เอเจนซีส์ - เดฟเลต บาห์เซลี (Devlet Bahçeli) ประธานพรรคเคลื่อนไหวชาตินิยมตุรกี MHP ออกแถลงการณ์ยืนยันเมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) ในร่างกฎหมายลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญตุรกี ที่จะสามารถต่ออายุการเป็นผู้นำของประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ไปจนถึงปี 2029 ให้อำนาจผู้นำตุรกีมากกว่าเดิมในแผนการปฎิรูปแดนเติร์กให้กลายเป็น “ระบบผู้นำสาธารณรัฐแบบประธานาธิบดี”
หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) ว่า ในการแถลงของหัวหน้ากลุ่มการเมืองชาตินิยมตุรกี และประธานพรรคเคลื่อนไหวชาตินิยมตุรกี MHP ยอมรับว่า การปฏิรูปกฎหมายรัฐธรรมนูญตุรกีจะเพิ่มอำนาจให้กับผู้นำตุรกี เป็นเรื่องสมเหตุสมผล
ร่างกฎหมายลงประชามติที่เสนอโดยบาห์เซลีจะทำให้ตุรกีมีการลงประชามติครั้งใหญ่ในหน้าฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้ ซึ่งผลการลงประชามติจะเป็นช่องทางให้ตุรกีสามารถแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ เพื่อเปิดทางให้ ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน จากพรรครัฐบาล AKP สามารถยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนถึงปี 2029
โดยแหล่งข่าวอังการาให้ข้อมูลว่า และการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้จะรวมไปถึงการยกเลิกตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ประธานาธิบดีตุรกีซึ่งเป็นผู้นำแห่งรัฐจะมีผู้ช่วยถึง 2 คน รวมไปถึงอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นในการทำกฎหมายนโยบายเชิงบริหาร และในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ยังอนุญาตให้ประธานาธิบดีตุรกียังคงสามารถเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองของตนต่อไปได้ ซึ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญตุรกีในปัจจุบัน หลังจากที่แอร์โดอันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแล้ว เขาต้องประกาศยุติความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง AKP โดยสิ้นเชิง
สื่ออังกฤษรายงานว่า ปัญหาแก้ไขรัฐธรรมนูญตุรกีได้กลายเป็นเรื่องร้อนมาไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ หลังจากที่ทางกลุ่มพรรคการเมืองชาตินิยมตุรกีได้ออกมาส่งสัญญาณว่า ทางกลุ่มจะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ทางปีกฝ่ายค้านในรัฐสภาตุรกีได้ประกาศว่าจะทำการคัดค้านให้ถึงที่สุด ซึ่งร่างกฎหมายได้ถูกส่งไปยังกลุ่มพรรคการเมืองชาตินิยมตุรกีในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อการโต้ถียง
เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลอังการาได้ออกมาให้ความเห็นถึงการปฎิรูปตุรกี จากเดิมที่เป็นระบบประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีไปสู่ระบบสาธารณรัฐที่มีเพียงประธานาธิบดีเป็นผู้บริหารประเทศ โดยทางเจ้าหน้าที่อังการาชี้ว่า รัฐบาลพรรคผสมของตุรกีในอดีตเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านการปฏิรูปตุรกี ได้ชี้ว่า สิ่งนี้จะทำให้แอร์โดอันสามารถกระชับอำนาจไว้อยู่ในมือเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในอดีตผู้นำตุรกีคนนี้ได้ปกครองประเทศด้วยการใช้อำนาจเผด็จการ โดยชี้ไปที่การใช้อำนาจทางความมั่นคงและศาลในการเข้าทะลายสื่อสารมวลชน และการกวาดล้างเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก
โดยกลุ่มที่ออกมาวิพากษ์อังการาชี้ว่า สิ่งนี้เกินไปกว่าการโค่นอำนาจรัฐ และเป็นความพยายามในการกระชับอำนาจของพรรครัฐบาลตุรกีเท่านั้น
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ช่วยหัวหน้าพรรคใหญ่เป็นอันดับ 2 ในรัฐสภาตุรกี พรรค CHP ซึ่งไม่อิงอิสลามิสต์ ได้ให้ความเห็นว่า เขาเกรงว่า การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญตุรกีจะนำไปสู่ การปกครองแบบอำนาจนิยม และส่วนพรรค HDP ระบุว่า จะออกมาคัดค้านในเรื่องนี้
เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า แอร์โดอันมีกำหนดต้องลงรับสมัครการเลือกตั้งประธานาธิบดีตุรกีในสมัยที่ 2 ในปี 2019 และจะอยู่ในอำนาจไปจนถึงปี 2024 หากเขาชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจากร่างกฎหมายตุรกีที่นักข่าวรอยเตอร์ได้เห็นเอกสาร ชี้ว่า ร่างกฎหมายตุรกีระบุว่า แอร์โดอันจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีทันที และมีอำนาจทางการบริหาร หลังจากการทำประชามติเสร็จสิ้นลง และกำหนดการเลือกตั้งตุรกีในปี 2019จะถูกเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงแอร์โดอันจะได้รับอนุญาตให้สามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตุรกีได้อีก 2 สมัย โดยอยู่ในตำแหน่งสมัยละ 5 ปี