เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีตุรกี บินาลี ยิลดิริม (Binali Yildirim) แสดงความไม่พอใจอย่างหนักเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) พร้อมเตือนว่าความตึงเครียดระหว่างยุโรปและตุรกีอาจมีเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่รัฐสภายุโรปได้ลงมติด้วยเสียง 471 ต่อ 37 สั่งระงับการเจรจาสมัครสมาชิกสหภาพยุโรปของตุรกีไว้ชั่วคราว เพื่อตอบโต้มาตรการความรุนแรงที่ประธานาธิบดีตุรกีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอันใช้อำนาจรัฐทำการกวาดล้างอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศหลังจากเกิดรัฐประหารในกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) ว่า ตุรกีแสดงความโกรธเกรี้ยวออกมาหลังรับรู้ผลมติการลงคะแนนของรัฐสภายุโรปในวันพฤหัสบดี (24) ด้วยคะแนนเสียง 471 ต่อ 37 และมีการงดออกเสียง 107 ประกาศให้ระงับการเจรจาการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของตุรกีไว้ชั่วคราว ท่ามกลางการสนับสนุนอย่างล้นหลามตั้งแต่กลุ่มคอนเซอร์เวตีฟไปจนถึงกลุ่มกรีน เพื่อต้องการลงโทษอังการาต่อการใช้อำนาจในการเข้ากวาดล้างครั้งใหญ่อย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร
โดยเมื่อวานนี้ (24 พ.ย.) นายกรัฐมนตรีตุรกี บินาลี ยิลดิริม (Binali Yildirim) ได้ออกมาเตือนยุโรปว่า อาจเกิดความตึงเครียดขึ้นหลังจากมติน่าอัปยศดังกล่าวได้ออกมา และในขณะเดียวกัน ยิลดิริมได้บอกปัดไปถึงการออกเสียงครั้งนี้ว่า “ไม่สำคัญ” และกล่าวว่า “ทางเราคาดหวังว่าบรรดาผู้นำยุโรปจะลุกขึ้นคัดค้านการลงมติที่ขาดวิสัยทัศน์นี้” และยังเสริมต่อว่า “สหภาพยุโรปต้องเลือกที่ตัดสินใจว่าจะยังคงมีอนาคตร่วมกับตุรกีต่อไปหรือไม่”
สื่ออังกฤษชี้ว่า ในต้นสัปดาห์นี้ประธานาธิบดีตุรกีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ได้ออกมาให้ความเห็นซัดการออกเสียงลงคะแนนของรัฐสภายุโรปว่า “ไม่มีคุณค่าโดยสิ้นเชิง” และแอร์โดอันยังกล่าวซ้ำอีกครั้งว่า เขาสามารถฉีกสัญญาความร่วมมือระหว่างยุโรปและตุรกีด้านวิกฤตผู้อพยพ หากว่าทางยุโรปยังไม่เปิดช่องให้ตุรกีในการเข้าเจรจาสมัครสมาชิกสหภาพยุโรป หรือปฏิเสธที่จะให้สิทธิพลเมืองยุโรปสามารถเดินทางเข้าสู่ยูโรโซนโดยไม่ต้องขอวีซ่าเชงเก้น
โดยการขึ้นกล่าวกลางเวทีสัมมนาในเมืองอิสตันบูลในวันพุธ (23 พ.ย.) ประธานาธิบดีตุรกีแถลงว่า “ผมอยากจะขอกล่าวล่วงหน้าในที่นี้ และต่อประชาชนทั่วโลกที่รับชมผ่านทางทีวีของพวกเขาว่า การลงมติครั้งนี้ไม่มีค่าและความหมายแม้แต่น้อย ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นเช่นไรก็ตาม”
ด้านผู้ช่วยนายกรัฐมนตรีตุรกี นูมาน เคอร์ตูลมุซ (Numan Kurtulmuş) ได้ออกมาระบุว่า ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างยุโรปและตุรกีเป็นตัวประกันต่อผลมติรัฐสภายุโรปที่ออกมา “ด้วยการลงมติเช่นนี้จะทำให้รัฐสภายุโรปจำเป็นต้องหยุดในการเจรจาที่สร้างสรรค์ทุกประเภทกับตุรกี และพร้อมกับทำให้เกิดคำถามถึงความน่าเชื่อถือของยุโรปในฐานะพันธมิตร”
เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม มติการออกเสียงของรัฐสภายุโรปนั้นถือว่าไม่ใช่ข้อผูกพัน แต่เป็นเสมือนหินนำทางในการประชุมครั้งสำคัญของรัฐมนตรียุโรปในเดือนหน้า ซึ่งบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกจะถกเถียงกันในเรื่องการสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกของตุรกี ที่ใช้เวลาการรอคอยนาวนานร่วม 11 ปี ท่ามกลางความวิตกในการใช้อำนาจนิยมของแอร์โดอันที่ออกกวาดล้างทั่วตุรกีอย่างต่อเนื่องหลังจากเกิดการทำรัฐประหารพยายามยึดอำนาจตัวเขาในเดือนกรกฎาคมปีนี้
และพบว่าหลังการลงมติออกมา บรรดานักการทูตยุโรปต่างส่งเสียงแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมไปถึง อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน คาร์ล บิลดต์ (Carl Bildt) ที่ได้แสดงความเห็นผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “เป็นมติที่มีวิสัยทัศน์สั้นมากกว่าการใช้ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาแบบระยะยาว”
สื่ออังกฤษชี้ว่า มติในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดี (24 พ.ย.) ของสภายุโรปนั้นมีขึ้นเพื่อส่งสัญญาณไปถึงแอร์โดอันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐประหารตุรกี ที่พบว่าผู้นำตุรกีได้ออกคำสั่งปลดทีเดียวรวดเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนเกือบ 130,000 คนออกจากงาน รวมไปถึงการเข้ากวาดล้างสื่อตุรกีอย่างหนัก และพบว่าอังการาได้สั่งปลด หรือจับกุมบรรดาข้าราชการตุรกี ผู้พิพากษา ทหาร และตำรวจหลายหมื่นคนโดยอ้างว่าคนเหล่านี้เชื่อมโยงกับศาสนจารย์ฟัตฮุลลอฮฺ กูเลน ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการลี้ภัยในสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลของแอร์โดอัน
ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปในวันพฤหัสบดี (24 พ.ย.) ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การเจรจาการสมัครสมาชิกอียูของตุรกีจะสามารถกระทำได้อีกครั้งก็ต่อเมื่ออังการาได้ยกเลิกมาตรการต่างๆ โดยไม่นานมานี้แอร์โดอันถึงขั้นพิจารณาจะนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง และหันไปหาสู่ความเป็นนิติรัฐแทน แต่ทว่ามีรายงานว่าสมาชิกรัฐสภายุโรปบางคนถึงกับตั้งคำถามว่าสมควรหรือไม่ที่จะมีตุรกีร่วมอยู่ในสหภาพยุโรป