xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : พญามังกรสยายปีกใน “เอเปก” หลัง “ทรัมป์” ลั่นไม่สานต่อ “ทีพีพี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งเป็นผลงานด้านเศรษฐกิจชิ้นโบแดงของรัฐบาล บารัค โอบามา แทบไม่มีโอกาสที่จะไปรอด หลังจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ยืนยันว่าอเมริกาจะถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้อย่างแน่นอน และเป็นที่น่าจับตาว่านโยบายของสหรัฐฯ อาจเปิดทางให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำการค้าในภูมิภาคแทน

ทรัมป์ วัย 70 ปี ประกาศจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลง TPP ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยยกให้เป็น 1 ใน 6 แผนงานหลักที่รัฐบาลของเขาจะทำทันที เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First)

ความสำเร็จของ TPP จะเป็นการผูกโยงความร่วมมือระหว่าง 12 ชาติ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐฯ และเวียดนาม ให้กลายเป็นเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันถึง 40% ของโลก โดยที่ไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับก็ต่อเมื่อรัฐบาลอย่างน้อย 6 ชาติที่มีมูลค่าเศรษฐกิจถึง 85% ของจีดีพี 12 ชาติรวมกันได้ให้สัตยาบัน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากสหรัฐฯ ไม่เข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ได้ออกมาเตือนว่า TPP จะ “ไร้ความหมาย” ทันทีหากปราศจากสหรัฐฯ แต่รัฐสภาญี่ปุ่นก็จะยังเดินหน้ากระบวนการให้สัตยาบันต่อไป และจะโน้มน้าวประเทศสมาชิกอื่นๆ ให้กระทำอย่างเดียวกัน

ประธานาธิบดี โอบามา พยายามผลักดัน TPP ให้เป็น “รากฐานการค้าในศตวรรษที่ 21” โดยระบุว่าข้อตกลงฉบับนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกา ตลอดจนปกป้องสิ่งแวดล้อมและผลประโยชน์ของแรงงานแล้ว ยังจะทำให้สหรัฐฯ ดำรงสถานะ “ผู้คุมกฎ” ต่อไป แทนที่จะเป็นจีนซึ่งถูกกีดกันออกจากข้อตกลงนี้

เนื้อหาหลักๆ ของ TPP กำหนดให้มีการยกเลิกกำแพงภาษีถึง 98% จากสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่เนื้อวัว นม ไวน์ น้ำตาล ข้าว พืชสวน อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เรื่อยไปจนถึงทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน

รัฐภาคีจะต้องเปิดตลาดรับสินค้าต่างชาติมากยิ่งขึ้น เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะญี่ปุ่นที่จะส่งไปขายในสหรัฐฯ, ยาของออสเตรเลียที่ส่งไปยังเปรู, ข้าวสหรัฐฯ ที่ส่งไปญี่ปุ่น และชีสจากนิวซีแลนด์ที่ส่งไปจำหน่ายในแคนาดา เป็นต้น ขณะที่แดนปลาดิบก็ต้องยกเลิกมาตรการทางภาษีที่ใช้ปกป้องสินค้าเกษตรของตน

ทีพีพียังกำหนดเงื่อนไขที่เอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยเสนอกฎหมายปกป้องข้อมูลและการค้าออนไลน์ และยังกำหนดมาตรฐานสิทธิบัตรยาประเภทใหม่ๆ โดยเฉพาะยาประสิทธิภาพสูงในกลุ่ม biologic

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเจรจาแบบปิดลับ และแนวโน้มที่รัฐภาคีจะถูกลิดรอนอธิปไตย

ในสหรัฐฯ เอง นักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่า TPP จะบ่อนทำลายเศรษฐกิจและการจ้างงานในอเมริกา เพราะผู้ผลิตต่างชาติจะสามารถส่งสินค้าราคาถูกเข้ามาทุ่มตลาดในสหรัฐฯ ขณะที่บริษัทและฟาร์มการเกษตรของอเมริกาซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าจะไม่สามารถแข่งขันได้

ทรัมป์ นั้นถึงกับระบุว่า TPP จะเป็น “หายนะ” สำหรับชาวอเมริกัน

หลายชาติในเอเชีย-แปซิฟิกคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์มหาศาลจากการสร้างเขตการค้าเสรี ตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ซึ่งเป็นเพียงเกาะเล็กๆ และอาศัยการค้าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาดว่าจะได้ประโยชน์ในแง่ของการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือ และการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุน ขณะที่เวียดนามนั้นมีผลวิจัยจากสถาบันปีเตอร์เซน (Petersen Institute) ระบุว่าจะเป็นชาติที่ได้ประโยชน์จาก TPP มากที่สุด เนื่องจากเศรษฐกิจในปัจจุบันยังค่อนข้างปิด และ TPP จะช่วยให้สินค้าประเภทข้าว อาหารทะเล สิ่งทอ และสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากเวียดนามสามารถส่งไปขายยังตลาดใหญ่ๆ ในภูมิภาคโดยปราศจากกำแพงภาษี

นักวิเคราะห์บางคนประเมินว่า TPP จะช่วยให้เศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัวได้ถึง 10% ภายในปี 2025

ในส่วนของมาเลเซีย สถาบันปีเตอร์เซนคาดการณ์ว่า TPP จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้น 5.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยมาเลเซียจะสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มไปยังสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยกระดับมาตรฐานแรงงานให้สูงขึ้นทัดเทียมกับนานาชาติ

ไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็เตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การถอนตัวจาก TPP จะเป็นความสูญเสียทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจอย่าง “ร้ายแรง” สำหรับอเมริกา

ดักลาส พาล รองประธานกองทุนคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) กล่าวในงานเสวนาที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ (23) ว่า ความไม่แน่นอนที่เกิดจากชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยเฉพาะเรื่องที่เขาขู่จะนำสหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP ยิ่งส่งเสริมจีนให้ดูเป็นผู้นำที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมโลกมากกว่าเดิม

การล่มสลายของ TPP เป็นโอกาสที่จีนจะได้ผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership - RCEP) ที่ประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน และพวกชาติคู่เจรจาของอาเซียนอีก 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยหลายฝ่ายมองว่า RCEP อาจเป็นเส้นทางเดียวที่จะนำไปสู่การจัดตั้งเขตการค้าเสรีสำหรับเอเชีย-แปซิฟิกทั้งหมด (Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP) ซึ่ง เอเปก ปรารถนาจะไปให้ถึง

รัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาแสดงท่าทีว่ากำลังหันเหความสนใจจาก TPP ไปสู่ RCEP ขณะที่เวียดนามซึ่งมีส่วนร่วมในข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับก็ประกาศระงับให้สัตยาบันต่อ TPP ทันทีที่ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีเปรูซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมซัมมิตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ได้เสนอให้ประเทศต่างๆ หันมาจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่แทนที่ TPP โดยดึงจีนและรัสเซียเข้าร่วม ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เปรูก็ยอมรับว่ากำลังหารือกับจีนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่เปรูจะมีส่วนร่วมใน RCEP ซึ่งหากลิมาตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาก็จะถือเป็นชาติแรกในทวีปอเมริกา และอาจกระตุ้นให้รัฐภาคี TPP อื่นๆ ในละตินอเมริกาเดินตามรอยบ้าง

แม้บางประเทศอาจจะยังมีหวังว่า ทรัมป์ จะเปลี่ยนใจหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า แต่หากเขายังยืนกรานเช่นเดิม ทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้ก็คือ อีก 11 ชาติที่เหลือยังรักษาข้อตกลง TPP ให้คงอยู่ต่อไปในสภาพ “ไร้ผลบังคับ” และเฝ้ารอจนกว่ากระแสลมการเมืองในสหรัฐฯ จะเปลี่ยนทิศ

กำลังโหลดความคิดเห็น