เอเอฟพี - รัสเซียและจีนใช้อำนาจวีโตคัดค้านมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ข้อตกลงหยุดยิงเป็นเวลา 7 วันที่เมืองอะเลปโปในซีเรีย
ผู้แทนจากเวเนซุเอลาก็โหวตคัดค้านร่างมตินี้ด้วย ในขณะที่แองโกลางดออกเสียง ส่วนสมาชิกที่เหลืออีก 11 ชาติโหวตสนับสนุน
รัสเซียซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นได้ใช้สิทธิ์คัดค้านมติเรื่องซีเรียเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นเมื่อเดือน มี.ค.ปี 2011 ส่วนจีนนั้นใช้สิทธิ์วีโตเป็นครั้งที่ 5
ในฐานะมิตรสนิทของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย มอสโกได้แสดงท่าทีลังเลสงสัยกับร่างมติฉบับนี้อย่างชัดเจน แม้จะเจรจากันมานานหลายสัปดาห์แล้วก็ตาม
รัสเซียเคยขอให้คณะมนตรีความมั่นคงเลื่อนการโหวตออกไปเป็นวันอังคาร (6) ซึ่งคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ และรัสเซียจะร่วมประชุมกันที่นครเจนีวา ทว่ากลุ่มชาติที่เป็นโต้โผใหญ่อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐฯ ตัดสินใจให้มีการลงมติทันที
รัสเซียระบุว่า การพูดคุยที่เจนีวามีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแผนให้นักรบกบฏทั้งหมดถอนกำลังออกจากฝั่งตะวันออกของเมืองอะเลปโป ซึ่งเวลานี้ถูกกองทัพซีเรียตีคืนไปได้แล้ว ทว่าฝ่ายกบฏได้ออกมาปฏิเสธแผนการนี้
“ทั้งสองฝ่ายจวนจะตกลงกันได้แล้วในรายละเอียดพื้นฐาน” วิทาลีย์ เชอร์คิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น ให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ดี มิเชล ซีซัน รองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็น กลับออกมายืนยันว่า “ไม่มีข้อตกลงอะไรทั้งสิ้น” พร้อมทั้งกล่าวหาเชอร์คิน ว่า “กุข้ออ้าง” ขึ้นมาเองฝ่ายเดียว
“เราจะไม่ยอมให้รัสเซียเตะถ่วงคณะมนตรีความมั่นคงต่อไปเรื่อยๆ” ซีซัน ระบุ
“เราจะเดินหน้าเจรจาทวิภาคี (กับรัสเซีย) เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ทรมานของชาวซีเรียในอะเลปโป แต่ที่ยังตกลงกันไม่ได้เสียทีก็เพราะรัสเซียต้องการคงความได้เปรียบทางทหารไว้”
ฟรองซัวส์ เดอลาตร์ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำยูเอ็น ระบุว่า หากมติหยุดยิงมีผลบังคับก็จะเป็น “ความหวัง” และช่วย “ปกป้องชีวิตประชาชน” ไว้ได้เป็นจำนวนมาก
เขายังกล่าวหารัสเซียว่า “มุ่งมั่นจะยึดอะเลปโปให้ได้ โดยไม่สนใจว่าจะมีคนล้มตายแค่ไหน”
ด้าน หลิว เจียอี้ เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น เสนอให้คณะมนตรีความมั่นคง “หารือกันต่อไปก่อน” พร้อมเตือนว่าไม่ควร “นำวิกฤตมนุษยธรรมมาทำให้เป็นเรื่องการเมือง”
ฌ็อง-มาร์ก เอโรต์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ก็ออกมาประณาม “การขัดขวางของรัสเซีย” ซึ่งทำให้คณะมนตรีความมั่นคง “ไม่สามารถเข้าไปปกป้องพลเรือนซีเรียที่กำลังเผชิญการบดขยี้อย่างป่าเถื่อนโดยระบอบ บาชาร์ อัล-อัสซาด รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ เช่น ไอเอส”
“การยกระดับปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้จะยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานแก่ประชาชน และส่งเสริมลัทธิก่อการร้ายให้เฟื่องฟู”
องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ก็ประณามการวีโตของรัฐบาลหมีขาวเช่นกัน
“ดูเหมือนว่ามอสโกจะไม่ต้องการให้ใครเข้าไปแทรกแซงปฏิบัติการทางทหารร่วมระหว่างรัสเซีย อิหร่าน และซีเรีย แม้จะมีพลเรือนล้มตายไปมากมายแค่ไหนก็ตาม” หลุยส์ ชาร์บอนโน ผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรต์ วอตช์ ทวีตข้อความ
ร่างมติของยูเอ็นเรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในซีเรียยุติการโจมตีทุกรูปแบบภายในเมืองอะเลปโป” นอกจากนี้ ยังขอให้ทุกฝ่าย “เปิดทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น” ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้หน่วยฉุกเฉินเข้าไปมอบความช่วยเหลือแก่ชาวซีเรียหลายหมื่นคนที่ติดอยู่ในพื้นที่สู้รบ
คณะผู้ร่างมติคาดหวังให้ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราวนี้นำไปสู่การยุติเหตุรุนแรงทั่วทั้งซีเรีย แต่ไม่รวมถึงปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย เช่น ไอเอส และเครือข่ายอัลกออิดะห์อย่าง “ฟาเตะห์ อัล-ชาม ฟรอนต์” ซึ่งเคยรู้จักกันในชื่อ อัล-นุสรา ฟรอนต์