโต้ทิ้งบอมบ์ “เยเมน” จนพลเรือนตายเกลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลุ่มพันธมิตรซาอุดีอาระเบียยิงขีปนาวุธถล่มกลางพิธีศพของพวกกบฏฮูตีในกรุงซานาของเยเมนเมื่อวันที่ 8 ต.ค. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 140 คน (แฟ้มภาพ)
เอเอฟพี - สหรัฐฯ ประกาศงดส่งออกอาวุธนำวิถีให้แก่ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลาง เพื่อแสดงความไม่พอใจยอดผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในเยเมนซึ่งมีริยาดเป็นหัวหอก

“เราได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ ไม่ใช่เช็คเปล่า” เจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี พร้อมแสดงความเป็นห่วงแนวทางที่ซาอุฯ ใช้กวาดล้างกบฏฮูตีนิกายชีอะห์ในเยเมน

“ดังนั้น เราจึงตัดสินใจระงับการจำหน่ายยุทธภัณฑ์ทางทหารต่อมิตรประเทศ (foreign military sales - FMS) ในส่วนของระเบิดบางชนิด”

“มาตรการนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อความผิดพลาดในการกำหนดเป้าหมายโจมตีของกลุ่มพันธมิตรซาอุฯ รวมถึงปฏิบัติการโจมตีในเยเมนโดยภาพรวม”

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกหลายคนออกมายืนยันว่า อาวุธที่สหรัฐฯ จะงดจำหน่ายแก่ซาอุฯ คือระเบิดนำวิถีที่ผลิตโดยบริษัท เรย์ธีออน

เรย์ธีออน ยังคงปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องนี้

สหรัฐฯ พยายามสะกดกลั้นความไม่พอใจต่อปฏิบัติการทางอากาศของซาอุฯ ในเยเมนมาโดยตลอด เพราะไม่ต้องการขยายความบาดหมางกับริยาด ซึ่งเป็นหุ้นส่วนสำคัญในตะวันออกกลาง

การกวาดล้างกบฏฮูตีในเยเมนซึ่งเชื่อกันว่ามี “อิหร่าน” เป็นสปอนเซอร์ใหญ่ เกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับเจ้าชาย โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน ราชนิกุลหนุ่มผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมซาอุฯ และกำลังมีอิทธิพลสูงขึ้นเรื่อยๆ ในริยาด

การปะทุขึ้นของสงครามเยเมนยังประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่รัฐบาล บารัค โอบามา เพียรพยายามโน้มน้าวให้ซาอุฯ ยอมสนับสนุนข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่าน

ความสัมพันธ์วอชิงตัน-ริยาดยิ่งเขม็งเกลียวหนักขึ้น เมื่อสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายเปิดทางให้ครอบครัวเหยื่อวินาศกรรม 9/11 สามารถฟ้องร้องรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าให้ทุนสนับสนุนกลุ่มอัลกออิดะห์ที่ลงมือจี้เครื่องบินโดยสารในสหรัฐฯ เมื่อปี 2001

ประธานาธิบดีโอบามา ได้ใช้อำนาจวีโตกฎหมายฉบับนี้ แต่กลับถูกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรพร้อมใจกันหักล้างคำสั่งวีโตของเขาเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ มาเกือบ 8 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์ที่พันธมิตรซาอุฯ ทิ้งระเบิดถล่มงานศพในกรุงซานา จนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 140 คนเมื่อเดือน ต.ค. สหรัฐฯ ก็เริ่มจะหมดความอดทน และได้สั่งทบทวนการสนับสนุนที่มอบแก่กลุ่มพันธมิตรของริยาดว่า “สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และค่านิยมในนโยบายต่างประเทศของเราหรือไม่”

คณะทำงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ตรวจสอบพบว่า เครื่องบินขับไล่ซาอุฯ ยิงขีปนาวุธถล่มบริเวณงานศพถึง 2 ลูกติด ซึ่งถือว่าละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมสากล

ในรายงานฉบับหนึ่งที่ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีได้รับมา ผู้เชี่ยวชาญได้แจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่า พวกเขาจะดำเนินการตรวจสอบต่อไปว่าการโจมตีทางอากาศครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคลากรทางการแพทย์ด้วยหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นก็อาจเข้าข่าย “อาชญากรรมสงคราม”

กำลังโหลดความคิดเห็น