เอเอฟพี - คณะสืบสวนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เสนอรายงานล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (21 ต.ค.) ระบุ กองทัพซีเรียใช้อาวุธเคมีโจมตีหมู่บ้านกอเมนาส (Qmenas) ในเดือน มี.ค. ปี 2015
อย่างไรก็ตาม คณะสืบสวนยังไม่สามารถระบุได้ว่า การใช้อาวุธเคมีที่หมู่บ้านบินนิช (Binnish) จังหวัดอิดลิบในเดือน มี.ค. ปี 2015 และที่หมู่บ้าน กาฟร์ ซิตา จังหวัดฮามา เมื่อเดือน เม.ย. ปี 2014 เป็นฝีมือของฝ่ายใด
รายงานชิ้นนี้ได้ถูกเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ (21)
เมื่อเดือน ส.ค. กลไกสืบสวนร่วม (JIM) ซึ่งนำโดยยูเอ็นได้เผยแพร่รายงานซึ่งระบุว่า กองทัพที่ภักดีต่อประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ได้โจมตีพลเรือนด้วยอาวุธเคมีอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2014 และอีกครั้งในปี 2015 ขณะที่นักรบกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) มีการนำ “แก๊สมัสตาร์ด” มาใช้เป็นอาวุธ
JIM ได้ตรวจสอบเหตุการณ์ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นการใช้อาวุธเคมีสังหารพลเรือนซีเรีย รวมทั้งสิ้น 9 กรณี โดยจนถึงขณะนี้สามารถยืนยันได้ว่า เป็นฝีมือกองทัพอัสซาด 3 กรณี และกลุ่มไอเอสอีก 1 กรณี
รายงานฉบับที่ 4 ของ JIM ระบุว่า “มีข้อมูลเพียงพอ” ที่จะสรุปว่า โศกนาฏกรรมที่หมู่บ้านกอเมนาส “เกิดจากวัตถุซึ่งถูกทิ้งลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังอาหรับซีเรีย โดยวัตถุนั้นได้ตกกระแทกพื้น และปลดปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อประชาชน”
จากอาการของเหยื่อที่ได้สัมผัสสารพิษดังกล่าว บ่งชี้ว่าน่าจะเป็น “ก๊าซคลอรีน”
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของหมู่บ้าน กาฟร์ ซิตา คณะผู้สืบสวนยังไม่สามารถฟันธงได้ว่ากองทัพซีเรียทิ้งถังบรรจุสารพิษลงมาใส่ชุมชนใช่หรือไม่ เนื่องจาก “เศษวัตถุได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปหมดแล้ว”
คณะผู้สืบสวนเผยด้วยว่า มีการพบ “ถังซึ่งมีร่องรอยของก๊าซคลอรีน” ที่ในหมู่บ้านบินนิช “แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับการโจมตีที่ใดที่หนึ่งได้”
ยูเอ็นได้ขยายเวลาในการสืบสวนของ JIM ออกไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.
ฝรั่งเศส อังกฤษ และ สหรัฐฯ ต่างเรียกร้องให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับฝ่ายใดก็ตามที่ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนซีเรีย รวมถังรัฐบาลอัสซาดด้วย ทว่า ดามัสกัสนั้นได้รับการปกป้องจากพันธมิตรอย่างรัสเซีย ซึ่งแสดงท่าทีกังขาต่อผลการสอบสวนของ JIM และชี้ว่า หลักฐานที่พบไม่หนักแน่นพอที่จะใช้เป็นเหตุผลคว่ำบาตรรัฐบาลซีเรีย
อัสซาด ยินยอมที่จะทำลายคลังอาวุธเคมีของรัฐบาล และรับปากว่า จะไม่นำอาวุธประเภทนี้มาใช้ในสงคราม นอกจากนี้ยังประกาศเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (CWC) ในปี 2013 ตามแรงกดดันจากรัสเซีย