xs
xsm
sm
md
lg

รายงานล่าสุดชี้มีเด็กต้องตายเพราะโรคหัดทั่วโลก วันละ 400 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากรอยเตอร์
รอยเตอร์ /เอเจนซีส์ / MGR online - องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัดทั่วโลก ลดจำนวนลงกว่า 79 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จากผลพวงของการรณรงค์ฉีดวัคซีนแบบขนานใหญ่ แต่ยังมีเด็กเกือบ 400 คนต่อวันที่ยังคงต้องจบชีวิตลงเพราะโรคนี้

ในรายงานฉบับล่าสุดของทางองค์การอนามัยโลกที่มีการเผยแพร่ในวันพฤหัสบดี (10 พ.ย.) ในที่ประชุมร่วม ณ กรุงลอนดอน ระหว่างองค์การอนามัยโลก และกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัดทั่วโลกลดจำนวนลงกว่า 79 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จากผลพวงของการรณรงค์ฉีดวัคซีนแบบขนานใหญ่ แต่ยังมีเด็กเกือบ 400 คนต่อวันที่ต้องจบชีวิตลงเพราะโรคนี้เนื่องจากความไม่ใส่ใจของหน่วยงานรัฐบาลในหลายประเทศที่ละเลยการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กอย่างต่อเนื่อง

“หากปราศจากความมุ่งมั่นจริงจังจากรัฐบาลของทุกประเทศแล้ว เด็กๆ ก็จะยังคงต้องเสียชีวิตลงจากโรคหัด ทั้งๆ ที่มันมีหนทางที่ง่ายและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดในการป้องกัน” โรบิน แนนดี ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิคุ้มกันของยูนิเซฟกล่าว

รายงานฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การรณรงค์ฉีดวัคซีนขนานใหญ่ และการขยายการครอบคลุมของวัคซีนในประเทศต่างๆ สามารถช่วยชีวิตของเด็กๆได้ราว 20.3 ล้านคนทั่วโลกในระหว่างปี ค.ศ. 2000-2015 แต่การกระจายตัวที่ยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ของวัคซีนโรคหัด ส่งผลให้ในปีที่แล้วเพียงปีเดียวมีเด็กๆ ที่ไม่ได้รับวัคซีนนี้ตามกำหนดถึงราว 20 ล้านคน และมีกว่า 134,000 คนที่ต้องเสียชีวิต

ทั้งนี้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เอธิโอเปีย อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และปากีสถาน ถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนโรคหัดรวมกันถึงครึ่งหนึ่งของเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนนี้ทั่วโลก และกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ต้องเสียชีวิตเพราะโรคหัดทั่วโลกอาศัยอยู่ในประเทศเหล่านี้


กำลังโหลดความคิดเห็น