(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Singaporeans among top English speakers; Hong Kong slides
By Johan Nylander
14/11/2016
สิงคโปร์ซึ่งพูดภาษาอังกฤษสายสกุล “ซิงลิช” ทะยานขึ้นติดอันดับประเทศที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ “ระดับสูงมาก” เป็นครั้งแรกและเป็นชาติแรกของเอเชีย ในการจัดอันดับประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ ประจำปี 2016 โดยได้รับการจัดวางไว้ที่อันดับที่ 6 ขณะที่ฮ่องกงเสียฟอร์มหนัก อันดับร่วงสู่หมายเลข 30 ตามหลังมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย เกาหลีใต้ และต่ำกว่าชาติที่ไม่ค่อยจะยอมใช้ภาษาอังกฤษ อย่างฝรั่งเศส ส่วนชาวไทยไม่ต้องลุ้นอะไรมากนัก ติดกลุ่มประเทศที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ “ระดับต่ำมาก” ที่อันดับ 56 ห่างชั้นกับประเทศเกิดใหม่เร่งสร้างตัว อย่างเวียดนาม ซึ่งอยู่ที่อันดับ 31 อย่างไรก็ตาม ไทยแลนด์ยังมีประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกัมพูชาและลาวช่วยปิดท้าย อยู่ที่ลำดับ 69 และ 71
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อจะจัดลำดับว่าใครบ้างในเอเชียที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด สิงคโปร์กับฮ่องกงมักที่จะติดอันดับสูงสุด แบบว่าขาประจำนำหน้าเสมอ
ทั้งสองชาตินี้มีต่างมีประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศอังกฤษ และถือประเพณีที่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ยิ่งกว่านั้น ทั้งสิงคโปร์และฮ่องกงต่างอ้างว่าตนเป็นศูนย์ธุรกิจชั้นนำของเอเชีย
แต่!! ความเปลี่ยนแปลงเริ่มก่อตัวแล้ว
ขณะที่ความสามารถด้านภาษาอังกฤษในสิงคโปร์ พุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมา ฝั่งฮ่องกงกลับมีศักยภาพตัวนี้ลดน้อยถอยลง และถูกทิ้งห่างเป็นที่น่าปวดหัวใจ
ผลการศึกษาความสามารถด้านภาษาอังกฤษของโลกครั้งล่าสุด ที่จัดทำโดยกลุ่มบริษัท Education First หรือ EF และประกาศให้ทราบกันเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้จัดวางให้สิงคโปร์อยู่ในกลุ่มประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ แต่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับสูงมาก โดยตามหลังประเทศยุโรปคุณภาพคับแก้วอย่าง สวีเดน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์
ในการศึกษาดังกล่าวของ EF ได้มีการจัดทำดัชนีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า EF English Proficiency Index (FPI) ซึ่งเป็นการวัดทักษะความชำนาญเรื่องนี้ภายในประเทศที่มิได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรก
ในการนี้ สิงคโปร์ได้รับการจัดวางไว้ในอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เข้าสู่เขตแดน “ระดับสูงมาก” อีกทั้งยังเป็นชาติเอเชียชาติแรกได้เข้าสู่พื้นที่สุดหรูนี้
“จุดเด่นเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์สามารถฝ่าด่านเข้าสู่ช่วงชั้นแห่งท็อปเทน ซึ่งถือเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก” คุณมินห์ ตรัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแห่ง EF กล่าวไว้ตอนหนึ่งในการให้สัมภาษณ์ที่ฮ่องกง
ทั้งนี้ EF เป็นบริษัทในธุรกิจการศึกษารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีความชำนาญด้านการฝึกสอนภาษา การเดินทางเพื่อการศึกษา การจัดโปรแกรมทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
กรอบวิธีในการจัดทำดัชนีคือ การเปิดให้ผู้คนทั่วโลกเข้าทดสอบความสามารถทางภาษาอังกฤษของตนผ่านระบบออนไลน์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ในการนี้ EF รวบรวมผลการทดสอบของผู้คนจำนวนเกือบ 1 ล้านรายจาก 72 ประเทศทั่วโลก แล้วนำมาวิเคราะห์ผล พร้อมจัดอันดับลงใน 5 กลุ่มระดับศักยภาพ ตั้งแต่ระดับสูงมาก สูง ปานกลาง ต่ำ และต่ำมาก
ในผลการจัดอันดับฉบับเดียวกันนี้พบว่า ฮ่องกงร่วงสู่อันดับที่ 30 ทั้งที่ว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ฮ่องกงเคยได้รับการจัดวางไว้ที่อันดับ 12 ทั้งนี้ แม้จำนวนประเทศที่ถูกจัดอันดับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จะมีจำนวนน้อยกว่าในรอบนี้ กระนั้นก็ตาม คะแนนแท้จริงที่ฮ่องกงได้รับในปีนี้ ก็ต่ำกว่ามาตรฐานเดิมที่ทำไว้ในปี 2011
ยิ่งกว่านั้น หลายๆ ประเทศย่านเอเชียพากันแซงหน้าฮ่องกง ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และเกาหลีใต้
ใช่แต่เท่านั้น แม้แต่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นชาติที่ถือตัวว่าภาษาของตนเป็นภาษายิ่งใหญ่ของโลก และไม่ใคร่จะยอมใช้ภาษาอังกฤษ ก็ยังได้รับการจัดวางว่า คนฝรั่งเศสในปัจจุบันนี้ สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าคนฮ่องกง
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษในฮ่องกงเน้นการท่องจำ ทั้งนี้ ผลการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว (2015) แสดงให้เห็นว่านักเรียนชั้นประถมในฮ่องกงใช้เวลาทำการบ้านมากกว่าเพื่อนๆ ในสิงคโปร์ แม้จะถูกทำให้ต้องขยันขันแข็งปานนั้น แต่จำนวนชั่วโมงที่หมดไปในห้องเรียนและในการทำการบ้านมิได้สร้างให้เด็กฉลาดมากขึ้น คุณมินห์ ตรัน ชี้ว่าคุณภาพในการเรียนการสอนสำคัญกว่าจำนวนชั่วโมงเรียน นอกจากนั้น ยังฟันธงด้วยว่า ช่องว่างระหว่างสิงคโปร์กับฮ่องกง ซึ่งถ่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ มิใช่แค่ประเด็นการศึกษาอย่างเดียวแล้ว หากยังไปถึงประเด็นการศึกษาที่พัฒนาสติปัญญาด้วย
มันอาจฟังเสมือนว่าข้อสังเกตข้างต้นมักถูกเป็นจำเลยระดับคลาสิกที่ถูกนำมาโจมตีเสมอ แต่ท่านจะประหลาดใจมากถ้าได้เห็นตัวเลขที่ว่า มีผู้ปกครองในฮ่องกงจำนวนมหาศาลเพียงใดที่บังคับเด็กให้เรียนหนังสืออย่างดุเดือด แม้กระทั่งเด็กเล็กวัยเพียง 3-4 ขวบก็จะโดนเคี่ยวเข็ญหนักหนา ในแต่ละวัน เด็กๆ ถูกเลี้ยงให้โตขึ้นมาพร้อมกับการถูกบังคับให้ใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงดำดิ่งอยู่กับการศึกษาที่สุดแสนจะวิริยะจนสมองด้านชา แทนที่จะได้ออกไปเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่นๆ
“ในฮ่องกง เด็กๆ เริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นอนุบาล แล้วก็เจาะลึกอยู่กับภาษาอังกฤษในชั้นเรียนในอีก 12 ปีถัดไป กระนั้นก็ตาม บ่อยครั้งเลยครับ พอเรียนจบออกมา พวกเขาไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้” คุณมินห์ ตรัน บอกอย่างนั้น
คุณมินห์ ตรัน เล่าถึงประสบการณ์ตรงที่ได้พบเห็นเมื่อเข้าไปนั่งสังเกตการณ์การเรียนการสอนของห้องเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลายแห่งในฮ่องกง (โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสังเกตการณ์ระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ) เขาบอกว่าห้องเรียนภาษาอังกฤษเหล่านี้ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ แต่พูดกวางตุ้ง ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้กันในจีนตอนใต้
“นี่มันผิดฉกรรจ์ ไม่ว่าจะพิจารณาด้วยเกณฑ์ใดๆ” เขากล่าวพลางส่ายหน้า “ในสิงคโปร์ คุณจะไม่เห็นสถานการณ์อย่างนั้นเลยครับ”
คำแนะนำของเขาแก่ผู้ปกครองที่ต้องการส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษของบุตรหลาน มีอยู่ว่า จะต้องให้เด็กๆ ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น จะเป็นการดีกว่าหากเด็กๆ ได้เล่นกับเพื่อนที่พูดภาษาอังกฤษ ได้ดูหนัง ฟังเพลงที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งจะให้ผลดีกว่าการใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงไปกับการท่องจำซ้ำซาก
“มันไม่ใช่การทะลวงเข้าไปแล้วฆ่าให้เกลี้ยง มันไม่ใช่การใช้ความทรงจำ มันไม่ใช่เรื่องของไวยากรณ์หรือคลังศัพท์ แม้ทั้งสองปัจจัยนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่คุณจะได้ไวยากรณ์และคลังศัพท์มาเองตามธรรมชาติ หากคุณเข้าไปสัมผัสรับประสบการณ์ตรงผ่านการที่ได้คลุกคลีอยู่กับภาษา” คุณมินห์ ตรังกล่าว
“ลองนึกถึงตอนที่คุณหัดพูดภาษาแรกในชีวิตนะครับ คุณเรียนรู้และซึมซับภาษาเหล่านั้นมาด้วยวิธีอย่างไร ไม่ใช่การเรียนในโรงเรียนใช่ไหมครับ คุณเรียนมาจากการได้สัมผัสและรับประสบการณ์ตรงใช่ไหมครับ”
แล้วประเด็นคุณภาพครูก็เป็นปัจจัยที่สร้างผลสำเร็จที่แตกต่างกันด้วย คุณมินห์ ตรัน เปิดประเด็นถกเถียงนี้ขึ้นมา
“คุณครูชาวสิงคโปร์คือจุดแข็งที่เอื้อให้เกิดความสำเร็จในการเรียนการสอนภายในประเทศนี้เหนือกว่าประเทศอื่นๆ พวกเขามีคุณภาพสุดยอดจริงๆ พวกเขาได้รับค่าตอบแทนที่ดี นอกจากนั้น อาชีพครูเป็นหนึ่งในงานที่ทรงเกียรติที่สุดของประเทศนี้” คุณมินห์ ตรัน บอกอย่างนั้น
“ในฮ่องกง แม้จะมีขนบประเพณีแห่งลัทธิขงจื๊อที่ให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์ แต่อาชีพนี้มิได้มีภาพลักษณ์ว่าเป็นอาชีพอันน่าปรารถนาแต่อย่างใด มันเป็นอาชีพที่คนฮ่องกงเข้าไปทำเมื่อไม่สามารถเข้าสู่แวดวงอาชีพยอดนิยมอย่างเช่น การธนาคาร ที่ปรึกษา แพทย์ นักกฎหมาย”
บางคนกล่าวโทษว่าการที่ภาษาจีนกลางได้ทะยานขึ้นมาเป็นภาษายอดฮิตของฮ่องกง คือสาเหตุแห่งการถดถอยในทักษะภาษาอังกฤษ
“ในยุคก่อนปี 1997 ซึ่งอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ผู้คนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่าทุกวันนี้ แต่ในปัจจุบัน โรงเรียนที่เน้นสอนภาษาจีนกลางมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ” กล่าวโดยที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์สันชาติอังกฤษรายหนึ่งซึ่งเกิดและโตในฮ่องกง “ในแง่หนึ่ง ก็อาจจะมีความสมเหตุสมผลอยู่ แต่มันเป็นอะไรที่มองสั้นๆ ใกล้ๆ เกินไป ด้วยภาษาจีน คุณสามารถทำธุรกิจได้แต่เฉพาะในจีน แต่ด้วยภาษาอังกฤษ คุณไปได้ทุกแห่ง”
ส่วนศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษในกรณีของประเทศไทยนั้น ไทยแลนด์อยู่ในกลุ่ม “ต่ำมาก” ณ อันดับที่ 56 จากการเปรียบเทียบทั้งหมด 72 ประเทศ โดยมีชาติต่างๆ ภายในกลุ่มนี้แน่นขนัดถึง 24 ประเทศ และมีประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดจำนวน 2 รายจากกลุ่มอาเซียนตามหลังมาห่างๆ คือ กัมพูชา อันดับที่ 69 และลาว อันดับที่ 70
เนเธอร์แลนด์ครองอันดับที่ 1 บนตารางดัชนี the EF English Proficiency Index ตามด้วยบรรดาประเทศบนคาบสมุทรนอร์ดิกทั้งปวง ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ส่วนอิรัก ลิเบีย และลาว รั้งอันดับก้นตาราง
จีนติดกลุ่มประเทศที่มีความสามารถในการใช้ภาษาระดับต่ำ ณ อันดับที่ 39 ขณะที่ญี่ปุ่นร่วงจากกลุ่มปานกลางเข้าไปในกลุ่มต่ำ โดยได้อยู่ที่อันดับที่ 35
บริษัท Education First สรุปไว้ในรายงานว่าภาษาอังกฤษเป็นองค์ประกอบหลักประการหนึ่งของความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ทั้งในระดับส่วนตัวและระดับประเทศ โดยผลการศึกษาพบว่า ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่สูงกว่า มีนัยสัมพันธ์กับการมีรายได้สูงกว่า การมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า การมีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีพลวัตรสูงกว่า การมีความเชื่อมโยงได้กว้างไกลกว่า และการสร้างนวัตกรรมได้มากกว่า
“สำหรับในระดับส่วนตัวแล้ว ภาษาอังกฤษเอื้อให้มีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสต่างๆ แก่ตนเองได้ในหลากหลายแง่มุม พร้อมทั้งให้ศักยภาพที่จะเสริมสร้างโอกาสด้านการงานที่ดี และศักยภาพที่จะขยายขอบฟ้าให้แก่ตนเอง” รายงานฉบับนี้สรุป
การจัดอันดับประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ ผลสำรวจปี 2016
ความสามารถด้านภาษาอังกฤษสูงมาก
1 เนเธอร์แลนด์
2 เดนมาร์ก
3 สวีเดน
4 นอร์เวย์
5 ฟินแลนด์
6 สิงคโปร์
7 ลักเซมเบิร์ก
ความสามารถด้านภาษาอังกฤษสูง
8 ออสเตรีย
9 เยอรมนี
10 โปแลนด์
11 เบลเยียม
12 มาเลเซีย
13 ฟิลิปปินส์
14 สวิตเซอร์แลนด์
15 โปรตุเกส
16 สาธารณรัฐเช็ก
17 เซอร์เบีย
18 ฮังการี
19 อาร์เจนตินา
20 โรมาเนีย
ความสามารถด้านภาษาอังกฤษปานกลาง
21 สโลวีเนีย
22 อินเดีย
23 สาธารณรัฐโดมินิกัน
24 บัลแกเรีย
25 สเปน
26 บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา
27 เกาหลีใต้
28 อิตาลี
29 ฝรั่งเศส
30 ฮ่องกง
31 เวียดนาม
32 อินโดนีเซีย
33 ไต้หวัน
ความสามารถด้านภาษาอังกฤษต่ำ
34 รัสเซีย
35 ญี่ปุ่น
36 อุรุกวัย
37 มาเก๊า
38 คอสตาริกา
39 จีน
40 บราซิล
41 ยูเครน
42 ชิลี
43 เม็กซิโก
44 โมร็อกโก
45 เปรู
46 ยูเออี
47 เอกวาดอร์
48 ปากีสถาน
ความสามารถด้านภาษาอังกฤษต่ำมาก
49 โคลอมเบีย
50 ปานามา
51 ตุรกี
52 ตูนิเซีย
53 กัวเตมาลา
54 คาซัคสถาน
55 อียิปต์
56 ไทย
57 อาเซอร์ไบจาน
58 ศรีลังกา
59 กาตาร์
60 เวเนซุเอลา
61 อิหร่าน
62 จอร์แดน
63 เอลซาวาดอร์
64 โอมาน
65 คูเวต
66 มองโกเลีย
67 อัลจีเรีย
68 ซาอุดิ อาระเบีย
69 กัมพูชา
70 ลาว
71 ลิเบีย
72 อิรัก
ที่มา: ดัชนี EF English Proficiency Index 2016