xs
xsm
sm
md
lg

‘ประธานาธิบดีไต้หวัน’ทำท่าสละการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอร์จ คู

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Taiwan’s Tsai giving up claims in China Sea?
BY George Koo
03/08/2016

ในช่วงแรกๆ ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน แสดงความโกรธเกรี้ยวและคัดค้านคำตัดสินในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ทว่าต่อจากนั้นเธอก็มีพฤติการณ์แปลกๆ ทะแม่งๆ ทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ต้องการให้มีการแสดงออกในทางชาตินิยมเช่นนี้ในไต้หวัน เพื่อเป็นการเอาอกเข้าใจสหรัฐฯและญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนมีความเห็นว่าการกระทำของ ไช่ ในกรณีนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เพราะความอ่อนแอและไม่กล้าตัดสินใจเท่านั้น หากแต่มาจากการที่เธอมีแผนกโลบายที่ไม่ชอบมาพากลมากกว่า

ละครซีรีส์เรื่องยาวที่รู้จักกันในชื่อ “ข้อพิพาททะเลจีนใต้” ดูเหมือนยังจะฉายกันต่อไปอีกยาว มีคำพังเพยซึ่งกลายเป็นสุภาษิตในภาษาอังกฤษที่ว่า “It ain't over till the fat lady sings” (“มันยังไม่จบหรอกจนกว่าผู้หญิงอ้วนจะออกมาร้อง” ทั้งนี้เข้าใจกันว่าเป็นคำพังเพยซึ่งมีที่มาจากอุปรากร ซึ่งตัวแสดงนำฝ่ายหญิงมักจะอ้วน -ผู้แปล) ขณะนี้ในละครซีรีส์เรื่องยาวเรื่องนี้ ยังมองไม่เห็นผู้หญิงอ้วนบนเวทีเลย

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน คือผู้ที่เข้ารับบทบาทนำในตอนล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน ขณะที่ในช่วงแรกๆ เธอแสดงการคัดค้านไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration) ซึ่งตั้งที่ทำการอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และจึงได้รับการพิจารณาว่าวางตัวสอดคล้องเข้ากับความคาดหวังของประชาชนโดยทั่วไปในดินแดนแห่งนี้ ทว่าการกระทำของเธอในเวลาต่อๆ มากลับสร้างความงุนงงประหลาดใจให้แก่ผู้คนจำนวนมาก

เธอแถลงคัดค้านการที่รัฐบาลของเธอไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมในกระบวนการไต่สวนพิจารณาคดีที่กรุงเฮก เธอแสดงความโกรธเกรี้ยวที่ไต้หวันถูกเรียกด้วยนามว่า “ทางการไต้หวันแห่งประเทศจีน” (Taiwan Authority of China) -–ถึงแม้เธอก็ไม่ชอบใจเช่นกันที่จะถูกเรียกขานว่าเป็นผู้นำของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน (Republic of China on Taiwan) ท้ายที่สุดเธอคัดค้านการที่คณะผู้พิพากษาอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยอย่างสะเพร่าเลินเล่อ โดยเพิกเฉยไม่ยอมรับรู้ว่ารูปร่างลักษณะทางธรรมชาติของ “ไท่ผิง” (Taiping) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “อีตู อาบา” (Itu Aba) นั้น มันคือเกาะๆ หนึ่งอย่างแท้จริง เรียกได้ว่าเธอทำดีเธอทำได้ถูกใจประชาชนมาโดยตลอดทีเดียว

ครั้นแล้วสิ่งแปลกๆ ทะแม่งๆ ก็เริ่มปรากฏขึ้นมาให้เห็น แทบจะทันทีหลังจากที่คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรได้รับการเผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้ กองเรือของหน่วยยามฝั่งไต้หวันก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปตรวจการณ์บริเวณน่านน้ำรอบๆ เกาะไท่ผิง เพื่อเป็นการแสดงการท้าทายคำตัดสินนี้ ทว่าผู้บังคับบัญชาทหารของไช่ กลับออกคำสั่งให้เรือเหล่านั้นซึ่งออกสู่ทะเลเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ แล่นกลับคืนมายังไต้หวัน

เหตุผลสำหรับการประท้วงอย่างทันควันกระฉับกระเฉงเช่นนี้มีอยู่ว่า หากปล่อยให้คงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนี้เอาไว้โดยไม่แสดงการคัดค้านอะไรเลย ไต้หวันก็มีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (economic exclusion zone) 200 ไมล์ทะเลซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติรอบๆ เกาะไท่ผิง ทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายทะเลของสหประชาชาติระบุว่า ต้องเป็นเกาะเท่านั้นจึงจะอ้างเขตพื้นที่เช่นนี้ได้ ถ้าเป็นแนวปะการัง, โขดหิน, หรือสันทราย ก็เป็นอันหมดสิทธิ

ชาวประมงไต้หวันประท้วงท้าทาย “ไช่ อิงเหวิน”

ยังมีเรือของชาวประมงไต้หวัน 5 ลำ ประดับตกแต่งด้วยพู่ห้อยสีน้ำเงิน, ขาว, และแดงตามสีธงชาติของสาธารณรัฐจีน ได้ออกเดินทางจากไต้หวันมุ่งหน้าสู่เกาะไท่ผิง (ซึ่งในการเดินเรือขาเดียวจะต้องใช้เวลา 6 วัน) เพื่อประกาศย้ำยืนยันว่าไต้หวันเป็นเจ้าของเกาะดังกล่าว ปรากฏว่าคณะรัฐบาลไช่ได้สั่งห้ามการเดินเรือเช่นนี้เหมือนกัน โดยอ้างว่าพวกเขาจำเป็นต้องยื่นขออนุญาตล่วงหน้าเป็นเวลา 45 วัน

เรือประมงเหล่านี้ซึ่งแรกเริ่มทีเดียวมีจำนวน 10 ลำ ครึ่งหนึ่งได้ยอมยุติการออกเดินทางเมื่อถูกรัฐบาลข่มขู่ว่าจะถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่อีก 5 ลำตัดสินใจที่จะเพิกเฉยไม่แยแสต่อกฎระเบียบอันไร้เหตุผลฉบับนี้ ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้ย้อนหลังด้วย ครั้นเมื่อเดินทางถึงเกาะไท่ผิงแล้ว หนึ่งในเรือเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้จอดที่ท่าเทียบเรือบนเกาะอยู่นั่นเอง

เหตุผลที่รัฐบาลไช่นำมาอ้างในการขัดขวางไม่ให้คนซึ่งอยู่บนเรือลำที่ 5 นี้ขึ้นฝั่งก็คือ ในเรือดังกล่าวมีนักหนังสือพิมพ์ที่กำลังทำงานให้สำนักสื่อมวลชน “ต่างประเทศ” ถึงแม้ผู้ที่ถูกระบุเป็นนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศผู้นี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นพลเมืองไต้หวันซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีและทำงานหาข่าวอยู่ในไต้หวันเอง แต่ว่าจ้างโดยสถานีโทรทัศน์ “ฟีนิกซ์ทีวี” (Phoenix TV) ที่ตั้งฐานอยู่ในฮ่องกง

โดยฉับพลันทันทีนั้นเอง เกาะไท่ผิงซึ่งตั้งอยู่ตอนกลางของทะเลจีนใต้ ก็ได้กลายเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางทหารที่จำเป็นต้องนำเอามาตรการความมั่นคงปลอดภัยอันเข้มงวดมาใช้กับผู้ที่เป็นพลเมืองของไต้หวันเองแท้ๆ พวกผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนในไต้หวันต่างพากันกล่าวหาประธานาธิบดีไช่ ว่าไม่ต้องการให้มีการแสดงออกซึ่งลัทธิชาตินิยมใดๆ ที่จะเป็นการสร้างความขุ่นข้องหมองใจแก่สหรัฐฯและญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ขบวนเรือประมงเหล่านี้ได้แล่นกลับมายังไต้หวันในแบบผู้มีชัยพร้อมกับนำตัวอย่างของน้ำบรรจุใส่ภาชนะพกพามาด้วย น้ำเหล่านี้ได้มาจากบ่อหลายแห่งบนเกาะไท่ผิง นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างของทรายจากเกาะแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศสำหรับการเดินทางออกสู่ทะเลหลวงของพวกเขาเที่ยวนี้ ปรากฏว่าชาวประมงเหล่านี้ได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษจากประชาชน ทว่าเผชิญกับอนาคตอันไม่แน่ไม่นอน ขณะที่พวกเขาเฝ้ารอคอยว่าจะถูกคณะบริหารของประธานาธิบดีไช่เรียกเงินค่าปรับเป็นมูลค่าเทาใด สำหรับการกระทำซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของพวกเขา

สื่อมวลชนพากันวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ด้วยน้ำเสียงเสียดสีเยาะเย้ยเพิ่มมากขึ้นทุกวัน พวกเขากล่าวหาว่าไช่กำลังยอมยกเลิกการอ้างอธิปไตยและละทิ้งหนทางการทำมาหากินของชาวประมงทั้งในรุ่นปัจจุบันและรุ่นลูกหลานในอนาคต เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสร้างความพออกพอใจให้แก่พวกเจ้านายของเธอในโตเกียวและในวอชิงตัน –พวกเขาใช้ถ้อยคำอย่างมีสีสันว่า เป็นการผวาเข้าสวมกอดหน้าขาของลุงแซมเอาไว้อย่างแนบแน่น

คะแนนนิยมของ “ไช่” ตกฮวบฮาบ

ในตอนเริ่มแรก ประชาชนในไต้หวัน 70% ทีเดียวแสดงความเห็นด้วยในแผนการที่ไช่จะนำคณะตัวแทนกลุ่มหนึ่งเดินทางไปยังเกาะไท่ผิงเพื่อชักธงของสาธารณรัฐจีนให้ทั่วโลกได้รับทราบ แต่แล้วเธอกลับหลบเลี่ยงถอยหนีการส่งเสียงเชียร์ดังลั่นเช่นนี้ของประชาชน และไม่ได้มีการเดินหน้าไปประกอบภารกิจดังกล่าวแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 8 คนจากพรรคก๊กมิ่นตั๋งที่เวลานี้เป็นพรรคฝ่ายค้าน ออกมากระทำเรื่องนี้

ตามผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนของสำนักจัดทำโพลรายหนึ่งในบรรดาผลการหยั่งเสียงล่าสุด ปรากฏว่าในระยะเวลาเพียง 2 เดือนที่เธอเข้ารับตำแหน่ง คะแนนความยอมรับในตัวไช่ก็ได้ตกฮวบฮาบลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.4% แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับ หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันคนก่อนหน้าเธอ เวลาต้องผ่านไป 4 ปีทีเดียวความนิยมในตัวเขาจึงถอยลงมาสู่ระดับเลขตัวเดียว

ยังมีคนอื่นๆ ซึ่งมีความเห็นว่าการกระทำของ ไช่ ในกรณีนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เพราะความอ่อนแอและไม่กล้าตัดสินใจเท่านั้น หากแต่มาจากการที่เธอมีแผนกโลบายที่ไม่ชอบมาพากลมากกว่า ทั้งๆ ที่สนามบินเล็กๆ บนเกาะไท่ผิงนั้นก่อสร้างขึ้นมาโดยคณะบริหารชุดแรกของพรรคเดโมเครติก โปรเกรสสีฟ ปาร์ตี้ (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ของเธอเอง นั่นคือในยุคของ เฉิน สุยเปี่ยน แต่พวกบุคคลวงในของไช่ ในเวลานี้ กลับกำลังพิจารณาทบทวนสาวไปจนถึงคำถามที่ว่า แผนที่เส้นประรูป ตัว U ที่สาธารณรัฐจีน ตลอดจนสาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้เป็นข้ออ้างอันสำคัญประการหนึ่ง เพื่อเข้ามีกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้นั้น ยังคงสอดคล้องกับผลประโยชน์ของพรรค DPP หรือไม่

พวกเขามีข้อสรุปว่า ถ้าหากยอมสละการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะไทผิง รวมทั้งยุติการอ้างเส้นพรมแดนในทะเลจีนใต้ตามแนวเส้นประรูปตัว U แล้ว พรรค DPP ก็จะสามารถตัดขาดอย่างชัดเจนจากความผูกพันทางประวัติศาสตร์ที่มีต่อสาธารณรัฐจีน ตลอดจนจากการมีหลักการแนวความคิดสำคัญร่วมกันกับจีนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อเป็นเช่นนั้นมันก็จะเอื้ออำนวยให้ ไช่ สามารถตัดขาดจากความจำเป็นที่จะต้องยอมรับรองฉันทามติในเรื่อง “จีนเดียว” รวมทั้งในที่สุดก็จะเป็นการวางรากฐานแก่การประกาศให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศเอกราชในฐานะที่เป็นไต้หวัน ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นสาธารณรัฐจีน ถึงแม้ประเทศเอกราชนี้อาจจะมีดินแดนเล็กลงมาสักนิดหน่อยก็ตามที

ด้วยการยินยอมให้เกาะแห่งเดียวที่กำลังเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติในทะเลจีนใต้ ถูกนิยามเสียใหม่ว่าเป็นเพียงโขดหิน ก็จะทำให้ไม่มีใครเลยซึ่งสามารถกล่าวอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลในทะเลแห่งนี้ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น จากการช่วยเหลือสหรัฐฯและญี่ปุ่นให้ประสบความสำเร็จในวัตถุประสงค์ของพวกเขา ซึ่งก็คือการประกาศว่าทะเลจีนใต้ไม่ได้เป็นของใครทั้งสิ้น ไช่ก็กำลังคาดคำนวณว่าจะสามารถพึ่งพาอาศัย “เพื่อนมิตร” 2 รายนี้ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งสู้รบกันด้วยกำลังอาวุธกับปักกิ่งขึ้นมา

ประชาชนของไต้หวันจะเดินไปตามยุทธศาสตร์ของเธอหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป รวมทั้งปักกิ่งจะยินยอมอนุญาตให้ไต้หวันได้รับการชดเชยอย่างมโหฬารในรูปของการได้เปรียบดุลการค้าเกือบๆ 30,000 ล้านดอลลาร์ต่อไปหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปเช่นกัน พิจารณาจากความคิดเห็นของเธอที่พูดเอาไว้ในการให้สัมภาษณ์พิเศษแก่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งเร่งเร้าให้เกิดความกริ้วโกรธจากประชาชนทั้งในไต้หวันและทั้งในอีกฟากฝั่งหนึ่งของช่องแคบไต้หวันแล้ว อนาคตในเรื่องนี้ก็ดูมืดมนเต็มที

ฟิลิปปินส์กำลังคิดทบทวนใหม่

ในอีกด้านหนึ่ง ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นฟ้องจีนในคดีทะเลจีนใต้ต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก กลับกลายเป็นประเทศหนึ่งซึ่งกำลังขบคิดทบทวนใหม่ในเรื่องการเป็นตัวแทนให้สหรัฐฯในกรณีนี้

สหรัฐฯนั้นยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) และก็ไม่ได้อ้างกรรมสิทธิ์ใดๆ ในทะเลจีนใต้ แม้กระทั่งแนวปะการังจมน้ำสักแห่งหนึ่งก็ไม่มี อเมริกาจึงจำเป็นต้องมีตัวแทนที่จะเป็นผู้ยื่นฟ้องร้องอ้างข้อกฎหมายคัดค้านการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีน ตัวแทนที่ว่านี้ก็คือฟิลิปปินส์

ริโกเบอร์โต ติกเลา (Rigoberto Tiglao) อดีตผู้รับผิดชอบสำนักประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ และเวลานี้มาเป็นคอลัมนิสต์ให้แก่หนังสือพิมพ์มะนิลาไทมส์ (Manila Times) เขาบอกว่าการยื่นฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการในคดีนี้นั้น เป็นการกระทำตามคำขอร้องของสหรัฐฯ เขาเสนอแนะว่าวอชิงตันควรต้องจ่ายเงินชดเชยคืนให้มะนิลาสำหรับเงินจำนวน 30 ล้านดอลลาร์ซึ่งฟิลิปปินส์ใช้ไปในการฟ้องร้องคดีนี้

ทั้งนี้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรคิดค่าบริการด้านเลขานุการเป็นเงินประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมไปถึงการใช้ห้องพิจารณาไต่สวน ที่มีอัตราค่าใช้วันละ 1,000 ยูโร ติกเลายังตั้งข้อสงสัยว่า นอกเหนือจากเงินค่าตอบแทนอันงดงามซึ่งจ่ายให้แก่คณะทนายความชาวอเมริกันซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายให้ฟิลิปปินส์แล้ว ยังมีส่วนที่เหลืออีกสักเท่าไรที่ผ่านเข้าไปยังกระเป๋าของพวกผู้พิพากษา

เรื่องที่มองกันว่าอเมริกันเข้ามาแทรกแซงจึงทำให้ฟิลิปปินส์เลือกใช้วิธีซึ่งไม่เหมาะสมและสุดโต่งเกินไปนั้น ก็เป็นการประเมินของ อัลเบอร์โต เอนโคเมียนดา (Alberto Encomienda) อดีตเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์

ทางด้าน อันโตนิโอ วัลเดส (Antonio Valdes) อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการฟิลิปปินส์บอกว่า การพิจารณาตัดสินคดีแบบด้านเดียวของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เห็นชอบและไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณาด้วยนั้น ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย และคำตัดสินก็เป็นเพียงความคิดเห็นทางกฎหมายที่ไม่มีอำนาจบังคับให้เป็นไปตามนั้น

ต้องเข้าใจกันก่อนว่า ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนั้นจัดตั้งกันขึ้นมาเป็นเวลามากกว่า 100 ปีแล้ว โดยเฉลี่ยศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้ให้บริการพิจารณาตัดสินชี้ขาดประมาณ 3 คดีทุกๆ 20 ปี แทบจะตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกมหาอำนาจใหญ่ทั้งหลายมักเพิกเฉยละเลยคำตัดสินชี้ขาดที่พวกเขาไม่ชอบ ศาลแห่งนี้เช่าพื้นที่อยู่ในอาคารในกรุงเฮก ซึ่งเป็นของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice ใช้อักษรย่อว่า ICJ) (ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนี้เองคือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า ศาลโลก และมีฐานะเป็นองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ โดยที่มีบัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนในกฎบัตรสหประชาชาติด้วย –ผู้แปล) ทว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือกับสหประชาชาติ

“เคร์รี”ก็หนุนวิธีเจรจาแบบทวิภาคี

แม้กระทั่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ก็มองเห็นว่า การเดินหน้าติดตามผลักดันผลการตัดสินอันตบตาหลอกลวงของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนั้นเป็นเรื่องที่ไร้ผลไร้ประโยชน์ ในเมื่อคำแถลงที่ออกมาตอนปิดการประชุมของรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศลาว ก็ยังละเลยไม่ได้มีการเอ่ยอ้างถึงคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ทั้งๆ ที่ฟิลิปปินส์ผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนคือผู้ชนะมาหยกๆ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของอาเซียนนั้นคำแถลงปิดการประชุมถือกันว่าเป็นตัวแทนฉันทามติของเหล่ารัฐสมาชิก มาในเวลานี้เคร์รีจึงแสดงตัวว่าชื่นชอบแนวความคิดที่ให้ฟิลิปปินส์กับจีนทำการเจรจากันระดับทวิภาคีเพื่อแก้ไขข้อพิพาท

นี่หมายความว่าเขาจะยอมจ่ายบิลเรียกเก็บเงินจำนวน 30 ล้านดอลลาร์จากฝ่ายมะนิลาหรืออย่างไร? ใครเลยจะรู้ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็กำลังมุ่งมองไปข้างหน้า และกำลังวางเดิมพันว่าการร่วมไม้ร่วมมือกับจีนจะนำไปสู่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรมากมายหลายเท่านัก

มาถึงจุดนี้ ไช่อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาหงอยโดดเดี่ยวนิดหน่อย เมื่อตอนที่หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ สัมภาษณ์เธอเกี่ยวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใจที่ลดต่ำลงไป โดยที่รายได้จากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ไม่ใช่เป็นแค่ส่วนเล็กๆ น้อยๆ สำหรับเศรษฐกิจท้องถิ่นของไต้หวันเลย ปรากฏว่าไช่กลับตอบคำถามด้วยการตั้งความหวังแบบออกจะอ่อนเหตุผลว่า ไต้หวันสามารถที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากที่อื่นๆ ได้

สำหรับเรื่องการได้เปรียบดุลการค้าต่อแผ่นดินใหญ่นั้น ไช่กล่าวกับวอชิงตันโพสต์ว่าการได้เปรียบดังกล่าวกำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ อยู่แล้ว และถึงอย่างไรแผ่นดินใหญ่ก็กำลังกลายมาเป็นคู่แข่งมากกว่า เธอถึงกับกล่าวอ้างอย่างกล้าหาญว่าไต้หวันสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของตนโดยผ่านเส้นทางสายอื่นๆ ซึ่งเป็นอิสระจากความสัมพันธ์ที่ไต้หวันมีกับแผ่นดินใหญ่[1]

ไช่ไม่ใช่ผู้หญิงอ้วน และเธอก็ยังไม่พร้อมที่จะร้องเพลงตอนจบปิดท้าย ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์แห่งชัยชนะหรือด้วยอารมณ์แห่งโศกนาฏกรรม ละครเรื่องนี้จึงยังจะดำเนินต่อไป

ดร. จอร์จ คู เกษียณอายุเมื่อไม่นานมานี้จากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลก แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจ ของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute, และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances เขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งของ the Committee of 100 และเป็นกรรมการคนหนึ่งของ New America Media

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

หมายเหตุผู้แปล

[1] คำพูดของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ในประเด็นเหล่านี้ ระหว่างที่เธอให้สัมภาษณ์ ลัลลี เวย์เมาธ์ (Lally Weymouth) รองบรรณาธิการอาวุโสของวอชิงตันโพสต์ และหนังสือพิมพ์ฉบับนี้นำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีดังนี้:

ถาม: - มีรายงานระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากแผ่นดินใหญ่กำลังลดลงอย่างมากมาย เรื่องนี้จะสร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของท่านหรือไม่?
ตอบ: - เราหวังว่าจะได้นักท่องเที่ยวจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

ถาม: - จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของท่านใช่หรือไม่?
ตอบ: - จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเรา อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้แก่กันและกันระหว่างเศรษฐกิจของพวกเรานั้น กำลังลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ เราเคยมีความสามารถในการจัดระเบียบกระบวนการผลิตในโรงงาน และจากนั้นเราก็ได้โยกย้ายศักยภาพด้านโรงงานการผลิตของเราไปยังจีนเพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากแรงงานกองกลางของพวกเขา ทว่าเดี๋ยวนี้สถานการณ์แตกต่างออกไปมาก ต้นทุนด้านแรงงาน (ของจีน) กำลังเพิ่มสูงขึ้น และจีนก็มีศักยภาพของพวกเขาเองด้วย
ถาม: - ดังนั้นจีนจึงกลายมาเป็นคู่แข่งของไต้หวันใช่หรือไม่?
ตอบ: - พวกเขากลายเป็นคู่แข่งของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

(ดูรายละเอียดบทสัมภาษณ์นี้ได้ที่
https://www.washingtonpost.com/opinions/2016/07/21/44b0a1a4-4e25-11e6-a422-83ab49ed5e6a_story.html?utm_term=.4f0bb72c3672)


กำลังโหลดความคิดเห็น