เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวย้ำขณะเยือนญี่ปุ่นในวันพุธ (26 ต.ค.) ต้องการให้อเมริกาถอนกำลังจากฟิลิปปินส์ภายใน 2 ปี และพร้อมยกเลิกข้อตกลงทางทหารกับมหามิตรเก่าแก่นี้ หากจำเป็น แต่ขณะเดียวกันเขาก็ยืนยันกับญี่ปุ่น ว่า การเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารแม้แต่น้อย แถมบอกว่าเมื่อถึงเวลาจะยืนอยู่ฝ่ายโตเกียวในกรณีพิพาททะเลจีนใต้
ดูเตอร์เต กล่าวในงานประชุมทางเศรษฐกิจกับพวกนักธุรกิจญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว ช่วงเช้าวันพุธ (26) ว่า อย่างที่เขาประกาศไว้ว่าต้องการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระ เขาจึงอยากให้ฟิลิปปินส์ปลอดจากกองทหารต่างชาติ โดยเขาต้องการให้ทหารเหล่านี้ออกไป ซึ่งอาจเป็นไปได้ใน 2 ปีหน้า และหากจำเป็น เขาก็พร้อมทบทวนหรือยกเลิกข้อตกลงที่มีฐานะเป็นข้อตกลงระหว่างฝ่ายบริหาร
ปัจจุบันกองทหารต่างชาติที่อยู่ในฟิลิปปินส์ มีเพียงกองทหารหน่วยรบพิเศษของอเมริกันจำนวนไม่มาก ประจำอยู่บนเกาะมินดาเนา ทางตอนใต้ของแดนตากาล็อก ก่อนหน้านี้ ดูเตอร์เต ได้เคยระบุชัดเจนกว่านี้ ว่า ต้องการให้อเมริกาถอนทหารออกจากมินดาเนา เนื่องจากรังแต่ทำให้สถานการณ์ตึงเครียด โดยบนเกาะดังกล่าวมีกลุ่มนักรบอิสลามที่ก่อความรุนแรงเพื่อแบ่งแยกดินแดนมานานหลายสิบปี
ขณะเดียวกัน ข้อตกลงทางการทหารที่ดูเตอร์เตพูดถึง ก็ดูจะหมายถึงข้อตกลงเพิ่มพูนความร่วมมือด้านกลาโหม (EDCA) ระหว่างฟิลิปปินส์ กับสหรัฐฯ ปี 2014 ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ กับ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกรุงมะนิลา ในเวลานั้น และไม่มีการเสนอให้รัฐสภารับรองให้สัตยาบัน จึงถือเป็นข้อตกลงของฝ่ายบริหาร
อย่างไรก็ตาม เพอร์เฟ็กโต ยาเซย์ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ออกมาแถลงตามหลังเหมือนเช่นหลาย ๆ ครั้ง ว่า มะนิลาจะเคารพพันธะหน้าที่ตามสัญญาตราบที่ผลประโยชน์ร่วมของสองประเทศสอดคล้องต้องกัน และไม่มีเหตุผลที่จะต้องยกเลิกข้อตกลงต่าง ๆ ในขณะนี้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ผู้นำปากร้ายของฟิลิปปินส์ เดินทางถึงโตเกียวตั้งแต่วันอังคาร (25) ซึ่งเป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกนับจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ผู้บริหารแดนอาทิตย์อุทัย เชื่อว่า ฟิลิปปินส์เปิดกว้างรับธุรกิจ หลังจากแสดงท่าทีต้องการตีจากพันธมิตรทางการทูตดั้งเดิมหลายชาติ
ผู้นำวัย 71 ปีของฟิลิปปินส์ ยังเรียกประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ว่า “ลูกกะหรี่” พร้อมประกาศ “แยกทาง” กับอเมริกา ระหว่างเยือนปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
แม้ ดูเตอร์เต กลับลำอย่างรวดเร็วว่า “การแยกทาง” ไม่ได้หมายถึง “ตัดสัมพันธ์”
ขณะที่เยือนจีนนั้น ดูเตอร์เต แสดงท่าทีมุ่งปรับความสัมพันธ์กับปักกิ่งอย่างเต็มที่ โดยนอกจากไม่กดดันให้แดนมังกรต้องปฏิบัติตามคำตัดสินเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรในกรุงเฮกแล้ว เขายังตกลงให้เปิดการเจรจาทวิภาคีกันใหม่กับฝ่ายจีน เพื่อแก้ไขข้อพิพาทที่มีระหว่างกัน ทำให้ปักกิ่งพออกพอใจมาก และมีการยกเลิกข้อห้ามส่งกล้วยและสับปะรดของฟิลิปปินส์ไปขายในจีน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยถูกเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาต่าง ๆ แก่มะนิลา 9,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ดูเตอร์เตพยายามคลายความกังวลของญี่ปุ่น โดยกล่าวในงานประชุมช่วงเช้าวันพุธ (26) ว่า การเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็เพื่อกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องอาวุธ หรือการประจำการทางทหาร หรือการเป็นพันธมิตรกันแต่อย่างใด
ต่อมาในวันเดียวกัน ตอนช่วงเริ่มต้นการพบปะหารือกับนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ดูเตอร์เต ได้กล่าว ซึ่งมีล่ามแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง ว่า เมื่อถึงเวลาเขาจะยืนอยู่ข้างญี่ปุ่นในเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้
ภายหลังการหารือแล้ว ดูเตอร์เต ได้แถลงโดยเรียกญี่ปุ่นว่า เป็น “เพื่อนมิตรพิเศษผู้มีความใกล้ชิดกันยิ่งกว่าพี่น้อง” พร้อมกับบอกว่า มะนิลาจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับโตเกียวในประเด็นปัญหาระดับภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน และยึดมั่นในค่านิยมของประชาธิปไตย, หลักนิติธรรม และการตกลงข้อพิพาทกันอย่างสันติ ซึ่งก็รวมทั้งทะเลจีนใต้ด้วย
ขณะที่อ่านคำแถลงซึ่งเตรียมไว้ ดูเตอร์เต ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้เราได้ดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า สายสัมพันธ์ของเราจะยังคงมีชีวิตชีวา และจะเพิ่มความเข้มแข็งขึ้นอีกมากในหลาย ๆ ปีข้างหน้า”