เอเอฟพี - สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เปิดเผยชุดเอกสารเกี่ยวกับกรณีที่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน เคยอภัยโทษให้แก่สามีของเศรษฐินีคนหนึ่งซึ่งบริจาคเงินเข้าพรรคเดโมแครต ซึ่งนับเป็นมรสุมข่าวฉาวลูกล่าสุดที่ซัดกระหน่ำฝ่ายของ ฮิลลารี คลินตัน ในขณะที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วัน
เอกสารความยาว 129 หน้ากระดาษนี้เป็นรายงานว่าด้วยการอภัยโทษให้แก่ มาร์ก ริช ซึ่งคดีนี้ถูกปิดไปตั้งแต่ปี 2005 โดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ
การกระทำของเอฟบีไอคราวนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากคนในพรรคเดโมแครต ซึ่งไม่พอใจอยู่เป็นทุนเดิมที่เอฟบีไอสั่งเปิดการสอบสวนอีเมล คลินตัน อีกครั้งเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของอดีตรัฐมนตรีหญิงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
แม้เอกสารเกี่ยวกับ ริช จะถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตตั้งแต่วันจันทร์ (31 ต.ค.) แต่ก็แทบไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งถูกนำไปโพสต์ซ้ำลงบนเพจทวิตเตอร์ของหน่วยงานเอฟบีไอที่ดูแลเกี่ยวกับกฎหมายเสรีภาพทางข้อมูลข่าวสาร (FOIA) เมื่อวันอังคาร (1 พ.ย.)
“เอฟบีไอจะเอาเอกสารเรื่องที่ ทรัมป์ เคยกีดกันที่พักอาศัยคนกลุ่มน้อยเมื่อทศวรรษ 1970 ออกมาแฉด้วยไหม” ไบรอัน ฟอลลอน โฆษกของ ฮิลลารี คลินตัน ออกมาพูดประชด โดยพาดพิงถึงมหาเศรษฐี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน
เอฟบีไอแถลงว่า เอกสารที่ถูกเผยแพร่นี้ผ่านการคัดกรองแล้ว ซึ่งในกรณีของ FOIA จะต้องมีการตรวจทาน 2-3 ครั้ง หรือมากกว่านั้น
“ตามกระบวนการมาตรฐานของ FOIA เอกสารเหล่านี้เข้าข่ายเปิดเผยได้ และถูกโพสต์อัตโนมัติขึ้นไปยังเพจทวิตเตอร์ของเอฟบีไอ โดยเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด”
เอฟบีไอระบุด้วยว่า นี่เป็นเพียงชุดเอกสาร “เบื้องต้น” เท่านั้น และอาจจะมีเอกสารอื่นๆ ตามมาอีก
มาร์ก ริช ถูกดำเนินคดีฐานเลี่ยงภาษีในสหรัฐฯ และเคยเป็นผู้ต้องหาที่เอฟบีไอต้องการตัวมากที่สุดในยุคหนึ่ง เขาพำนักอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ขณะที่ถูกฟ้อง และตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นอย่างถาวรจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2013
ประธานาธิบดีบิล คลินตัน สร้างความตกตะลึงด้วยการประกาศอภัยโทษให้แก่ ริช ในวันที่ 20 ม.ค.ปี 2001 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เขาดำรงตำแหน่ง และต่อมาเอฟบีไอได้เปิดการสอบสวนคำสั่งอภัยโทษของ คลินตัน ในปลายปีเดียวกัน
เดนีส ไอเซ็นเบิร์ก ริช อดีตภรรยาของ มาร์ก ริช ซึ่งถูกลบชื่อออกจากไฟล์เอกสารของเอฟบีไอ “ถือเป็นผู้บริจาคสนับสนุนพรรคเดโมแครตรายใหญ่ ซึ่งเงินบริจาคเหล่านี้อาจมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้มีการอภัยโทษแก่ผู้ต้องหาหนีคดี” หมายเหตุซึ่งเรียกร้องให้มีการเปิดไต่สวนคำสั่งอภัยโทษ ระบุ
นางริช ได้เงินบริจาคบางส่วนเข้ามูลนิธิประธานาธิบดี วิลเลียม เจ. คลินตัน ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นมูลนิธิของครอบครัวคลินตัน (Clinton Foundation)
“ดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และขั้นตอนของการอภัยโทษ” เอกสารของเอฟบีไอซึ่งลงวันที่ 15 ก.พ. ปี 2001 ระบุ
คดีของ ริช ได้ตกมาอยู่ในความดูแลของ เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอคนปัจจุบัน ซึ่งในยุคที่เกิดคดีความขึ้นนั้นเขายังเป็นเพียงอัยการหนุ่มคนหนึ่ง
การที่ โคมีย์ อ้างว่าพบชุดอีเมลใหม่ และสั่งเปิดการสอบสวน ฮิลลารี คลินตัน อีกครั้งก่อนถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียงไม่กี่วัน ทำให้เขาถูกแกนนำพรรคเดโมแครตและสมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนวิจารณ์อย่างหนัก โดยบางคนชี้ว่าการทำเช่นนี้อาจเข้าข่ายละเมิดกฎหมาย Hatch Act ซึ่งห้ามมิให้เอฟบีไอกระทำการใดๆ ที่อาจแทรกแซงผลการเลือกตั้ง