xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” แย้มอาจแหวกธรรมเนียมติติงรัฐบาลใหม่ หาก “ทรัมป์” ทำลายค่านิยมอเมริกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ยอมรับว่าตนอาจแหวกธรรมเนียมของผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ด้วยการออกมาวิจารณ์การทำงานของ โดนัลด์ ทรัมป์ หากเห็นว่าค่านิยมของชาวอเมริกันตกอยู่ในความเสี่ยง

ตามธรรมเนียมแล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่พ้นตำแหน่งมักไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือวิจารณ์รัฐบาลชุดปัจจุบัน

โอบามา ได้ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมซัมมิตความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่กรุงลิมาของเปรูว่า ตนตั้งใจจะช่วยประคับประคอง ทรัมป์ และให้เวลาเขาในการกำหนดวิสัยทัศน์ แต่ในฐานะพลเมืองอเมริกันคนหนึ่ง ตนอาจจะออกมาแสดงความคิดเห็นในบางเรื่องที่จะเป็นผลเสียต่อชาติ

“ผมจะให้เกียรติรัฐบาลชุดใหม่ และให้โอกาสว่าที่ประธานาธิบดีได้ผลักดันนโยบายและข้อโต้แย้งที่เขาได้หาเสียงไว้ โดยไม่มีใครขัดขวาง” โอบามา กล่าว

อย่างไรก็ดี "หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับค่านิยมและอุดมการณ์ของเรา และถ้าผมคิดว่ามีความจำเป็น หรือจะเป็นประโยชน์ที่ผมจะออกมาช่วยปกป้องค่านิยมเหล่านั้น ผมก็จะพิจารณาเมื่อเวลานั้นมาถึง”

โอบามายอมรับว่าตนเป็นชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ “ใส่ใจกับอนาคตของบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง”

ในการแถลงข่าวก่อนพิธีปิดการประชุมเอเปก โอบามายืนยันอีกครั้งว่าตนจะแสดงความเป็นมืออาชีพด้วยการให้เกียรติรัฐบาลทรัมป์ เช่นเดียวกับที่ทีมงานของตนเคยได้รับจากอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

บุช ปฏิเสธที่จะวิจารณ์การทำงานของโอบามา มาโดยตลอด และได้ให้เหตุผลกับซีเอ็นเอ็นเมื่อปี 2013 หลังจากที่ โอบามา ชนะเลือกตั้งสมัยที่สองว่า “มันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา”

“มันเป็นงานที่ยากลำบาก เขายังมีภารกิจหลายอย่างที่ต้องทำ มันยากพออยู่แล้ว อดีตประธานาธิบดีคนหนึ่งไม่ควรเข้าไปแทรกแซงให้เรื่องมันยากขึ้นไปอีก ประธานาธิบดีคนอื่นๆ อาจไม่คิดแบบนี้ แต่นี่คือความคิดของผม”
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา เชิญมหาเศรษฐ๊ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าหารือที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 11 พ.ย.
จุดยืนของบุช สอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะไม่วิจารณ์ผู้ที่มาก่อนหรือหลังตนเอง ซึ่ง โอบามา ก็ยืนยันว่าจะไม่แทรกแซงการตัดสินใจของทรัมป์ ระหว่างที่ตนยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ แม้ว่าองค์กรปกป้องสิทธิพลเมืองจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับตัวบุคคลที่ ทรัมป์ เลือกเข้ามาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลชุดใหม่ก็ตาม

สตีฟ แบนนอน ซึ่งถูกวางตัวเป็นหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ของทรัมป์ เคยเป็นผู้บริหารเว็บไซต์ Breitbart ซึ่งถูกครหาว่าส่งเสริมการเหยียดเชื้อชาติและลัทธิต่อต้านชาวเซมิติก ส่วน พล.ท.ไมเคิล ฟลินน์ ซึ่ง ทรัมป์ แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ก็เคยวิจารณ์อิสลามว่าเป็นเสมือน “มะเร็ง” ที่กำลังลุกลามไปทั่วสหรัฐฯ

ส.ว.เจฟฟ์ เซสชันส์ ซึ่งถูกวางตัวเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ก็เคยถูกปฏิเสธตำแหน่งผู้พิพากษารัฐบาลกลางเมื่อปี 1986 เพราะคำพูดเหยียดเชื้อชาติ

โอบามา ระบุด้วยว่า เขาเชื่อว่าภาระและความรับผิดชอบอันหนักอึ้งของการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะทำให้ ทรัมป์ ผ่อนปรนนโยบายสุดโต่งที่เคยโฆษณาไว้ในช่วงหาเสียง

เมื่อผู้สื่อข่าวตั้งคำถามเกี่ยวกับความพ่ายแพ้ของ ฮิลลารี คลินตัน และพรรคเดโมแครตในศึกเลือกตั้ง โอบามา ก็ได้วิจารณ์แนวทางของพรรคที่เน้นเรียกคะแนนนิยมจากพลเมืองบางกลุ่มเป็นพิเศษ (micro-targeting) มากกว่าการเข้าถึงชาวอเมริกันทั้งประเทศ

คลินตัน ถูกวิจารณ์ว่าให้ความสำคัญกับชาวละติโนและผู้หญิงซึ่งเธอเชื่อว่าจะเป็นฐานเสียงของเธอมากเกินไป จนทำให้แคมเปญในภาพรวมอ่อนแอลง

“วิธีการแบบนี้จะไม่ช่วยให้คุณได้รับอาณัติจากประชาชนส่วนใหญ่มากพอ” โอบามากล่าว พร้อมระบุว่าพรรคเดโมแครตจำเป็นต้องสื่อสารกับชาวอเมริกันอย่าง “ชาญฉลาด” กว่านี้

กำลังโหลดความคิดเห็น